คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8207/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินประทานบัตรทำเหมืองแร่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่ผู้จัดการมรดกนำมาเป็นทุนจัดตั้งเป็นบริษัทจำเลยที่ 8 แล้วให้ทายาททุกคนเป็นผู้ถือหุ้นตามส่วนสัดที่ทายาทแต่ละคนมีสิทธิได้รับมรดก การนำที่ดินมรดกมาเป็นทุนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 8ดังกล่าวเป็นการจัดการตามที่จำเป็นเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกซึ่งอยู่ในขอบอำนาจและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 และมาตรา 1736 วรรคสอง เนื่องจากไม่สามารถจัดการให้ทายาทเข้าครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดได้
แม้ทายาทบางคนยังเป็นผู้เยาว์อยู่ขณะนำที่ดินมรดกมาเป็นทุนของบริษัทจำเลยที่ 8 ผู้จัดการมรดกก็ไม่ต้องขออนุญาตจากศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 เพราะกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องผู้ใช้อำนาจปกครองทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ แต่เป็นเรื่องผู้จัดการมรดกทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1719 และ 1736 วรรคสอง
เมื่อทายาททุกคนโดยเฉพาะโจทก์ได้รับหุ้นและผลประโยชน์ตอบแทนจากบริษัทจำเลยที่ 8 เรื่อยมาจนกระทั่งโจทก์ขายหุ้นทั้งหมดให้แก่ ป. และ อ. ไปในปี 2509 โดยไม่ได้คัดค้านว่าการกระทำของผู้จัดการมรดกไม่ชอบด้วยกฎหมายแสดงว่าโจทก์และทายาททุกคนพอใจและให้ความยินยอมในการกระทำดังกล่าวแล้วถือว่าโจทก์ได้รับแบ่งมรดกตามสิทธิครบถ้วนและถือว่าผู้จัดการมรดกได้แบ่งปันมรดกเสร็จสมบูรณ์แล้วตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 8เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2503 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเอาส่วนแบ่งอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1360, 1356, 609, 604, 612, 608, 1357,1362, 1352, 613, 607, 614,1361, 1353, 1358, 606, 610, 1359, 1354, 1355, 611ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต รวม 21 แปลง และให้จำเลยที่ 7 จดทะเบียนเป็นชื่อของผู้จัดการมรดกของขุนวิเศษนุกูลกิจแทน หากไม่สามารถจดทะเบียนเพิกถอนได้ก็ให้บังคับจำเลยทั้งหมดร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 1,786,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ เพื่อนำเข้ากองมรดกแบ่งปันให้ทายาทต่อไปและห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ถึง 6 พร้อมทั้งบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินทั้ง 21 แปลง

จำเลยที่ 1 ถึง 6 จำเลยที่ 8 ที่ 9 และจำเลยที่ 15 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 7 ที่ 10 ที่ 16 ถึง 22 ให้การขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 11 ถึง 14 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ระหว่างพิจารณา โจทก์และนางสมศรี อุดมทรัพย์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายปลื้มหรือโปจ๋วน อุดมทรัพย์ จำเลยที่ 12 ถึงแก่กรรม นางอรนุช อุดมทรัพย์ ทายาทโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนและโจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนางสาวเย็นฤดีอุดมทรัพย์ ทายาทจำเลยที่ 12 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขุนวิเศษนุกูลกิจมีภรรยาหลายคนมีบุตรชาย 19 คน และบุตรหญิง19 คน ขุนวิเศษนุกูลกิจมีอาชีพทำเหมืองแร่อยู่ที่ตำบลเชิงทะเลอำเภอถลาง และที่ตำบลฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ตต่อมาวันที่ 3 เมษายน 2503 ขุนวิเศษนุกูลกิจถึงแก่กรรมและวันที่31 พฤษภาคม 2503 ศาลมีคำสั่งตั้งนายอภิชาติ อุดมทรัพย์ และจำเลยที่ 9 เป็นผู้จัดการมรดกของขุนวิเศษนุกูลกิจ ผู้จัดการมรดกได้แบ่งทรัพย์ให้แก่ทายาทและจัดตั้งบริษัทวิเศษนุกูลกิจ จำกัด จำเลยที่ 8 ขึ้นมาเพื่อทำกิจการเหมืองแร่ในที่ประทานบัตรเดิมของเจ้ามรดกและนำทรัพย์มรดกจำนวนหนึ่งมาเป็นทุนของบริษัทโดยแบ่งเป็นหุ้นจำนวน 1,200 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 2,500 บาท ทายาทที่เป็นชายถือหุ้นคนละ 56 