แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่โจทก์ได้รับโอนประทานบัตรในการทำเหมืองแร่ มาจากบริษัท ซ.ซึ่งเป็นคนต่างด้าวเมื่อปี 2514 โจทก์ได้ยึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา ดังนี้ แม้บริษัท ซ.ซึ่งเป็นคนต่างด้าวจะได้ที่ดินพิพาทมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน แต่มิใช่ว่าการได้มาซึ่งที่ดินนั้นจะไม่มีผลเสียเลย กฎหมายเพียงแต่จำกัดสิทธิมิให้บริษัท ซ. ซึ่งเป็นคนต่างด้าวนั้นถือสิทธิหรือใช้สิทธิในที่ดินที่ได้มาอย่างเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ได้และต้องจำหน่ายที่ดินนั้นไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 94เมื่อบริษัท ซ. โอนสิทธิในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โจทก์ผู้รับโอนย่อมมีสิทธิในที่ดินนั้นโดยสมบูรณ์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง สิทธิตามประทานบัตรซึ่งเป็นสิทธิในการทำเหมืองแร่นั้นเป็นสิทธิที่จะต้องบังคับตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510อันแตกต่างกับสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทซึ่งต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นสิทธิคนละส่วนแยกต่างหากจากกันได้ หาใช่ว่าหากผู้ใดมีสิทธิตามประทานบัตรแล้วจะไม่อาจมีสิทธิครอบครองในที่ดินตามประทานบัตรนั้นได้เลยไม่ มิฉะนั้นจะมีผลเป็นว่า ผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงใดโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แต่เดิมแล้ว หากต่อมาได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ในที่ดินแปลงดังกล่าวจะทำให้สิทธิครอบครองซึ่งมีอยู่เดิมก่อนแล้วต้องหมดสิ้นไปด้วย ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้มีสิทธิครอบครองได้โอนการครอบครองติดต่อกันมาจนถึงโจทก์ซึ่งรับโอนทั้งสิทธิครอบครองและสิทธิตามประทานบัตรจากบริษัท ซ.โจทก์ได้ยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมาโจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 แม้ประทานบัตรของโจทก์หมดอายุแล้วก็หามีผลทำให้โจทก์สิ้นสิทธิครองครองในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสิทธิคนละส่วนกันแต่อย่างใดไม่การที่โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองส่งมอบที่ดินพิพาทคืนโจทก์แต่จำเลยทั้งสองและบริวารยังขืนอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไปโดยไม่ยอมส่งมอบคืนโจทก์ จึงเป็นการรบกวนการครอบครองอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารให้ออกไปจากที่ดินพิพาทได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดพร้อมรั้วลวดหนามทั้งหมด ตลอดจนขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ และห้ามไม่ให้จำเลยเข้าเกี่ยวข้องที่ดินของโจทก์ต่อไป
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินที่จำเลยที่ 2เข้าครอบครองอยู่ในปัจจุบันนั้น จำเลยที่ 2 ไม่ได้เข้าครอบครองโดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 และโจทก์แต่อย่างใด จำเลยที่ 2เข้าครอบครองโดยอาศัยสิทธิของตนเองติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า10 ปี มีเนื้อที่ทั้งหมด 8 ไร่ 2 งาน มีอาณาเขตติดต่อและกว้างยาวตลอดจนที่ตั้งตามเอกสารท้ายคำให้การ โดยที่ดินที่จำเลยที่ 2 ครอบครองอยู่นั้น เดิมเป็นของบิดาจำเลยที่ 2ขอให้ยกฟ้อง และพิพากษาว่าที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 2 ครอบครองอยู่นั้นเป็นของจำเลยที่ 2 และห้ามโจทก์เข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินของจำเลยที่ 2
