แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การขอเข้ารับหรือออกจากราชการตลอดจนการขอเข้าใหม่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบข้าราชการฝ่ายพลเรือนนั้นอยู่ในอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารโดยเฉพาะจะมาฟ้องขอให้ศาลบังคับหาได้ไม่
พ.ร.บ.เรื่องราวร้องทุกข์ ไม่มีบัญญัติไว้เด็ดขาดว่านายกรัฐมนตรีจำต้องปฏิบัติตามมติคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ แม้ใน ม.20 ก็ไม่มีผลบังคับเด็ดขาดอยู่เพียงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ ๆ พึงเสนอความเห็นอีกทางหนึ่งเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งการของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น
คำในวรรค 2 ซึ่งว่า “เมื่อนายกรัฐมนตรีได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแล้วจัดการไปเป็นการใด ฯลฯ” ย่อมแสดงว่าอยู่ในความวินิจฉัยของนายกรัฐมนตรีที่จะจัดการไปประการใดก็ได้แล้วแจ้งคณะกรรมการ
เรื่องราวร้องทุกข์ทราบเพื่อแจ้งแก่ผู้ร้องต่อไป เรื่องระยะเวลา 60 วันก็เพื่อเร่งให้ดำเนินการพิจารณาและสั่งการไปโดยเร็วนั่นเอง จึงไม่ทำให้เกิดสิทธิฟ้องคดีเช่นนี้ได้
ศาลไทยยังไม่มีศาลปกครองจึงต้องพิจารณาตาม ก.ม.และอำนาจของศาลไทย.
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าเดิมโจทก์เป็นเลขานุการไปรษณีย์โทรเลขถูกสั่งให้ไล่ออกฐานะประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ต่อมาโจทก์ได้ยื่นเรื่องราวต่อคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ ๆ มีมติว่าโจทก์ควรได้รับการพิจารณาคืนสู่ฐานะข้าราชการต่อไป จำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมติคณะกรรมการ ฯ ใน ๖๐ วัน แต่ไม่ปฏิบัติและมีคำสั่งให้ยกเรื่องราวของโจทก์ จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยให้โจทก์คืนสู่ฐานะเป็นข้าราชการตามเดิมตามมติคณะกรรมการ ฯ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การขอเข้ารับราชการหรือออกจากราชการตลอดจนการขอเข้ารับราชการใหม่ ดังเช่นกรณีของโจทก์นี้ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือนประกอบด้วยกฏกระทรวงและระเบียบแบบแผนว่าด้วยการนั้นซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารโดยเฉพาะ โจทก์จะนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยให้รับโจทก์กลับเข้ารับราชการต่อไปตามเดิมเช่นนี้ไม่ได้ พ.ร.บ.เรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ.๒๔๙๒ นี้ไม่มีบทบัญญัติใดเลยที่กำหนดลงไว้ให้เห็นเป็นเด็ดขาดว่านายกรัฐมนตรีจำต้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์แม้แต่ใน ม.๒๐ ซึ่งโจทก์เสนอเป็นหลักแห่งการฟ้องคดีเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ให้คณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์แจ้งคำวินิจฉัยไปยังนายกรัฐมนตรีให้ทราบและนายกรัฐมนตรีจัดการในเรื่องนั้นไปเป็นประการใด ก็ให้แจ้งให้คณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ทราบเพื่อจะได้แจ้งผลให้ผู้เสนอเรื่องราวร้องทุกข์ทราบด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดว่าไม่มีอะไรเป็นผลบังคับเด็ดขาดอยู่เพียงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์นั้นเลย, คำในวรรค ๒ ซึ่งว่า “เมื่อนายกรัฐมนตรีได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแล้วได้จัดการไปประการใดก็ได้ แล้วแจ้งให้คณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์ทราบ เพื่อแจ้งผลให้ผู้เสนอทราบอีกต่อหนึ่ง เรื่องระยะเวลา ๖๐ วันก้เพื่อเร่งให้นายกรัฐมนตรีให้รีบดำเนินการพิจารณาและสั่งเรื่องราวร้องทุกข์นั้นให้แล้วเสร็จไปโดยเร็ว มิให้ปล่อยปละละเลยทอดทิ้งไว้ช้านานเกินสมควรเท่านั้นเอง ดังนี้ข้อความใน ม.๒๐ ที่โจทก์เสนอขึ้นมานี้จึงไม่สนับสนุนให้โจทก์เกิดสิทธิฟ้องคดีเช่นนี้ได้
ศาลฎีกาเห็นว่าประเทศไทยยังไม่มีศาลปกครอง คงพิจารณาตามตัวบท ก.ม.และอำนาจของประเทศไทยก็พอแล้ว.
พิพากษายืน.