แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บริษัทที่จำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการประกอบธุรกิจขายรถจักรยานยนต์เพื่อการนำรถจักรยานยนต์ออกตั้งและแสดงแก่ประชาชนเพื่อขายในเวลากลางวันและนำรถเข้าเก็บในร้านในเวลากลางคืนย่อมเป็นกิจปกติที่ผู้มีอาชีพเช่นนั้นพึงกระทำเป็นประจำต่อเนื่องกันทุกวันดังนั้น การที่จำเลยนำรถจักรยานยนต์เข้าไปจอดและตั้งแสดงบนที่ดินของโจทก์ร่วมที่อยู่ติดกับร้านขายรถจักรยานยนต์ของจำเลยเพื่อขายในเวลากลางวันและนำเข้าเก็บรักษาในร้านในเวลากลางคืน เมื่อตามสภาพบังคับให้จำเลยต้องเคลื่อนย้ายรถจักรยานยนต์ออกไปจากที่ดินของโจทก์ร่วมเป็นการชั่วคราวเพื่อจำเลยจะได้นำเข้าไปตั้งแสดงใหม่ในวันรุ่งขึ้นด้วยจุดประสงค์เดียวกันกับที่ได้กระทำมาแล้วในครั้งแรกหากการกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นความผิดฐานบุกรุกตามที่โจทก์ฟ้อง ก็เป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายในฐานความผิดเดียวกันโดยผู้กระทำผิดคนเดียวกัน และมีจุดประสงค์ในการกระทำความผิดเป็นอย่างเดียวกัน แม้จะมีการกระทำหลายครั้งแต่การกระทำเหล่านั้นก็เป็นเพียงการกระทำที่ยืดออกไปจากการกระทำความผิดครั้งแรกและเป็นเพียงผลของการบุกรุกที่ได้กระทำสำเร็จไปแล้ว หาใช่เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกันแยกออกไปต่างหากไม่ ต้องถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกระทงเดียวนับแต่การกระทำความผิดครั้งแรกสำเร็จลง เมื่อความผิดฐานบุกรุกตามที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมซี่งเป็นผู้เสียหายได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2536 แต่โจทก์ร่วมเพิ่งร้องทุกข์เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2537 พ้นกำหนด 3 เดือนแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๗ ถึงวันที่ ๒๕ตุลาคม ๒๕๓๗ เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยบุกรุกเข้าไปในที่ดินซึ่งเป็นของบริษัทสหไทยชัยกิจ จำกัด ผู้เสียหายโดยจำเลยนำรถจักรยานยนต์จำนวนมากเข้าไปจอดเรียงกันเป็นแถวในที่ดินของผู้เสียหายเพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวล-กฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น บริษัทสหไทยชัยกิจ จำกัดผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ โดยอัยการสูงสุดกับผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทนครหลวงคอมเมอร์เชียลจำกัด มีกิจการเกี่ยวกับการขายรถจักรยานยนต์จำเลยได้นำรถจักรยานยนต์จำนวนหลายคันไปจอดบนที่ดินของโจทก์ร่วมซึ่งอยู่ติดกับร้านขายรถจักรยานยนต์ของบริษัทเพื่อขายและแสดงแก่ประชาชนทั่วไปเฉพาะในเวลากลางวันทุกวันเว้นวันหยุดราชการ ส่วนเวลากลางคืนจำเลยจะขนย้ายรถจักรยานยนต์เข้าจอดเก็บไว้ในร้านของบริษัทเป็นประจำ โจทก์ร่วมเคยมีหนังสือห้ามมิให้กรรมการและบริษัทดังกล่าวนำรถจักรยานยนต์เข้าไปจอดบนที่ดินของโจทก์ร่วมเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๓๖ แต่จำเลยยังนำรถจักรยานยนต์เข้าจอดเป็นประจำตลอดมาวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๓๗ โจทก์ร่วมจึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมตามเอกสารหมาย จ.๔ ดังนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันและคดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า บริษัทที่จำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการอยู่ประกอบธุรกิจขายรถจักรยานยนต์ การนำรถจักรยานยนต์ออกตั้งและแสดงแก่ประชาชนเพื่อขายในเวลากลางวันและนำรถเข้าเก็บในร้านในเวลากลางคืนย่อมเป็นกิจปกติที่ผู้มีอาชีพเช่นนั้นพึงกระทำเป็นประจำต่อเนื่องกันทุกวันเหตุนี้ที่จำเลยนำรถจักรยานยนต์เข้าไปจอดและตั้งแสดงบนที่ดินของโจทก์ร่วมที่อยู่ติดกับร้านขายรถจักรยานยนต์ของจำเลยเพื่อขายในเวลากลางวันและนำเข้าเก็บรักษาในร้านในเวลากลางคืนตามสภาพบังคับให้ต้องเคลื่อนย้ายรถจักรยานยนต์ออกไปจากที่ดินของโจทก์ร่วมเป็นการชั่วคราวเพื่อจะได้นำเข้าไปตั้งแสดงใหม่ในวันรุ่งขึ้นด้วยจุดประสงค์เดียวกันกับที่ได้กระทำมาแล้วในครั้งแรกอีก หากการกระทำดังกล่าวของจำเลยจะเป็นความผิดฐานบุกรุกตามที่โจทก์ฟ้องก็เป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายในฐานความผิดเดียวกันโดยผู้กระทำผิดคนเดียวกัน และมีจุดประสงค์ในการกระทำความผิดเป็นอย่างเดียวกัน แม้จะมีการกระทำหลายครั้งแต่การกระทำเหล่านั้นก็เป็นเพียงการกระทำที่ยืดออกไปจากการกระทำความผิดครั้งแรกและเป็นเพียงผลของการบุกรุกที่ได้กระทำสำเร็จไปแล้ว หาใช่เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกันแยกออกไปต่างหากไม่ ต้องถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกระทงเดียวนับแต่การกระทำความผิดครั้งแรกสำเร็จลง เมื่อความผิดฐานบุกรุกตามที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๓๖ แต่โจทก์ร่วมเพิ่งร้องทุกข์เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๓๗พ้นกำหนด ๓ เดือนแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
พิพากษายืน.