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทจำเลยที่ 2ได้ครอบครองแทนจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจอ้างได้ว่าจำเลยที่ 2 ครอบครองที่ดินของโจทก์ในบริเวณดังกล่าวด้วยตนเอง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ซึ่งศาลยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ และฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ย่อมตกไปด้วยพิพากษายกฟ้องและให้ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์รับโอนสิทธิในที่ดินพิพาทมาจากคนต่างด้าวนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่โจทก์ได้รับโอนประทานบัตรในการทำเหมืองแร่เลขที่ 9597/7450 มาจากบริษัทไชมิสทิน ซินดิเกต จำกัดซึ่งเป็นคนต่างด้าวเมื่อปี 2514 โจทก์ได้ยึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา เห็นว่าแม้บริษัทไชมิสทิน ซินดิเกต จำกัด ซึ่งเป็นคนต่างด้าวจะได้ที่ดินพิพาทมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน แต่มิใช่ว่าการได้มาซึ่งที่ดินนั้นจะไม่มีผลเสียเลย กฎหมายเพียงแต่จำกัดสิทธิมิให้บริษัทไชมิสทิน ซินดิเกต จำกัด ซึ่งเป็นคนต่างด้าวนั้นถือสิทธิหรือใช้สิทธิในที่ดินที่ได้มาอย่างเจ้าของกรรมสิทธิไม่ได้และต้องจำหน่ายที่ดินนั้นไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 94เมื่อบริษัทไชมิสทิน ซินดิเกต จำกัด โอนสิทธิในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์ผู้รับโอนย่อมมีสิทธิในที่ดินนั้นโดยสมบูรณ์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทและมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองหรือไม่ คดีนี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยชัดแจ้งว่า โจทก์เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทด้วย โดยโจทก์ซื้อสิทธิครอบครองและสิทธิประโยชน์ทั้งหมด กล่าวคือสิทธิในกิจการเหมืองแร่และสิทธิในการครอบครองที่ดินจากบริษัทไชมิสทินซินเกต จำกัดและผู้มีชื่อคนอื่น ๆ โจทก์จึงมีสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวทั้งหมด ทั้งโจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์เพื่อตนเองมาโดยตลอดโดยได้สำรวจแร่และดำเนินกิจการเหมืองแร่ตามประทานบัตรและโจทก์ได้ทำสวนเกษตรโดยปลูกพืชผลต่าง ๆ ในที่ดินที่โจทก์ครอบครองทั้งหมดด้วย แสดงว่านอกจากจะเป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในการทำเหมืองแร่โดยรับโอนสิทธิตามประทานบัตรแล้วยังได้กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวโดยซื้อหรือรับโอนมาจากเจ้าของที่ดินเดิมอีกด้วย เห็นว่าสิทธิตามประทานบัตรซึ่งเป็นสิทธิในการทำเหมืองแร่นั้นเป็นสิทธิที่จะต้องบังคับตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 อันแตกต่างกับสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทซึ่งต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงเป็นสิทธิคนละส่วนแยกต่างหากจากกันได้หาใช่ว่าหากผู้ใดมีสิทธิตามประทานบัตรแล้ว จะไม่อาจมีสิทธิครอบครองในที่ดินตามประทานบัตรนั้นได้เลยไม่ มิฉะนั้นจะมีผลเป็นว่า ผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงใดโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แต่เดิมแล้ว หากต่อมาได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองแร่ในที่ดินแปลงดังกล่าวจะทำให้สิทธิครอบครองซึ่งมีอยู่เดิมก่อนแล้วต้องหมดสิ้นไปด้วย คดีนี้โจทก์มีนายประมูล เขียวหวาน ผู้รับมอบอำนาจโจทก์และเป็นหัวหน้าช่างแผนที่มีหน้าที่ระวังดูแลที่ดินของโจทก์เบิกความยืนยันว่า โจทก์ซื้อทั้งสิทธิครอบครองและสิทธิประโยชน์ในที่ดินรวมทั้งหมดจากบริษัทไซมิสทินซินดิเกต จำกัดมาตั้งแต่ปี 2514 และมีนายประชา ศิริรัตน์ หัวหน้าคนงานมีหน้าที่ดูแลพืชผลของโจทก์เบิกความสนับสนุนว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทโดยปักเสาคอนกรีตและขึงลวดหนามล้อมรอบอาณาบริเวณที่ดินที่โจทก์เคยทำเหมืองแร่ และปลูกพืชผลอาสิน เช่นต้นมะม่วงหิมพานต์ ต้นยูคาลิปตัส ต้นเงาะ และต้นทุเรียน เป็นการแสดงความเป็นเจ้าของมาโดยตลอด เมื่อปี 2534 จำเลยที่ 1 ขอปลูกบ้านในที่ดินของโจทก์ และต่อมาได้ให้จำเลยที่ 2เข้าไปปลูกบ้านอาศัยในที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นกลับเป็นพยานโจทก์เบิกความรับว่าทำสัญญากับโจทก์ขออยู่อาศัยในที่ดินพิพาทและจำเลยที่ 2 คงกล่าวอ้างและนำสืบลอย ๆ ว่า จำเลยที่ 2ไม่ได้อาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 ปลูกบ้านในที่ดินพิพาทโดยไม่มีพยานอื่นสนับสนุนให้ฟังได้เป็นจริงเช่นนั้น นอกจากนี้ยังปรากฏตามสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับบริษัทไซมิสทิน ซินดิเกตจำกัด เอกสารหมาย จ.1 ข้อ 1. ระบุว่า ผู้ขายจะขายและผู้ซื้อ(โจทก์) จะซื้อที่ดินกรรมสิทธิ์และผลประโยชน์ทั้งหมดในที่ดินแปลงเหนือดังกล่าวนี้และตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งเป็นบันทึกการที่โจทก์ได้รับเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.1ก็ระบุว่า โจทก์ได้รับหนังสือสำคัญซื้อขายที่ดินที่เจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมขายให้บริษัทแอลลูเวียลทิน (สยาม) จำกัดและเจ้าของแต่ละรายได้รับเงินค่าที่ดินไปเรียบร้อยแล้วรวมทั้งที่ดินของนายเยื้อง สงวนนาม นายสว่าง สงเคราะห์นางละแม้น จงกี่แห้ง นางสุดา สหัสสานนท์ ขุนบริรักษ์โลหวิสัยนายไป๋ จุลเขตร์ และนายเกียด ว่าวทอง แม้ตามบันทึกดังกล่าวจะมีข้อความว่า เจ้าของที่ดินเดิมได้แจ้งแก่นายอำเภอให้ทราบว่าเจ้าของที่ดินเดิมแต่ละรายที่ยื่นแบบแจ้งการครอบครองไว้นั้นได้โอนสิทธิครอบครองในที่ดินแต่ละรายให้แก่ผู้อื่นไปแล้วเท่านั้นหากจะถือว่าข้อความดังกล่าวเป็นการสละสิทธิครอบครองก็เป็นการสละสิทธิครอบครองเพราะได้โอนไปให้แก่บุคคลอื่นแล้ว โดยตนเองมิได้ยึดถือครอบครองเพื่อตนอีกต่อไป หาใช่ว่าเป็นการสละสิทธิครอบครองอันจะมีผลทำให้ที่ดินดังกล่าวกลับกลายสภาพเป็นที่รกร้างว่างเปล่าแต่อย่างใดไม่ ทั้งได้ความชัดแจ้งว่า การที่เจ้าของที่ดินเหล่านี้สละสิทธิครอบครองในที่ดินของตนก็เพื่อโอนให้บริษัทแอลลูเวียลทิน (สยาม) จำกัด เพื่อนำไปขอประทานบัตรที่ดินพิพาทและที่ดินบริเวณดังกล่าวตามประทานบัตรของโจทก์ซึ่งรับโอนมาจากบริษัทไซมิสทิน ซินดิเกต จำกัดผู้รับโอนมาจากบริษัทแอลลูเวียลทิน (สยาม) จำกัด อีกต่อหนึ่งจึงมิใช่ที่ว่างตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 4แต่ประการใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีผู้สิทธิครอบครองได้โอนการครอบครองติดต่อกันมาจนถึงโจทก์ซึ่งรับโอนทั้งสิทธิครอบครองและสิทธิตามประทานบัตรจากบริษัทไซมิสทิน ซินดิเกต จำกัด และได้ความว่าโจทก์ได้ยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1367 แม้ประทานบัตรของโจทก์หมดอายุแล้วก็หามีผลทำให้โจทก์สิ้นสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสิทธิคนละส่วนกันแต่อย่างใดไม่ การที่โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองส่งมอบที่ดินพิพาทคืนโจทก์ แต่จำเลยทั้งสองและบริวารยังขืนอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไปโดยไม่ยอมส่งมอบคืนโจทก์ จึงเป็นการรบกวนการครอบครองอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารให้ออกไปจากที่ดินพิพาทได้
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองและบริวารรื้อถอนโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ตามฟ้อง และห้ามจำเลยทั้งสองกับบริวารเกี่ยวข้องอีกต่อไป