คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 816-817/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สามีโจทก์เช่าห้องจำเลยที่ 1 อยู่อาศัย จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญากับสามีโจทก์ เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้ว แต่โจทก์ยังอยู่ในห้องเช่า จำเลยที่ 1-2 จึงให้จำเลยที่ 3 ถึง 7 เข้าไปในห้องเช่ารื้อส่วนต่าง ๆ ของห้องเช่าเสียเช่นนี้ ยังไม่เป็นผิดฐานบุกรุกตาม ก.ม.อาญามาตรา 327 เพราะห้องเช่านั้นเป็นของจำเลยที่ 1
พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขันไม่มีบัญญัติให้การกระทำเช่นนี้เป็นผิด จึงจะใช้ตีความให้การกระทำที่เดิมไม่ผิด ให้เป็นความผิดอาญาไม่ได้

ย่อยาว

คดีได้ความว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของห้อง ซึ่งสามีโจทก์เช่าห้องจำเลยที่ ๑ อยู่อาศัย สัญญาเช่าจะสิ้นอายุในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๙๐ จำเลยที่ ๑-๒ ได้บอกเลิกสัญากับสามีโจทก์ ครั้งวันที่ ๒ และ ๔ มกราคม ๒๔๙๑ จำเลย ที่ ๑-๒ ได้ให้จำเลยที่ ๓ ถึง ๗ เข้าไปในห้องเช่ารื้อประตูบ้าน ๓ บาน ประตูรั้วข้างบ้าน ๒ บาน ขนโอ่งน้ำของจำเลยที่ ๒ ไปด้วยโอ่งและให้รื้อหน้าบ้านบันใดชั้นบนรื้อเตาไฟประตูครัว กับขนของ ๆ โจทก์ซึ่งอยู่ชั้นบนลงมาชั้นล่าง
โจทก์ จึงฟ้องขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๙๓,๒๙๔,๓๒๔,๓๒๕ กับขอให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่โจทก์ฐานละเมิด ๕,๐๐๐ บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๒ ถึง ๗ ผิดตาม ก.ม. ลักษณะอาญามาตรา ๓๒๗,๓๒๘,๓๒๙ กับให้จำเลยทั้งหมดซ่อมแซมประตูและเรือนให้เป็นไปตามสภาพเดิม กับให้ใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องจ้างคนเฝ้าบ้าน ๒๒๕ บาท ข้อหานอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และนายทิ้งจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในทางอาญา และว่าเป็นเหตุลักษณะคดี เป็นผลแก่จำเลยทุกคน ส่วนในทางแพ่งก็วินิจฉัยยกฟ้องเฉพาะตัวนายทิ้งที่อุทธรณ์มา
โจทก์ฎีกา
ศาลฎกีกาเห็นว่าความผิดฐานบุกรุกตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๓๒๗ นั้น บ้านเรือนที่จำเลยบุกรุกจะต้องไม่ใช่ของจำเลย จึงจะมีผิด แต่เรื่องนี้จำเลยเข้าไปในเรือนของจำเลยที่ ๑ โดยอาศัยอำนาจและความร่วมใจของจำเลยที่ ๑ จำเลยหามีความผิดฐานบุกรุกอันจะมีโทษทางอาญาตามที่บัญญัติไว้ไม่ พ.ร.บ.ควบุคมค่าเช่าในภาวะคับขันไม่ได้บัญญัติให้การกระทำเช่นนี้เป็นความผิด จึงจะใช้ตีความให้การกระทำที่เดิมไม่ผิด กลายเป็นความผิดอาญาไม่ได้ สำหรับความรับผิดทางแพ่งก็ปรากฏว่านายทิ้งจำเลยได้กระทำการไปโดยอาศัยอำนาจของจำเลยที่ ๑ ผู้ให้เช่าเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ ๑ กับสามีโจทก์ไม่ปรากฏว่านายทิ้งได้กระทำละเมิดต่อโจทก์อย่างไร จึงพิพากษายืน

Share