หุ้น ทายาทที่เป็นหญิงถือหุ้นคนละ 7 หุ้นกรรมการเริ่มแรกของบริษัท 3 คน ได้หุ้นเพิ่มอีกคนละ 1 หุ้น ผู้ถือหุ้นทั้งหมดไม่ต้องชำระเงินสดเป็นค่าหุ้นหลังจากจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 8 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2503 แล้ว จำเลยที่ 9 กรรมการบริษัทกับพวกได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)สำหรับที่ดินประทานทำบัตรเหมืองแร่รวม 21 แปลง ให้แก่จำเลยที่ 8จำเลยที่ 8 ได้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเรื่อยมาและแบ่งรายได้ให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกเดือน จนกระทั่งจำเลยที่ 8 เลิกกิจการและขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 จากนั้นมีการโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยอื่น ๆ อีกหลายทอดในที่สุดที่ดินพิพาทตกมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1ถึงที่ 6 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ผู้จัดการมรดกได้แบ่งปันที่ดินประทานบัตรทำเหมืองแร่ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลางจังหวัดภูเก็ตให้แก่ทายาทเสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ โจทก์เบิกความว่าเจ้ามรดกแบ่งปันทรัพย์สินอย่างอื่นให้แก่ทายาทเสร็จสิ้นแล้วเว้นแต่ที่ดินประทานบัตรทำเหมืองแร่ดังกล่าวที่ยังไม่ได้แบ่งให้ทายาทโดยมีนายอภิชาติเบิกความสนับสนุนว่าผู้จัดการมรดกทั้งสองได้ปรึกษากับนายเปรมแล้วตกลงให้จัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 8 ขึ้นมาเพื่อทำกิจการเหมืองแร่ต่อไป โดยนำอุปกรณ์ทำเหมืองแร่มาเป็นทุนของจำเลยที่ 8ส่วนที่ดินประทานบัตรทำเหมืองแร่ตำบลเชิงทะเลจะยังไม่แบ่งให้ทายาทเพราะถ้าแบ่งปันให้ทายาทแล้วจะทำเหมืองไม่ได้แต่จำเลยที่ 9 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกคนหนึ่งและเป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 8เบิกความประกอบคำขอจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิว่า จำเลยที่ 8มีทุนจดทะเบียนจำนวน 3,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นทั้งหมด 1,200หุ้น มูลค่าหุ้นละ 2,500 บาท ทายาทที่เป็นชาย 19 คน ถือหุ้นคนละ56 หุ้น ทายาทที่เป็นหญิงอีก 19 คน ถือหุ้นคนละ 7 หุ้น กรรมการของจำเลยที่ 8 ชุดแรก 3 คน ได้หุ้นเพิ่มอีกคนละ 1 หุ้น โดยผู้ถือหุ้นทั้งหมดไม่ต้องชำระค่าหุ้นเพราะได้นำที่ดินประทานบัตรทำเหมืองแร่และอุปกรณ์ทำเหมืองแร่ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกมาเป็นทุนของจำเลยที่ 8ในเรื่องนี้โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 8 และที่ 9 ยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งตามพินัยกรรม 1 ใน 19 ส่วนหรือเท่ากับ63 หุ้น โจทก์ถือหุ้นไว้เอง 56 หุ้นนางสาวทัศนีย์พี่โจทก์ถือหุ้นไว้ 7 หุ้น โจทก์และผู้ถือหุ้นทุกคนไม่ได้ชำระค่าหุ้นเพราะได้รับแจ้งจากกรรมการจำเลยที่ 8 ว่า จำเลยที่ 8 ได้เอาทรัพย์สินและอุปกรณ์ในการทำเหมืองแร่ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกตีราคาเป็นค่าหุ้น ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของนายอภิชาติที่ตอบคำซักค้านทนายจำเลยที่ 8 ว่ามรดกเฉพาะที่เป็นบ้านอาศัยประมาณ 10 หลัง มีราคารวมกัน1,000,000 บาทเศษ แก้วแหวนเงินทองมีราคา 500,000 บาท ส่วนที่เหลือคือที่ดินประทานบัตรทำเหมืองแร่และอุปกรณ์ทำเหมืองแร่มีราคาประมาณ 1,500,000 บาท รวมแล้วขุนวิเศษนุกูลกิจมีทรัพย์มรดกคิดเป็นเงิน 3,000,000 บาท ตรงกับที่ระบุไว้ในบัญชีทรัพย์มรดกท้ายคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นแต่งตั้งนายอภิชาติและจำเลยที่ 9 เป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ ดังนั้น ที่จำเลยที่ 9 เบิกความว่า ได้นำที่ดินประทานบัตรทำเหมืองแร่และอุปกรณ์ทำเหมืองแร่มาเป็นทุนของจำเลยที่ 8 จึงมีเหตุผลรับฟังได้ นอกจากนี้นายอภิชาติตอบทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6และจำเลยที่ 15 ถึงเหตุที่ไม่ได้แบ่งที่ดินประทานบัตรทำเหมืองแร่ให้แก่ทายาทตอนหนึ่งว่าขณะที่เจ้ามรดกตายที่ดินประทานบุตรทำเหมืองแร่มีราคาถูกมากและไม่สามารถแบ่งเป็นส่วนสัดได้เพราะทายาททุกคนจะเอาแต่ที่ดินที่ติดทะเลหากจะแบ่งกันก็ต้องขายที่ดินแล้วนำเงินมาแบ่งกันตามส่วน