คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 820/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฎีกาประการแรกของโจทก์กล่าวถึงแต่เฉพาะคดีของบุคคลอื่นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาอย่างไร ซึ่งเป็นคนละคดีกับคดีของโจทก์ ย่อมมีข้อที่จะต้องพิจารณาเฉพาะของแต่ละคดี โจทก์มิได้แสดงให้เห็นว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในคดีของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือข้อเท็จจริงอย่างไร ส่วนฎีกาประการที่สองที่อ้างว่าคำพิพากษาในคดีอาญาที่ยกฟ้องโจทก์และคดีดังกล่าวถึงที่สุด ย่อมผูกพันจำเลยที่ 1 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงเป็นคำพิพากษาที่ซ้ำซ้อนกับคดีอาญาดังกล่าว นั้น ไม่ปรากฏว่ามีข้อกฎหมายดังที่โจทก์กล่าวอ้าง และก็เป็นข้อฎีกาที่มิได้ชี้ให้เห็นว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ชอบอย่างไรเช่นเดียวกัน ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาที่มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 3,465,499 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 1,536,807.50 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จึงไม่รับฟ้องจำเลยที่ 2 รับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงรับข้อเท็จจริงร่วมกันว่า ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1912 – 1914/2533 ของศาลชั้นต้น พนักงานสอบสวนได้ยึดทรัพย์ของโจทก์ไว้ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อเจ้าพนักงานและความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องสำหรับโจทก์ พนักงานอัยการไม่อุทธรณ์ในส่วนของโจทก์ แต่ยื่นอุทธรณ์จำเลยอื่น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 และศาลฎีกาพิพากษายืน นอกจากนี้ศาลชั้นต้นยังได้พิพากษาให้โจทก์คดีนี้ร่วมกับจำเลยอื่นรับผิดชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 พร้อมดอกเบี้ย โจทก์ไม่อุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว คดีถึงที่สุด สำหรับจำเลยอื่นอยู่ระหว่างรอการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 1,384,807.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป (วันที่ 8 ตุลาคม 2545) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ให้จำเลยที่ 1 นำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลเท่าที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ โดยโจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกคำขอให้ชำระเงินจำนวน 1,384,807.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาเป็นประการแรกว่า ในคดีอาญาที่โจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลยและศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด จ่าสิบตำรวจภัทรพลหรือวรัลยง ก็ถูกฟ้องเป็นจำเลยด้วยคนหนึ่งและศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดเช่นเดียวกับโจทก์ ระหว่างพิจารณาคดีอาญา พนักงานสอบสวนยึดเงินสด รถยนต์ และโฉนดที่ดิน 2 แปลง ของจ่าสิบตำรวจภัทรพลเป็นของกลาง เมื่อคดีอาญาถึงที่สุดแล้ว จ่าสิบตำรวจภัทรพลก็ฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้ต่อศาลชั้นต้น เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1508/2545 คดีหมายเลขแดงที่ 646/2546 เรียกทรัพย์สินของกลางคืนเป็นทุนทรัพย์ 3,243,206 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 คดีนี้ชำระเงิน 1,407,929.18 บาท พร้อมดอกเบี้ย และให้คืนโฉนดที่ดินสองแปลงที่ยึดไว้แก่จ่าสิบตำรวจภัทรพล จำเลยที่ 1 ยื่นฎีกา แต่ต่อมาขอถอนฎีกาโดยให้เหตุผลว่า กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ชอบแล้ว ศาลฎีกาอนุญาตให้ถอนฎีกา คดีถึงที่สุด แต่คดีของโจทก์ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กลับมีคำพิพากษายกฟ้อง เป็นการพิพากษาที่ขัดกัน และโจทก์ฎีกาอีกประการหนึ่งว่า ในคดีอาญาที่โจทก์ถูกฟ้องนั้น พนักงานอัยการโจทก์มีคำขอให้โจทก์ร่วมกับจำเลยอื่นใช้เงินแก่ผู้เสียหาย คือ จำเลยที่ 1 คดีนี้ด้วย เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องในส่วนของโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 5 ในคดีดังกล่าว ศาลมิได้พิพากษาว่าจำนวนเงินในบัญชีของกลาง เป็นเงินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาจากการกระทำความผิด หรือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือพิพากษาให้ริบ คำพิพากษานี้ย่อมผูกพันจำเลยที่ 1 คดีนี้ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีดังกล่าว ดังนั้น คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงเป็นคำพิพากษาที่ซ้ำหรือซ้อนกับคดีอาญาดังกล่าว เห็นว่า ฎีกาประการแรกของโจทก์กล่าวถึงแต่เฉพาะคดีของจ่าสิบตำรวจภัทรพลว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาอย่างไร ซึ่งเป็นคนละคดีกับคดีของโจทก์ ย่อมมีข้อที่จะต้องพิจารณาเฉพาะของแต่ละคดี โจทก์มิได้แสดงให้เห็นว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในคดีของโจทก์ไม่ชอบด้วยข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงอย่างไร สำหรับฎีกาประการที่สองไม่ปรากฏว่ามีข้อกฎหมายดังที่โจทก์กล่าวอ้าง และก็เป็นข้อฎีกาที่มิได้ชี้ให้เห็นว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ชอบอย่างไรเช่นเดียวกัน ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาที่มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาโจทก์ โจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกา จึงไม่มีค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่จะต้องคืนให้ ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากนี้ให้เป็นพับ

Share