คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2588/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยวางตาโต่งไว้ในคลองที่เกิดเหตุมาเป็นเวลานานประมาณ 10 ปีแล้ว การวางตาโต่งดังกล่าวต้องผูกกับฐานไม้ขนาดใหญ่ที่ปักอยู่ในน้ำซึ่งสูงพ้นผิวน้ำประมาณ 10 เมตรซึ่งชาวบ้านที่ไปใช้ท่าน้ำสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนตาโต่งอยู่ห่างจากท่าน้ำที่ชาวบ้านและเด็กลงอาบน้ำและตักน้ำไปใช้ประมาณ 30 เมตร ชาวบ้านไปใช้ท่าน้ำดังกล่าวตลอดมาแต่ไม่เคยมีผู้ใดได้รับอันตรายจากตาโต่งดังกล่าวในการใช้น้ำและอาบน้ำตามปกติวิสัยมาก่อน เพราะในบริเวณท่าน้ำนั้นน้ำไหลไม่แรงสามารถลงอาบน้ำได้โดยปลอดภัย หากผู้ตายทั้งสองเล่นน้ำอยู่ในบริเวณท่าน้ำก็จะไม่ตกลงไปในตาโต่งถึงแก่ความตายเนื่องจากอยู่ห่างพอสมควร ผู้ตายทั้งสองก็ ทราบดีถึงการติดตั้งตาโต่งอันเกิดเหตุประกอบกับการตกตาโต่งของผู้ตายมิใช่ลงอาบน้ำหรือเล่นน้ำที่ท่าน้ำแล้วตกลงไปในตาโต่ง แต่เหตุเกิดเนื่องจากผู้ตายนั่งห่วงยางเล่นน้ำแล้วห่วงยางไหลไปกระทบกับเสาตาโต่งเป็นเหตุให้ผู้ตายตกลงไปในตาโต่งโดยผู้ตายปราศจากความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ ซึ่งเป็นความประมาทของผู้ตายเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตาโต่งที่จำเลยวางเพื่อดักปลามิใช่ทรัพย์ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้โดยสภาพ อีกทั้งการที่ผู้ตายตกลงไปในตาโต่งจนถึงแก่ความตายก็มิใช่ผลโดยตรงอันเกิดจากการกระทำของจำเลย แม้จำเลยมิได้ทำสัญญาณเครื่องหมายแสดงว่ามีการลงอวน ตาโต่งเครื่องมือทำประมงหรือทำสิ่งกีดกั้นป้องกันไว้ก็ตาม การกระทำของจำเลยก็ไม่มีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนำตาโต่งซึ่งเป็นเครื่องมือทำการประมงไปวางขวางกั้นจมอยู่ใต้น้ำในทางเดินของสัตว์น้ำที่ลำคลองพระสทึงเพื่อจับสัตว์น้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต และโดยประมาทไม่ทำเครื่องหมายหรือเครื่องป้องกันไว้ เป็นเหตุให้เด็กชายโอ๋ จันทร์เจริญ และเด็กชายพงษ์ศักดิ์ เขามะหิงหรือเขามะหิงษ์ผู้ตายทั้งสองซึ่งลงเล่นอาบน้ำถูกกระแสน้ำพัดพาเข้าในตาโต่งดังกล่าวจนถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291, 91, 33 พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490มาตรา 4, 6, 16, 22, 62, 69 และริบตาโต่งของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 มาตรา 22 วรรคแรก, 62 ปรับ 10,000 บาทริบของกลาง คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 จำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสองถึงแก่ความตายหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยวางตาโต่งไว้ในคลองพระสะทึงที่เกิดเหตุมาเป็นเวลานานประมาณ 10 ปีแล้วเมื่อพิจารณาดูลักษณะตาโต่งที่เกิดเหตุแล้วจะเห็นได้ว่าการวางตาโต่งดังกล่าวต้องผูกกับฐานไม้ขนาดใหญ่ที่ปักอยู่ในน้ำซึ่งสูงพ้นผิวน้ำประมาณ 10 เมตร ซึ่งชาวบ้านที่ไปใช้ท่าน้ำสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน และปรากฏว่าตาโต่งห่างจากท่าน้ำที่ชาวบ้านและเด็กลงอาบน้ำและตักน้ำไปใช้ประมาณ 30 เมตร ชาวบ้านไปใช้ท่าน้ำดังกล่าวตลอดมา แต่ไม่เคยมีผู้ใดได้รับอันตรายจากตาโต่งดังกล่าวในการใช้น้ำและอาบน้ำตามปกติวิสัยมาก่อน เพราะในบริเวณท่าน้ำนั้นน้ำไหลไม่แรงสามารถลงอาบน้ำได้โดยปลอดภัยหากผู้ตายทั้งสองเล่นน้ำอยู่ในบริเวณท่าน้ำก็จะไม่ตกลงไปในตาโต่งถึงแก่ความตายเนื่องจากอยู่ห่างพอสมควร อีกทั้งชาวบ้านรวมทั้งผู้ตายทั้งสองก็ทราบดีถึงการติดตั้งตาโต่งอันเกิดเหตุประกอบกับการตกตาโต่งของผู้ตายทั้งสองมิใช่ลงอาบน้ำหรือเล่นน้ำที่ท่าน้ำแล้วตกลงไปในตาโต่ง แต่เหตุเกิดเนื่องจากผู้ตายทั้งสองนั่งห่วงยางเล่นน้ำแล้วห่วงยางไหลไปกระทบกับเสาตาโต่งเป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสองตกลงไปในตาโต่ง โดยผู้ตายทั้งสองปราศจากความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ ซึ่งเป็นความประมาทของผู้ตายเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตาโต่งที่จำเลยวางเพื่อดักปลามิใช่ทรัพย์ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้โดยสภาพดังนั้น การที่จำเลยวางตาโต่งเพื่อทำการประมงในคลองสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตจึงเป็นเพียงความผิดต่อพระราชบัญญัติการประมงพ.ศ. 2490 เท่านั้น อีกทั้งการที่ผู้ตายทั้งสองตกลงไปในตาโต่งจนถึงแก่ความตายก็มิใช่ผลโดยตรงอันเกิดจากการกระทำของจำเลยแม้จำเลยมิได้ทำสัญญาณเครื่องหมายแสดงว่ามีการลงอวนตาโต่งเครื่องมือทำประมงหรือทำสิ่งกีดกั้นป้องกันไว้ก็ตาม การกระทำของจำเลยก็ไม่มีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสองถึงแก่ความตาย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share