คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 816/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยยื่นฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันโดยกำหนดให้จำเลยนำส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์ผู้ซื้อทรัพย์และเจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 5 วัน ไม่มีผู้รับให้ปิด ทนายจำเลยรับทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้ว ไม่นำส่งสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์ผู้ซื้อทรัพย์และเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในกำหนด ถือว่าเป็นการทิ้งฎีกาตามมาตรา 174(2) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247ศาลฎีกามีอำนาจสั่งจำหน่ายคดีได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้แก่โจทก์ เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยื่นคำร้องว่า โจทก์สมคบกับผู้สนใจเข้าร่วมประมูลซื้อทรัพย์โดยไม่สุจริต เจ้าพนักงานบังคับคดียอมให้โจทก์เสนอราคาเพียงผู้เดียวซึ่งเป็นราคาที่ต่ำมาก ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
โจทก์คัดค้านว่า ได้มีการประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวมาแล้ว 12 ครั้ง เป็นเวลา 2 ปี 5 เดือนเศษ จำเลยที่ 1 และที่ 3ยื่นคำร้องเพื่อประวิงการบังคับคดี ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 และสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 นำส่งสำเนาฎีกาแก่โจทก์ภายใน 5 วัน จำเลยที่ 1และที่ 3 ไม่นำส่งสำเนาฎีกาภายในกำหนด ต่อมาเมื่อพ้นกำหนดตามคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 3 มายื่นคำแถลงขอให้ศาลส่งสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นจึงส่งสำนวนมายังศาลฎีกาเพื่อพิจารณา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1และที่ 3 ยื่นคำฟ้องฎีกาเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2536 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันว่า “รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3สำเนาให้โจทก์ ผู้ซื้อทรัพย์ และเจ้าพนักงานบังคับคดีให้จำเลยที่ 1ที่ 3 นำส่งภายใน 5 วัน ไม่มีผู้รับให้ปิด” ครั้นวันที่ 18พฤศจิกายน 2536 จำเลยที่ 1 และที่ 3 มายื่นคำแถลงขอให้ศาลส่งสำเนาคำฟ้องฎีกา ต่อมาวันที่ 22 พฤศจิกายน 2536 ศาลชั้นต้นสั่งในคำแถลงดังกล่าวว่า “จำเลยที่ 1 ที่ 3 มิได้นำส่งภายในกำหนดตามคำสั่ง รวมสำนวนส่งศาลฎีกาเพื่อพิจารณาสั่ง” เห็นว่าแม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ลงชื่อรับทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นไว้ในคำฟ้องฎีกาอีก แต่ท้ายคำฟ้องฎีกามีข้อความไว้ชัดว่า”ข้าพเจ้าได้ยื่นสำเนาฎีกา โดยข้อความถูกต้องเป็นอย่างเดียวกันมาด้วย 2 ฉบับ และรอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอถือว่าทราบแล้ว” โดยทนายความจำเลยที่ 1 และที่ 3 ลงชื่อในช่องผู้ฎีกา เช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นในวันเดียวกับที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ซึ่งกำหนดให้นำส่งสำเนาภายใน 5 วันแล้วเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 มายื่นคำแถลงขอนำส่งสำเนาในวันที่18 พฤศจิกายน 2536 ซึ่งพ้นกำหนด 5 วัน นับแต่ทราบคำสั่งนั้นจึงนับว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่มานำส่งสำเนาและแถลงให้ศาลทราบภายในเวลาที่ศาลกำหนด ถือว่าโจทก์ทิ้งฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกา…”

Share