แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สำเนาสัญญาจัดหางานเพื่อให้คนหางานไปทำงานในต่างประเทศ เอกสารท้ายฟ้องซึ่งโจทก์รับรองสำเนาถูกต้อง อันเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง เมื่อจำเลยมิได้ให้การปฎิเสธ ว่าเป็นเอกสารไม่ถูกต้องกับเอกสารต้นฉบับอย่างไร จึงถือว่าจำเลยรับว่าข้อความในเอกสารดังกล่าวเป็นอยู่จริงตามนั้น ย. กรรมการจำเลยผู้มีอำนาจลงชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยผูกพันจำเลยได้ลงชื่อในสัญญาจัดหางานกับโจทก์โดยเป็นการดำเนินการแทนบริษัท จ. เพื่อส่งโจทก์ไปทำงานกับบริษัท จ. ที่ไต้หวัน ต่อมาโจทก์ได้ไปทำงานโดยทำสัญญาจ้างแรงงานกับบริษัท จ. แล้ว ถือได้ว่าจำเลยเป็นตัวแทนของบริษัท จ. ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ เมื่อการกระทำของจำเลยเข้าลักษณะเป็นตัวแทนทำสัญญากับโจทก์แทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญานั้นแต่ลำพังตนเอง แม้ทั้งชื่อตัวการจะได้เปิดเผยแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824การที่บริษัท จ. ยอมให้โจทก์กลับประเทศไทยโดยไม่จัดหาตั๋วเครื่องบินขากลับให้แก่โจทก์ตามสัญญา แต่กลับหักค่าตั๋วเครื่องบินจากค่าจ้างโจทก์ไว้โดยไม่มีสิทธิจำเลยในฐานะตัวแทนของนายจ้างดังกล่าวจึงต้องรับผิดคืนเงินค่าจ้างที่หักไว้แก่โจทก์จำเลยจะอ้าง พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2528 มาตรา 39(1) มายกเว้นความรับผิดหาได้ไม่
ย่อยาว
คดีทั้งสี่สำนวนนี้ศาลแรงงานกลางให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1ถึงโจทก์ที่ 4
โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องว่า เมื่อปลายปี 2538 จำเลยในฐานะตัวแทนบริษัทจีน จำกัด (เหม่ยฉี) นายจ้างตัวการซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ไต้หวัน ได้ทำสัญญาจัดหางานเพื่อส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ และทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ทั้งสี่ไปทำงานที่ไต้หวัน ตามตำแหน่งและอัตราค่าจ้างในฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวนโดยจำเลยตกลงว่าจะออกค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับให้โจทก์ทั้งสี่ ต่อมาบริษัทจีน จำกัด (เหม่ยฉี)ได้ให้โจทก์ทั้งสี่เดินทางกลับก่อนครบกำหนดในสัญญาจ้างโดยโจทก์ทั้งสี่มิได้กระทำผิดสัญญา และบริษัทจีน จำกัด(เหม่ยฉี) ได้หักเงินค่าจ้างของโจทก์เพื่อนำไปซื้อตั๋วเครื่องบินขากลับให้โจทก์จำนวน 6,000 เหรียญไต้หวันคิดเป็นเงินไทยจำนวน 5,490 บาท อันเป็นการผิดสัญญาจ้างข้อ 1 ท้ายฟ้อง จำเลยในฐานะตัวแทนสัญญาว่าจ้างแทนบริษัทจีน จำกัด (เหม่ยฉี) นายจ้างซึ่งเป็นตัวการต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ ถือได้ว่าจำเลยเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสี่ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานด้วย จึงต้องรับผิดในเงินค่าจ้างซึ่งถูกหักไปโจทก์ทั้งสี่ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างซึ่งถูกหักไว้เป็นค่าตั๋วเครื่องบินแก่โจทก์ทั้งสี่จำนวนคนละ 5,490 บาท
จำเลยทั้งสี่สำนวนให้การว่า จำเลยไม่ใช่ตัวแทนของนายจ้างต่างประเทศของโจทก์ทั้งสี่ แต่เป็นเพียงบริษัทจัดหางานที่ดำเนินการจัดส่งโจทก์ทั้งสี่ไปทำงานให้บริษัทนายจ้างที่ไต้หวัน และจำเลยจะต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับให้โจทก์ทั้งสี่กับพวกต่อเมื่อโจทก์ทั้งสี่เดินทางไปต่างประเทศแล้วไม่ได้งานทำตามที่ตกลงกันไว้ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528มาตรา 39(1) เมื่อโจทก์ทั้งสี่ทำสัญญากับนายจ้างโดยสัญญาจ้างข้อ 4.4 กำหนดว่านายจ้างมีหน้าที่จัดหาตั๋วเครื่องบินเดินทางจากประเทศไทยไปไต้หวันและตั๋วเครื่องบินขากลับสู่ประเทศไทยให้แก่ลูกจ้าง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางให้จำเลยจ่ายเงินให้โจทก์ทั้งสี่คนละ5,490 บาท
จำเลยทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการที่บริษัทจำเลยลงชื่อและประทับตราในสำเนาสัญญาจ้างงานของนายจ้างเป็นเพียงการปฎิบัติตามระเบียบข้อบังคับของกรมการจัดหางานเท่านั้น ส่วนฐานะของจำเลยยังเป็นตัวแทนของบริษัทนายจ้างเพื่อให้มีอำนาจเพียงเป็นผู้จัดหาคนหางานให้นายจ้างเท่านั้น หาใช่ทำให้ฐานะของจำเลยกลายเป็นตัวแทนโดยทั่วไปที่จะต้องรับผิดตามสัญญาดังกล่าวตามลำพังแม้ชื่อของตัวการจะเปิดเผยแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 824 ไม่ เห็นว่า ตามสำเนาสัญญาจัดหางานเพื่อให้คนหางานไปทำงานในต่างประเทศ เอกสารท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสี่ซึ่งโจทก์ทั้งสี่รับรองสำเนาถูกต้อง อันเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง จำเลยมิได้ให้การปฎิเสธว่าเป็นเอกสารไม่ถูกต้องกับเอกสารต้นฉบับอย่างไร จึงถือว่าจำเลยรับว่าข้อความในเอกสารดังกล่าวเป็นอยู่จริงตามนั้น นอกจากนี้โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 4ก็ยังได้นำส่งสัญญาจัดหางานซึ่งเป็นต้นฉบับตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 พร้อมสำเนาสัญญาจ้างแรงงาน (เป็นภาษาจีนซึ่งแปลเป็นภาษาไทย) ประกอบการพิจารณาด้วย และตามต้นฉบับสัญญาจัดหางานกับสำเนาสัญญาจัดหางาน เอกสารท้ายฟ้องมีข้อความสาระสำคัญทำนองเดียวกันว่า สัญญาฉบับนี้ทำขึ้นระหว่างบริษัทจัดหางานอุดรปัญญารัตน์จำกัด เรียกว่าผู้รับอนุญาตจัดหางาน กับโจทก์ทั้งสี่เรียกว่า คนหางาน ทั้งสองฝ่ายตกลงให้จำเลยจัดหางานแก่โจทก์ทั้งสี่เพื่อไปทำงานกับนายจ้างชื่อบริษัทจีน จำกัด (เหม่ยฉี) ที่ไต้หวันในตำแหน่งคนงานอุตสาหกรรมการผลิต ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์โดยได้รับค่าจ้างในอัตรา 14,880 เหรียญไต้หวันต่อเดือน (ต่อคน) ค่าอาหารนายจ้างจัดหาให้โดยไม่คิดมูลค่า ค่าล่วงเวลาตามกฎหมายแรงงานประเทศดังกล่าว และค่าโดยสารเครื่องบินไปกลับ การทำสัญญานี้จำเลยมีนางยศธร หงษาคำ ลงชื่อในฐานะผู้รับอนุญาตจัดหางานและประทับตราบริษัทจำเลยเป็นสำคัญ ส่วนโจทก์ทั้งสี่ลงชื่อในสัญญาในฐานะคนหางาน และจำเลยแถลงรับตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 ว่า ในการจัดหางานดังกล่าว โจทก์ทั้งสี่ได้ทำสัญญาจัดหางานกับจำเลยเพื่อให้ไปทำงานในต่างประเทศโดยจำเลยจะรับผิดชอบช่วยเหลือคนหางานตามหน้าที่ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ตามเอกสารหมาย จ.1 กับ จ.2 และโจทก์ทั้งสี่ได้ไปทำสัญญาจ้างแรงงานกับบริษัทจีน จำกัด(เหม่ยฉี) ที่ไต้หวันแล้ว ต่อมาโจทก์ทั้งสี่เดินทางกลับประเทศไทยโดยนายจ้างดังกล่าวมิได้จ่ายค่าตั๋วเครื่องบินเดินทางกลับ แต่หักค่าจ้างโจทก์ทั้งสี่ไว้เป็นค่าตั๋วเครื่องบินคนละ 5,490 บาท เช่นนี้ เมื่อปรากฎในสัญญาดังกล่าวว่า นางยศธร หงษาคำ กรรมการจำเลยผู้มีอำนาจลงชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยผูกพันจำเลยได้ลงชื่อในสัญญาจัดหางานกับโจทก์ทั้งสี่ โดยเป็นการดำเนินการแทนบริษัทจีนจำกัด (เหม่ยฉี) เพื่อส่งโจทก์ทั้งสี่ไปทำงานกับบริษัทจีนจำกัด (เหม่ยฉี) ที่ไต้หวัน ซึ่งต่อมาโจทก์ทั้งสี่ได้ไปทำงานโดยทำสัญญาจ้างแรงงานกับบริษัทจีน จำกัด (เหม่ยฉี)แล้ว ถือได้ว่าจำเลยเป็นตัวแทนของบริษัทจีน จำกัด (เหม่ยฉี)ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ การกระทำของจำเลยเข้าลักษณะเป็นตัวแทนทำสัญญากับโจทก์ทั้งสี่แทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยจะต้องรับผิดตามสัญญานั้นแต่ลำพังตนเอง แม้ทั้งชื่อตัวการจะได้เปิดเผยแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 ดังนั้น เมื่อบริษัทจีน จำกัด (เหม่ยฉี) ที่ไต้หวันยอมให้โจทก์ทั้งสี่กลับประเทศไทย โดยไม่จัดหาตั๋วเครื่องบินขากลับให้แก่โจทก์ทั้งสี่ตามสัญญา ข้อ 4.4 แต่กลับหักค่าตั๋วเครื่องบินจากค่าจ้างโจทก์ทั้งสี่คนละ 5,490 บาท ไว้โดยไม่มีสิทธิจำเลยในฐานะตัวแทนของนายจ้างดังกล่าวจึงต้องรับผิดคืนเงินค่าจ้างที่หักไว้แก่โจทก์ทั้งสี่คนละ 5,490 บาท จำเลยจะอ้างพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528มาตรา 39(1) มายกเว้นความรับผิดหาได้ไม่ เพราะข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ต้องด้วยบทกฎหมายดังกล่าวที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินกลับให้โจทก์ทั้งสี่จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างที่หักไว้แก่โจทก์ทั้งสี่คนละ 5,490 บาท