แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์จำเลยยังมิได้ไปทำนิติกรรมโอนขายที่ดินต่อกันตามสัญญา ต่างปล่อยปละละเลยเรื่อยมาจนถึงวันฟ้องเพราะโจทก์กับจำเลยยังมิได้กำหนดวันไปทำนิติกรรมโอนขายที่ดินรายนี้แก่กันจะถือว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญายังไม่ได้เมื่อยังไม่มีฝ่ายใดผิดนัดผิดสัญญา อำนาจฟ้องร้องจึงยังไม่เกิดขึ้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามทำหนังสือจะขายที่ดินของจำเลยทั้งสามให้แก่โจทก์ ราคา 25,000 บาท จำเลยรับเงินมัดจำจากโจทก์ไปแล้ว เป็นเงิน 4,000 บาท จำเลยจะจัดการโอนที่ดินให้แก่โจทก์ในวันที่เจ้าหน้าที่แผนกที่ดินอำเภอกำหนดให้ และสัญญาว่าถ้าจำเลยไม่ไปทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนขายให้แก่โจทก์ จำเลยยอมใช้ค่าเสียหาย 20,000 บาท เมื่อรังวัดที่ดินแล้วจำเลยไม่ยอมไปดำเนินการประกาศโฆษณาและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ เป็นการผิดสัญญาขอให้พิพากษาบังคับจำเลยคืนเงินมัดจำกับใช้ค่าเสียหายดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่าที่ดินตามฟ้องมีชื่อจำเลยทั้งสามและนางพรมภริยาจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของรวมกัน นางพรมตายไปก่อนทำหนังสือสัญญา โจทก์จำเลยตกลงกันด้วยวาจาให้นายเผ่าจำเลยยื่นขอประกาศรับมรดกเฉพาะส่วนของนางพรม ระหว่างประกาศรับมรดก พนักงานที่ดินพร้อมด้วยจำเลยและภริยาโจทก์ได้ไปทำการรังวัดที่ดินแปลงนี้ครบกำหนดตามที่เจ้าหน้าที่ประกาศ จำเลยทั้งหมดไป ณ สำนักงานที่ดินอำเภอ แต่โจทก์ไม่ไปโจทก์บอกว่าไม่ซื้อที่ดินจำเลย จำเลยเห็นว่าโจทก์ผิดสัญญาจึงริบมัดจำ
สำหรับจำเลยที่ 3 โจทก์แถลงว่าหายสาปสูญ ไม่มีความประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยที่ 3 ต่อไป ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 และฟังว่าจำเลยผิดสัญญา พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 คืนเงินมัดจำ 4,000 บาท และใช้ค่าเสียหายหรือค่าปรับ 20,000 บาท
จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์จำเลยได้เจตนาเลิกสัญญากันหรือไม่เจตนาจะให้ผูกพันตามสัญญาที่ทำต่อกันแล้ว จะถือว่าฝ่ายใดเป็นเป็นฝ่ายผิดสัญญาย่อมไม่ได้ พิพากษาแก้เฉพาะข้อที่ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายหรือค่าปรับ 20,000 บาท
โจทก์ฎีกาว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มีความประสงค์จะซื้อที่ดินรายนี้อยู่ศาลฎีกาเห็นว่าการที่โจทก์และจำเลยยังมิได้ไปทำนิติกรรมโอนขายที่ดินรายนี้ต่อกันตามสัญญา ต่างปล่อยปละละเลยเรื่อยมาจนถึงวันฟ้อง เพราะโจทก์มิได้กำหนดวันไปทำนิติกรรมโอนขายที่ดินรายนี้แก่กัน จะถือว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญายังไม่ได้ เมื่อยังไม่มีฝ่ายใดผิดนัดผิดสัญญา อำนาจการฟ้องร้องจึงยังไม่เกิดขึ้น
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ยกฟ้องโจทก์