แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าอีกร้อยละ 20 ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ตรี มีได้เฉพาะ 2 กรณี คือ 1. กรณีไม่ได้ชำระเงินอากรครบถ้วนตามมาตรา 112 ทวิ และ 2. กรณีที่ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบหรือเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 40 หรือ 45
สินค้าพิพาทตามรายการที่ 1 จำเลยนำเข้าสินค้าโดยแสดงความจำนงว่าจะนำมาใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้า โดยวางหนังสือค้ำประกันของธนาคาร แล้วจำเลยไม่ได้นำสินค้าไปผลิตเพื่อส่งออกให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี จำเลยจึงไม่มีสิทธิในการขอคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ กรณีจึงไม่ใช่เรื่องที่จำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามมาตรา 40 โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าตาม พ.ร.บ. ศุลกากร ฯ มาตรา 112 ตรี และการที่จำเลยนำสินค้าออกไปจากอารักขาของศุลกากรโดยได้วางประกันไว้เป็นหนังสือของธนาคารถือว่าเป็นกรณีที่ยังไม่ได้ชำระอากรไว้ตามที่โจทก์อุทธรณ์นั้น เมื่อเกิดกรณีที่จำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไขแล้ว โจทก์ที่ 1 ก็มีสิทธิเรียกให้ธนาคารที่เป็นประกันชำระเงินได้ทันทีอยู่แล้ว จะถือว่าการที่จำเลยไม่ชำระค่าอากรเป็นการผิดบทบัญญัติตาม พ.ร.บ. ศุลกากร ฯ มาตรา 112 ตรี แล้วไม่ได้
ส่วนสินค้าพิพาทตามรายการที่ 2 แม้จำเลยนำสินค้าเข้าโดยแสดงความจำนงว่าจะนำมาใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้า โดยวางหนังสือค้ำประกันของธนาคารและมิได้นำสินค้าไปผลิตเพื่อส่งออกภายใน 1 ปี เช่นกัน แต่เนื่องจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เห็นว่าจำเลยสำแดงราคาต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จึงทำการประเมินราคาสินค้าเพิ่มขึ้น การประเมินดังกล่าวเกิดจากการที่จำเลยสำแดงราคาสินค้าไม่ถูกต้อง กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไขในการที่ผู้นำเข้าจะนำของออกจากอารักขาของศุลกากรตามมาตรา 40 โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามมาตรา 112 ตรี ได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าภาษีอากรจำนวน 51,109.38 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนในต้นเงินอากรขาเข้า 24,820.44 บาท นับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่จำเลยชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระอากรขาเข้าจำนวน 24,820.44 บาท ภาษีการค้าจำนวน 9,230 บาท ภาษีบำรุงท้องถิ่นจำนวน 922 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมเงินเพิ่มอากรขาเข้าอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือน ของค่าอากรขาเข้าจำนวน 24,820.44 บาท นับแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2538 จนถึงวันที่จำเลยนำเงินมาชำระแก่โจทก์ที่ 1 โดยไม่คิดทบต้น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยนำเข้าซึ่งสินค้าแถบเคลือบและผ้ายาวหน้าแคบยืดได้ด้วยยางโดยแสดงความจำนงว่า ของที่นำเข้าจะใช้เฉพาะในการผลิตหรือผสมหรือประกอบหรือบรรจุเพื่อการส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศเพื่อขอคืนเงินอากรขาเข้าสำหรับของดังกล่าว โดยวางหนังสือค้ำประกันของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) แทนการชำระค่าอากรขาเข้าที่จะต้องเสียตาม พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 มาตรา 19 ตรี โดยจำเลยได้สำแดงรายการเสียภาษีอากรไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าแล้วว่า ต้องเสียภาษีอากรประเภทใด โดยมีธนาคารทำหนังสือค้ำประกันระบุจำนวนเงินไว้ต่อโจทก์ที่ 1 เพื่อขอรับของที่นำเข้าไปจากอารักขา ต่อมาปรากฏว่าจำเลยไม่ใช้ของที่นำเข้ามาผลิตหรือผสมหรือประกอบหรือบรรจุเพื่อการส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศภายใน 1 ปี นับแต่วันที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีอากร
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยจะต้องเสียเงินเพิ่มอากรขาเข้าอีกร้อยละ 20 ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ตรี ตามที่เจ้าพนักงานประเมินมาด้วยหรือไม่ เห็นว่า การเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าอีกร้อยละ 20 ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ตรี นั้น มีได้เฉพาะ 2 กรณี คือ 1. กรณีมิได้ชำระเงินอากรครบถ้วนตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ทวิ และ 2. กรณีที่มิได้ปฏิบัติตามระเบียบหรือเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 40 หรือมาตรา 45 แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าสินค้าพิพาทตามรายการที่ 1 จำเลยนำเข้าสินค้าโดยแสดงความจำนงว่าจะนำมาใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้า โดยวางหนังสือค้ำประกันของธนาคาร แล้วจำเลยมิได้นำสินค้าไปผลิตเพื่อส่งออกให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี จำเลยจึงไม่มีสิทธิในการขอคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ กรณีจึงไม่ใช่เรื่องที่จำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามมาตรา 40 โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ตรี ส่วนที่จำเลยนำสินค้าออกไปจากอารักขาของศุลกากรโดยได้วางประกันไว้เป็นหนังสือของธนาคาร ถือว่าเป็นกรณีที่ยังไม่ได้ชำระค่าอากรไว้เลยตามที่โจทก์อุทธรณ์มานั้น เห็นว่า เมื่อเกิดกรณีที่จำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไขแล้ว โจทก์ที่ 1 ก็มีสิทธิเรียกให้ธนาคารที่เป็นประกันชำระเงินได้ทันทีอยู่แล้ว จะถือว่าการที่จำเลยไม่ชำระเงินค่าอากรอันเป็นการผิดบทบัญญัติตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ตรี แล้วไม่ได้
ส่วนสินค้าพิพาทตามรายการที่ 2 แม้จะปรากฏว่า จำเลยนำสินค้าเข้าโดยแสดงความจำนงว่าจะนำมาใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกภายใน 1 ปี นับแต่วันนำเข้า โดยวางหนังสือค้ำประกันของธนาคารต่อโจทก์ที่ 1 และมิได้นำสินค้าที่นำเข้านี้ไปผลิตเพื่อส่งออกภายใน 1 ปี ก็ตาม แต่เนื่องจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เห็นว่า จำเลยสำแดงราคาต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จึงทำการประเมินราคาสินค้าเพิ่มขึ้น การประเมินดังกล่าวเกิดจากการที่จำเลยยื่นใบขนสินค้าไม่ถูกต้อง กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไขในการที่ผู้นำเข้าจะนำของออกจากอารักขาของศุลกากร ตามมาตรา 40 โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามมาตรา 112 ตรี ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ในส่วนของสินค้ารายการที่สอง ให้จำเลยรับผิดเสียเงินเพิ่มอากรขาเข้าอีกร้อยละ 20 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง.