คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 188/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา174เดิมซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดข้อพิพาทได้บัญญัติว่า”การฟ้องคดีท่านไม่นับว่าเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงหากว่าคดีนั้นได้ถอนเสีย”ดังนั้นการที่โจทก์ถอนฟ้องเรื่องเดียวกันในคดีก่อนแล้วได้ฟ้องใหม่เป็นคดีนี้จึงไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงแต่อย่างใด ตามคำให้การของจำเลยที่15ได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้โดยชัดแจ้งว่าโจทก์ยอมผ่อนเวลาการชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่1โดยจำเลยที่15ไม่ได้รู้เห็นและไม่ได้ตกลงให้ความยินยอมในการผ่อนเวลาดังกล่าวดังนั้นจำเลยที่15จึงมีสิทธินำสืบต่อสู้ในเรื่องโจทก์ยอมผ่อนเวลาให้ลูกหนี้โดยจำเลยที่15ผู้ค้ำประกันไม่ได้รู้เห็นและยินยอมด้วยได้ ร.ทำสัญญายืมเงินและสัญญารับสภาพหนี้ในฐานะผู้แทนของจำเลยที่1โดยมิได้ร่วมกับจำเลยที่1ทำสัญญาดังกล่าวในฐานะส่วนตัวด้วยร. จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัวเมื่อร.ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาดังกล่าวจำเลยที่5ทายาทของร.จึงไม่มีหนี้ที่ตกทอดจากร. ผู้ตายให้ต้องรับผิดต่อโจทก์ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยที่2ถึงจำเลยที่4และจำเลยที่6ถึงจำเลยที่8ซึ่งเป็นทายาทของร. แม้จะไม่ได้ฎีกาเหมือนจำเลยที่5ด้วยก็ตามแต่การชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้จำเลยเหล่านี้ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกับจำเลยที่5ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยดังกล่าวทุกคนด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา245(1)และมาตรา247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2513 จำเลยที่ 1 โดยนายรุสดี ผลเจริญ ประธานกรรมการบริหารของสมาคมจำเลยที่ 1 กับนายรุสดี ผลเจริญ ในฐานะส่วนตัว และนายกมล วีระวัธน์ ได้ร่วมกันทำสัญญายืมเงินทุนหมุนเวียนช่วยเหลือเกษตรกรจากโจทก์ เพื่อนำเงินที่ยืมได้ไปใช้เกี่ยวกับการดำเนินงานตามโครงการเป็นจำนวนเงิน 85,740 บาท โดยสัญญาว่าจะใช้เงินคืนโจทก์ภายในวันที่1 มีนาคม 2516 การกู้ยืมเงินดังกล่าวมีจำเลยที่ 15 เป็นผู้ค้ำประกันเมื่อถึงกำหนดชำระเงิน จำเลยที่ 1 นายรุสดี นายกลมและจำเลยที่ 15 ไม่ชำระเงิน ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2520 จำเลยที่ 1โดยนายรุสดีและนายรุสดีในฐานะส่วนตัวร่วมกันทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์ว่าจะชดใช้เงินตามสัญญาเงินทุนหมุนเวียนช่วยเหลือเกษตรกร จำนวน 85,740 บาท ให้แก่โจทก์ภายใน 10 ปีนับตั้งแต่ พ.ศ. 2520 เป็นต้นไป จำเลยที่ 15 ในฐานะผู้ค้ำประกันจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นายรุสดี และนายกมล แต่เนื่องจากนายรุสดีได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2522ส่วนนายกมลได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2524 จำเลยที่ 2ถึงที่ 8 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายรุสดี และจำเลยที่ 9 ถึงที่ 14 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายกลมจะต้องร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าวด้วย จำเลยทั้งสิบห้าจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้เงินยืนจำนวน 85,740 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2516 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 17 ปี คิดเป็นดอกเบี้ยจำนวน 109,318 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 194,788 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบห้าชำระเงินจำนวน 194,788 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 85,740 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลย ที่ 5 ขาดนัด ยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 9 ถึงจำเลยที่ 147 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล โดยมีนายกมล วีระวัธน์ ผู้ตายเป็นเลขานุการของจำเลยที่ 1 แต่ไม่มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้นายกมลผู้ตายไม่เคยทำสัญญากู้เงินโจทก์เพราะไม่เคยลงลายมือชื่อไว้ผู้ตายไม่ได้กู้ยืมเงินโจทก์ในฐานะส่วนตัว ผู้ตายจึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวเป็นการส่วนตัว อีกทั้งจำเลยที่ 9 เป็นภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ดังนั้น จำเลยที่ 9 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าว และผู้ตายได้ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 1 กันยายน2524 โจทก์ได้นำคดีมาฟ้องเกิน 1 ปี คดีของโจทก์ขาดอายุความ และฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่เคลือบคลุมเพราะสัญญากู้เป็นเพียงสำเนาภาพถ่าย สำหรับสัญญากู้ไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอน โจทก์ไม่เคยทวงถาม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 