แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การใช้อำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นไปตามบริบทเฉพาะในส่วนของการจัดการการเลือกตั้งตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง มาตรฐานของดุลพินิจก็เป็นไปตามกฎหมายเลือกตั้ง ดังเช่นกรณีมาตรา 97 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว หากภายหลังมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดกระทำการใดๆ โดยไม่สุจริตเพื่อให้ตนเองได้รับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้นั้น และผลของการพิจารณาชี้ขาดก็เป็นไปตามกฎหมายเลือกตั้ง แต่เมื่อมีการนำคดีมาฟ้องที่ศาลยุติธรรม ศาลยุติธรรมย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในบริบทของกระบวนพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม ไม่มีกฎหมายใดกำหนดบังคับให้ศาลยุติธรรมจะต้องผูกพันตามคำชี้ขาดของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา มาตรฐานในการวินิจฉัยคดีของศาลยุติธรรมก็แตกต่างจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ฉะนั้นศาลยุติธรรมย่อมมีคำวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 334,931.26 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 194,124.50 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ให้คืนค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นนอกจากนี้ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น จำเลยเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแก่ง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย หมายเลข 1 ในวันเลือกตั้งวันที่ 18 กรกฎาคม 2547 จำเลยเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแก่ง ด้วยคะแนนอันดับที่ 1 ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งมีหลักฐานและพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่าจำเลยได้กระทำการเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ตนเองด้วยวิธีการให้ทรัพย์สิน (สุรา) แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอันเป็นการฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนดเวลา 1 ปี พร้อมทั้งสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2548 และให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยกับพวก หลังจากจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่แล้ว โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระค่าเสียหายจากที่ต้องมีการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่จำนวน 194,124.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยเพิกเฉย สำหรับการดำเนินคดีอาญา พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยกับพวกในข้อหาร่วมกันให้ทรัพย์สิน (สุรา) เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่นตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ศาลพิพากษาให้ยกฟ้องตามสำเนาคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 148/2550 ของศาลชั้นต้น และหนังสือสำคัญเพื่อแสดงว่าคดีถึงที่สุด
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า บทบัญญัติในมาตรา 99 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ที่ให้ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ เป็นบทบังคับเด็ดขาดที่ศาลยุติธรรมจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งชี้ขาดมาแล้วหรือไม่ เห็นว่า การใช้อำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นไปตามบริบทเฉพาะในส่วนของการจัดการการเลือกตั้งตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง มาตรฐานของดุลพินิจก็เป็นไปตามกฎหมายเลือกตั้ง ดังเช่นกรณีนี้มาตรา 97 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว หากภายหลังมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดกระทำการใด ๆ โดยไม่สุจริตเพื่อให้ตนเองได้รับเลือกตั้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้นั้น และผลของการพิจารณาชี้ขาดก็เป็นไปตามกฎหมายเลือกตั้ง แต่เมื่อมีการนำคดีมาฟ้องที่ศาลยุติธรรม ศาลยุติธรรมย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในบริบทของกระบวนพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม ไม่มีกฎหมายใดกำหนดบังคับให้ศาลยุติธรรมจะต้องผูกพันตามคำชี้ขาดของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา มาตรฐานในการวินิจฉัยคดีของศาลยุติธรรมก็แตกต่างจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ฉะนั้นศาลยุติธรรมย่อมมีคำวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบได้ ซึ่งข้อเท็จจริงสำหรับคดีนี้จากทางนำสืบของโจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นการกระทำของจำเลยตามข้ออ้างแต่อย่างใด นอกจากนี้เมื่อมีการนำข้อเท็จจริงเดียวกันไปฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญา ศาลก็พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว ดังนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ยกฟ้องชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ที่อ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ข้อเท็จจริงไม่สามารถปรับใช้กับคดีนี้ได้ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