แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี มีเจตนารมณ์ที่จะให้การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเพื่อคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดีให้ได้รับสิทธิและสามารถใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินอันตกอยู่ในการบังคับคดีโดยไม่ถูกลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารขัดขวางหรือโต้แย้งการใช้สิทธิของผู้ซื้อทรัพย์โดยมิชอบ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.พ. (ฉบับที่ 22)ฯ โดยมาตรา 2 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวบัญญัติให้ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2548 เป็นต้นไป โดยไม่มีบทเฉพาะกาลกำหนดว่าบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. นี้ มิให้ใช้บังคับแก่คดีที่ฟ้องก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้มีผลใช้บังคับแต่อย่างใด ดังนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ดังกล่าว จึงผูกพันใช้บังคับแก่คู่ความและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดีทันที ดังนั้น เมื่อผู้ซื้อทรัพย์ได้ซื้อทรัพย์มาจากการขายทอดตลาดและมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์พิพาท แม้จะเป็นการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์พิพาทก่อนวันที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวมีผลใช้บังคับก็ตาม แต่ผู้ซื้อทรัพย์ได้ยื่นคำขอให้ศาลออกคำบังคับให้จำเลยและบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์พิพาท เมื่อ พ.ร.บ. ดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี มาใช้บังคับแก่กรณีตามคำขอของผู้ซื้อทรัพย์
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำขอว่า เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2548 ผู้ซื้อทรัพย์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 71309 และบ้านพิพาท โดยซื้อมาจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ปรากฏว่า จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาและบริวารยังคงอาศัยอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ขอให้ศาลออกคำบังคับให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 71309 และบ้านพิพาท
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ซื้อทรัพย์ได้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดและมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาท จึงให้ออกคำบังคับให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 71309 และบ้านพิพาท ภายใน 30 วัน
จำเลยยื่นคำร้องว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ตรี มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2548 ผู้ซื้อทรัพย์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2548 ซึ่งเป็นวันก่อนที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อกฎหมายดังกล่าว จึงไม่สามารถใช้บทกฎหมายดังกล่าวบังคับแก่กรณีนี้ได้ ขอให้มีคำสั่งยกเลิกคำบังคับให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีไม่มีเหตุจะขอเพิกถอนคำสั่ง ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าคำร้องในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความ 600 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ผู้ซื้อทรัพย์มีสิทธิขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยและบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์พิพาทหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ตรี บัญญัติว่า “เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ หากทรัพย์สินที่โอนนั้นมีลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารอยู่อาศัย และลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารไม่ยอมออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้น ผู้ซื้อชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาลให้ออกคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้น ภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด แต่ไม่น้อยกว่า 30 วัน ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ ให้บังคับตามมาตรา 296 ทวิ มาตรา 296 ตรี มาตรา 296 จัตวา มาตรา 296 ฉ มาตรา 296 สัตต มาตรา 299 มาตรา 300 มาตรา 301 และมาตรา 302 โดยอนุโลม ทั้งนี้ ให้เจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่งคำบังคับโดยผู้ซื้อมีหน้าที่จัดการนำส่ง และให้ถือว่าผู้ซื้อเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา…” บทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะให้การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเพื่อคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดีให้ได้รับสิทธิและสามารถใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินอันตกอยู่ในการบังคับคดีโดยไม่ถูกลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารขัดขวางหรือโต้แย้งการใช้สิทธิของผู้ซื้อทรัพย์โดยมิชอบ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2548 โดยมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2548 เป็นต้นไป โดยไม่มีบทเฉพาะกาลกำหนดว่า บทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่คดีที่ฟ้องก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแต่อย่างใด ดังนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ตรี ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงผูกพันใช้บังคับแก่คู่ความและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดีทันที ดังนั้น เมื่อผู้ซื้อทรัพย์ได้ซื้อทรัพย์มาจากการขายทอดตลาดและมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์พิพาทแม้จะเป็นการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์พิพาทมาก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับก็ตาม แต่ผู้ซื้อทรัพย์ได้ยื่นคำขอให้ศาลออกคำบังคับให้จำเลยและบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์พิพาท เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ตรี มาใช้บังคับแก่กรณีตามคำขอของผู้ซื้อทรัพย์ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้เพิกถอนคำบังคับให้จำเลยและบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์พิพาทนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