9 ถึงจำเลยที่ 14 เพราะยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 15 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมจำเลยที่ 15ไม่เคยลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกัน โจทก์ยอมผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 15 ไม่ได้ให้ความยินยอมในการผ่อนเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 15 หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 194,788 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน85,740 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (18 พฤษภาคม 2533) จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 15
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 8 ในฐานะทายาทของนายรุสดี ผลเจริญ ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 1984,788 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 85,740 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 5 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาตให้จำเลยที่ 5 ฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ซึ่งศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์เฉพาะในข้อกฎหมาย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า ฟ้องของโจทก์ในคดีก่อนที่ได้ถอนฟ้องไปแล้ว ทำให้อายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์สะดุดหยุดลงหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 174 เดิม ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดข้อพิพาท ได้บัญญัติว่า “การฟ้องคดี ท่านไม่นับว่าเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง หากว่าคดีนั้นได้ถอนเสีย”ดังนั้น การที่โจทก์ถอนฟ้องเรื่องเดียวกันในคดีก่อนแล้วได้ฟ้องใหม่ เป็นคดีนี้จึงไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า อายุความฟ้องคดีของโจทก์ไม่สะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งบัญญัติทำนองเดียวกันกับมาตรา 174 เดิม ฟ้องโจทก์ย่อมขาดอายุความแล้วนั้น จึงเป็นเพียงการยกบทกฎหมายปรับแก่คดีคลาดเคลื่อนไปเท่านั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลของคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดังกล่าว
ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 15 มีสิทธินำสืบต่อสู้ในเรื่องโจทก์ยอมผ่อนเวลาให้ลูกหนี้ โดยผู้ค้ำประกันคือจำเลยที่ 15 ไม่ได้รู้เห็นและยินยอมด้วยได้หรือไม่ เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยที่ 15 ได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้โดยชัดแจ้งว่า โจทก์ยอมผ่อนเวลาการชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 15 ไม่ได้รู้เห็นและไม่ได้ตกลงให้ความยินยอมในการผ่อนเวลาดังกล่าว ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 15ได้ให้การเป็นประเด็นไว้อย่างชัดแจ้ง จำเลยที่ 15 จึงมีสิทธินำสืบต่อสู้ในเรื่องโจทก์ยอมผ่อนเวลาให้ลูกหนี้โดยจำเลยที่ 15ผู้ค้ำประกันไม่ได้รู้เห็นและยินยอมด้วยได้
ส่วนปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 5 ข้อแรกมีว่าจำเลยที่ 5 จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญายืมเงินทุนหมุนเวียนช่วยเหลือเกษตรกรและตามสัญญารับสภาพหนี้เอกสารหมายจ.5 ตามฟ้องหรือไม่ ข้อนี้ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายรุสดีทำสัญญายืมเงินตามเอกสารหมาย จ.6 และสัญญารับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.5 ในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 โดยมิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาดังกล่าวในฐานะส่วนตัวด้วย นายรุสดีจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัว เมื่อนายรุสดีไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาดังกล่าว จำเลยที่ 5 ทายาทของนายรุสดีจึงไม่มีหนี้ที่ตกทอดจากนายรุสดีผู้ตายให้ต้องรับผิดต่อโจทก์ ข้อนี้จำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 6 ถึงจำเลยที่ 8 ซึ่งเป็นทายาทของนายรุสดีแม้จะไม่ได้ฎีกา แต่การชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 4และจำเลยที่ 6 ถึงจำเลยที่ 8 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 5 ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2ถึงจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 6 ถึงจำเลยที่ 8 ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) และมาตรา 247 เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 5 ที่ว่าจำเลยที่ 5 ซึ่งขาดนัดยื่นคำให้การจะยกเอาอายุความที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยเป็นยุติแล้วว่าฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 14 ขาดอายุความมาเป็นเหตุขอให้ยกฟ้องได้หรือไม่ต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 8เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share