สำหรับอุปกรณ์ทำเหมืองแร่นั้น นายอภิชาติเบิกความว่าไม่แบ่งให้ทายาทเพราะถ้าแบ่งก็จะได้คนละเล็กคนละน้อย และเมื่อจดทะเบียนตั้งบริษัทจำเลยที่ 8 ขึ้นมาแล้วนายอภิชาติตอบทนายจำเลยที่ 9 ว่า จำเลยที่ 8 ไม่มีเงินสดหมุนเวียนเพราะมีแต่ทรัพย์มรดกจึงต้องไปยืมเงินสดมาจากนายจุติ บุญสูง ซึ่งเป็นเพื่อนกับนายเปรม อุดมทรัพย์ ต่อมาจำเลยที่ 8 ได้ขายที่ดินประทานบัตรทำเหมืองแร่ที่ตำบลฉลองนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่นายจุติ ด้วยเหตุนี้ที่โจทก์อ้างว่าเฉพาะอุปกรณ์ทำเหมืองแร่มีราคาสูงถึง 10,000,000 บาท จึงรับฟังไม่ได้ เพราะถ้ามีราคาสูงขนาดนั้นก็ไม่จำเป็นต้องกู้ยืมเงินนายจุติมาใช้หมุนเวียนเนื่องจากสามารถขายอุปกรณ์บางส่วนมาใช้ได้ ประกอบกับเมื่อปี 2507 โจทก์ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการจำเลยที่ 8 ขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญตามเอกสารหมาย ล.8 และทำหน้าที่เป็นเลขานุการจดบันทึกรายงานการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2507 ซึ่งในรายงานการประชุมดังกล่าว นายอภิชาติประธานที่ประชุมแจ้งว่าที่ดินที่เจ้ามรดกได้ทิ้งไว้ให้พวกเราส่วนมากเป็นที่ดี ถ้าเราไม่รีบฉวยโอกาสขยายงานในเวลานี้ ต่อไปจะทำลำบาก คำว่าที่ดินที่เจ้ามรดกได้ทิ้งไว้ให้พวกเรานายอภิชาติตอบทนายจำเลยที่ 1ถึงที่ 6 และจำเลยที่ 15 ว่า คือที่ดินประทานบัตรทำเหมืองแร่ตำบลเชิงทะเล ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าที่ดินประทานบัตรทำเหมืองแร่ที่ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็นทรัพย์มรดกที่ผู้จัดการมรดกทั้งสองนำมาเป็นทุนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 8 แล้วให้ทายาททุกคนเป็นผู้ถือหุ้นตามส่วนสัดที่ทายาทแต่ละคนมีสิทธิได้รับมรดก ทั้งนี้ตามรายงานการประชุมตั้งบริษัทจำเลยที่ 8 คำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัดคำขอจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น เอกสารหมาย จ.57 ถึง จ.60 การนำที่ดินมรดกมาเป็นทุนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 8 ขึ้นมาแล้วให้ทายาททุกคนเป็นผู้ถือหุ้นเพื่อดำเนินกิจการทำเหมืองแร่ในที่ดินดังกล่าว เป็นการจัดการตามที่จำเป็นเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกซึ่งอยู่ในขอบอำนาจและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 และ 1736 วรรคสองเนื่องจากไม่สามารถจัดการให้ทายาทเข้าครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดได้เพราะทายาททุกคนจะเอาแต่ที่ดินที่อยู่ติดกับทะเลดังที่นายอภิชาติเบิกความไว้ ดังนั้น แม้ทายาทบางคนยังเป็นผู้เยาว์อยู่ขณะนำที่ดินมรดกมาเป็นทุนของบริษัทจำเลยที่ 8 ผู้จัดการมรดกก็ไม่ต้องขออนุญาตจากศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546(เดิม)ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นหรือมาตรา 1574(ใหม่) เพราะกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องผู้ใช้อำนาจปกครองทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์แต่เป็นเรื่องผู้จัดการมรดกทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าทายาททุกคนโดยเฉพาะโจทก์ได้รับหุ้นและผลประโยชน์ตอบแทนเป็นประจำทุกเดือนจากบริษัทจำเลยที่ 8 เรื่อยมาจนกระทั่งโจทก์ขายหุ้นทั้งหมดให้แก่นายปลื้ม อุดมทรัพย์และนายอภิชาติในราคา 350,000 บาท เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม2509 ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 โดยไม่ได้คัดค้านว่าการกระทำของผู้จัดการมรดกทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมายแสดงว่าโจทก์และทายาททุกคนพอใจและให้ความยินยอมในการกระทำดังกล่าวแล้ว ถือว่าโจทก์ได้รับแบ่งมรดกตามสิทธิครบถ้วนและถือว่าผู้จัดการมรดกทั้งสองได้แบ่งปันมรดกเสร็จสมบูรณ์แล้วตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 8 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2503 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเอาส่วนแบ่งอีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share