คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 818/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องบรรยายว่าจำเลยมีหน้าที่ รับจ่าย ทำบัญชีตลอดทั้งควบคุมเก็บรักษาเงินและมีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการนี้ว่าจำเลยมีหน้าที่จะต้องนำยอดเงินสดคงเหลือประจำวันส่วนที่เกินกว่า 3,000 บาท เข้าฝากธนาคารระหว่างตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม2505 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2507 เวลากลางวัน ต่อเนื่องกันตลอดมา จำเลยได้รับเงินรายได้ 10 ประเภทและจ่ายไปคงเหลืออยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย 109,502.68 บาท จำเลยไม่นำเงินจำนวนดังกล่าวนี้เข้าบัญชีธนาคารกลับเบียดบังยักยอกเป็นอาณาประโยชน์ส่วนตัวเสียปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5ขอให้ลงโทษ ฯลฯ ดังนี้ เมื่ออ่านฟ้องประกอบกับเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ซึ่งเป็นบัญชีแสดงจำนวนเงินที่ได้รับและจ่ายไปคงเหลือแต่ละเดือนประจำเดือนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2505 ถึงเดือนธันวาคม 2507เห็นได้ว่า โจทก์ได้กล่าวข้อเท็จจริงถึงจำนวนเงินรายได้ของโจทก์ร่วมที่จำเลยรับไว้และยักยอกไปพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดีแล้วไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงรายละเอียดเงินรายได้ประเภทไหนเท่าใดอีกจึงเป็นฟ้องที่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีหน้าที่ รับ-จ่าย เก็บรักษาเงินและพัสดุตลอดจนทำบัญชีเงินและพัสดุทุกประเภทขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกภาค 2 จังหวัดนครราชสีมา ตามระเบียบข้อบังคับขององค์การฯ เกี่ยวกับยอดเงินสดคงเหลือประจำวัน ถ้ามีเกินกว่า 3,000 บาท จำเลยมีหน้าที่จะต้องนำยอดเงินคงเหลือส่วนที่เกินไปฝากธนาคาร จำเลยมีเจตนาทุจริตได้บังอาจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับดังกล่าว ด้วยการละเว้นไม่เสนอยอดเงินสดเมื่อสิ้นประจำวันหรือเมื่อสิ้นประจำเดือนต่อผู้บังคับบัญชา ทั้งไม่นำยอดเงินคงเหลือส่วนที่เกิน 3,000 บาทไปฝากเข้าบัญชีธนาคาร ฯลฯ นับตั้งแต่วันที่1 ตุลาคม 2505 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2507 เวลากลางวันต่อเนื่องกันตลอดมาจำเลยได้บังอาจเบียดบังยักยอกเอาเงินสดที่จำเลยได้รับมาจากรายได้คือ1. เงินรายได้จากสนามม้า 2. เงินรายได้จากสถานพยาบาล ฯลฯ (รวม 10 ประเภท) และจำเลยได้จ่ายเงินจำนวนนี้ไป คงเหลือเงินสดที่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยจำนวนเงิน 109,502.68 บาท ซึ่งจำเลยจะต้องนำเงินจำนวนนี้ไปฝากเข้าบัญชีธนาคาร แต่จำเลยได้เบียดบังเอาเงินจำนวน109,502.68 บาท ไปเป็นอาณาประโยชน์ส่วนตัวเสีย ปรากฏตามเอกสารหมาย 5 ท้ายฟ้อง เหตุเกิดที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 3, 4, 8 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157, 352 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 3 และสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายด้วย

จำเลยให้การปฏิเสธ และตัดฟ้องว่าฟ้องโจทก์ไม่ระบุรายละเอียดการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีเป็นฟ้องเคลือบคลุม

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม แต่พยานหลักฐานของโจทก์ยังเป็นที่สงสัยฟังไม่ได้ชัดว่าจำเลยเป็นผู้เอาเงินไปหรือใครเป็นผู้เอาไป พิพากษายกฟ้อง

โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ได้ความปรากฏชัดว่าจำเลยได้รับเงินสดสำหรับรายได้รายการไหนเท่าใด และยักยอกเอาเงินรายการนั้นเท่าใด ดังนี้ จำเลยจะเข้าใจข้อหาเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิ่งของที่จำเลยต้องหาว่าเบียดบังยักยอกมิได้เลย แล้วจำเลยจะแก้ข้อหาให้ถูกต้องได้อย่างไร จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่น พิพากษายืน ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาต่อมา

ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่ออ่านฟ้องประกอบกับเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ซึ่งเป็นบัญชีแสดงจำนวนเงินที่ได้รับและจ่ายไปและจำนวนเงินคงเหลือแต่ละเดือนประจำเดือนทุก ๆ เดือนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2505 ถึงเดือนธันวาคม 2507 ซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า ตามระเบียบเงินเหลือที่เกินกว่า3,000 บาท จำเลยจะต้องนำไปฝากไว้กับธนาคารแต่จำเลยหาได้นำไปฝากไม่ กลับมีเจตนาทุจริตยักยอกเงินที่คงเหลือไปทั้งหมด ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องของโจทก์ได้กล่าวข้อเท็จจริงถึงจำนวนเงินรายได้ของโจทก์ส่วนที่จำเลยได้รับไว้และยักยอกเอาไปพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงรายละเอียดว่าเป็นเงินรายได้ประเภทไหนเท่าใดก็ได้ ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว

พิพากษายก ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่

Share