คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 815/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ออกจากงานได้รับเงินผลประโยชน์ ซึ่งคำนวณตามกฎข้อบังคับว่าด้วยโครงการกองทุนผลประโยชน์ เมื่อออกจากงานของจำเลยข้อ 12(3)ไปแล้ว โดยต้องหักด้วยจำนวนเงินเท่ากับค่าชดเชยตามกฎหมายออกเสียก่อน ตามข้อ 15(1)(ข) เหลือเท่าใดจึงจ่ายให้แก่ลูกจ้างผู้เป็นสมาชิกตามข้อ 12(1) เช่นนี้ เงินผลประโยชน์ที่โจทก์รับไปนั้นจึงมีค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานรวมอยู่ด้วยครบถ้วนแล้ว หาใช่มีเพียงเงินผลประโยชน์เพียงประเภทเดียวไม่
การที่นายจ้างกับลูกจ้างตกลงกันว่า จำนวนเงินผลประโยชน์ที่ลูกจ้างจะได้รับให้หักด้วยจำนวนเงินเท่ากับค่าชดเชยตามกฎหมายออกเสียก่อน เป็นการตกลงกันในเรื่องเงินผลประโยชน์โดยเฉพาะ ไม่เป็นการหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชย ข้อตกลงดังกล่าวจึงใช้บังคับได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องใจความทำนองเดียวกันว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ เพราะเหตุครบเกษียณอายุตามระเบียบของจำเลย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์แต่ละสำนวนพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การทั้งสองสำนวนทำนองเดียวกันว่า เมื่อโจทก์ออกจากงานจำเลยได้จ่ายเงินผลประโยชน์และค่าชดเชยตามกฎหมายให้โจทก์รับไปแล้ว เงินผลประโยชน์ที่จำเลยจ่ายให้โจทก์แต่ละสำนวน เมื่อออกจากงานตามกฎข้อบังคับว่าด้วยโครงการกองทุนผลประโยชน์เมื่อออกจากงานของบริษัทจำเลย ข้อ ๑๒(๓) โดยจ่ายให้เท่ากับระยะเวลาการทำงานของโจทก์คูณด้วยอัตราผลประโยชน์แล้วคูณด้วยเงินเดือนครั้งสุดท้ายหักด้วยเงินชดเชยตามที่ระบุไว้ในกฎข้อบังคับดังกล่าวข้อ ๑๕(๑)(ข) ส่วนเงินชดเชยคือ เงินเดือนครั้งสุดท้ายที่โจทก์แต่ละสำนวนได้รับคูณด้วย ๖ และกฎข้อบังคับดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นจากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างจำเลยกับลูกจ้างของจำเลยตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ จึงชอบด้วยกฎหมายเมื่อโจทก์ทั้งสองสำนวนได้รับเงินผลประโยชน์และเงินชดเชยไปถูกต้องเรียบร้อยมีจำนวนสูงกว่าค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานแล้ว จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยซ้ำอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ได้ความว่าเมื่อโจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ได้รับเงินซึ่งคำนวณตามกฎข้อบังคับว่าด้วยโครงการกองทุนผลประโยชน์เมื่อออกจากงานของจำเลยข้อ ๑๒(๓) ไปแล้วเป็นเงิน ๑,๒๘๗,๕๓๗.๙๐ บาท และ ๖๙๐,๔๒๓.๔๑ บาท ตามลำดับมีปัญหาว่าเงินที่โจทก์ทั้งสองรับไปมีค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานรวมอยู่ด้วยแล้วหรือไม่ พิเคราะห์แล้วกฎข้อบังคับว่าด้วยโครงการกองทุนผลประโยชน์ เมื่อออกจากงานของจำเลยข้อ ๑๒ กำหนดว่า “(๑) ในกรณีที่สมาชิกออกจากงาน (นอกเหนือไปจากการตายของสมาชิกในระหว่างทำงานหรือถูกไล่ออกจากงานของบริษัทเนื่องจากกระทำความผิดร้ายแรง) ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากกองทุนนี้จะต้องคิดคำนวณตามความในข้อนี้ (ทั้งนี้โดยยอมให้มีการหักเงินออกได้ตามข้อ ๑๕) และจำนวนที่เหลือนั้นจะต้องจ่ายให้แก่สมาชิกดังกล่าว (๒) ฯลฯ” ข้อ ๑๕ กำหนดว่า”(๑) เงินที่จะต้องหักออกจากเงินผลประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับก็คือ ยอดรวมของเงินจำนวนต่าง ๆ ดังกล่าวต่อไปนี้ (ก) ฯลฯ (ข) เงินผลประโยชน์หรือเงินอื่น ๆ ที่จ่ายไปแล้วหรือที่จะต้องจ่าย โดยบริษัทผู้จ้างหรือหน่วยงานอื่นใด เวลาต่อไปอันเกิดมีขึ้นตามสัญญาหรือข้อตกลงร่วมที่ทำกับสหภาพแรงงานใด ๆ หรือตามโครงการของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐบาลอันเกี่ยวกับเงินประโยชน์หรือเงินบำนาญเมื่อออกจากงาน หรือตามพันธะใด ๆ ทางกฎหมายที่จะต้องจ่ายเงินชดเชยตามอายุงานเพราะเหตุใด ๆ ก็ตาม ฯลฯ” ดังนี้หมายความว่า เงินผลประโยชน์ที่คำนวณได้ตามข้อ ๑๒(๓) นั้นต้องหักด้วยจำนวนเงินเท่ากับค่าชดเชยตามกฎหมายออกเสียก่อนตามข้อ ๑๕(๑)(ข) เหลือเท่าใดจึงจ่ายให้แก่ลูกจ้างผู้เป็นสมาชิกกองทุนตามข้อ ๑๒(๑) โจทก์ที่ ๑ มีสิทธิได้รับเงินผลประโยชน์คำนวณตามข้อ ๑๒(๓) เป็นเงิน๑,๒๘๗,๕๓๗.๙๐ บาท เมื่อหักด้วยจำนวนเงินเท่ากับค่าชดเชยที่โจทก์ที่ ๑ มีสิทธิได้รับตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน เป็นเงิน ๑๑๗,๓๙๐ บาทแล้วคงมีสิทธิได้รับเงินผลประโยชน์สุทธิ เป็นเงิน ๑,๑๗๐,๑๔๗.๙๐ บาท โจทก์ที่ ๒ มีสิทธิได้รับเงินผลประโยชน์คำนวณตามข้อ ๑๒(๓) เป็นเงิน ๖๙๐,๔๒๓.๔๑ บาท เมื่อหักด้วยจำนวนเงินเท่ากับค่าชดเชยที่โจทก์ที่ ๒ มีสิทธิได้รับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน เป็นเงิน๗๕,๖๖๐ บาทแล้ว คงมีสิทธิได้รับผลประโยชน์สุทธิเป็นเงิน ๖๑๔,๗๖๓.๔๑ บาท แต่ปรากฏว่าโจทก์ที่ ๑ ได้รับเงินจากจำเลยไปแล้วจำนวน ๑,๒๘๗,๕๓๗.๙๐ บาท และโจทก์ที่ ๒ ได้รับเงินจากจำเลยไปแล้วจำนวน ๖๙๐,๔๒๓.๔๑ บาท ฉะนั้นเงินที่โจทก์ทั้งสองได้รับไปจึงมีค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน รวมอยู่ครบถ้วนแล้ว หาใช่มีเพียงเงินผลประโยชน์ประเภทเดียวดังโจทก์อุทธรณ์ไม่ ที่โจทก์อ้างว่ากฎข้อบังคับว่าด้วยโครงการกองทุนผลประโยชน์เมื่อออกจากงานของจำเลยเป็นข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเพื่อหลักเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีวัตถุประสงค์ที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยจึงขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานไม่มีผลผูกพันโจทก์นั้น เห็นว่า เงินผลประโยชน์ตามกฎข้อบังคับว่าด้วยโครงการกองทุนผลประโยชน์เมื่อออกจากงานของจำเลยเป็นเงินที่จำเลยตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างนอกเหนือไปจากที่นายจ้างต้องจ่ายตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน จำเลยกับลูกจ้างจะตกลงกันให้จ่ายหรือไม่ และถ้าจ่ายจะจ่ายด้วยวิธีการและหลักเกณฑ์อย่างใดก็แล้วแต่จะตกลงกัน การที่จำเลยกับลูกจ้างตกลงกันกำหนดกฎข้อบังคับขึ้นว่า จำนวนเงินผลประโยชน์ที่ลูกจ้างจะพึงได้รับให้หักด้วยจำนวนเงินเท่ากับค่าชดเชยตามกฎหมายออกเสียก่อน เป็นการตกลงกันในเรื่องเงินผลประโยชน์โดยเฉพาะไม่เป็นการหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชยจึงใช้บังคับได้ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสองได้รับค่าชดเชยไปแล้วไม่มีสิทธิเรียกร้องซ้ำอีกและพิพากษายกฟ้องศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน

Share