คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 815/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรค 1 วางหลักให้พิจารณาความผิดของจำเลยและลงโทษตามกฎหมายในขณะที่จำเลยกระทำการอันถูกกล่าวหานั้นและแม้ว่าได้มีการยกเลิกกฎหมายนั้นเสียแล้วมาตรา 2 วรรค 2 และมาตรา 3 ก็ให้พิจารณาใช้กฎหมายใหม่เฉพาะแต่เมื่อเป็นคุณแก่จำเลยเท่านั้น ถ้ากฎหมายใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย ก็ยังใช้กฎหมายเก่าบังคับคดี
อัยการมีอำนาจขอให้ศาลสั่งทำลายต้นยางพาราซึ่งปลูกใหม่โดยมิได้รับอนุญาตและขอให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายในการทำลายนั้นได้ตามพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ.2481 มาตรา 15 คำขอเช่นว่านี้เป็นคำขอทางอาญา หาใช่คำขอทางแพ่งไม่

ย่อยาว

คดีนี้ ได้ความตามฟ้องและคำรับสารภาพของจำเลยว่า เมื่อระหว่างวันที่ 1 กันยายน ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2502 เวลากลางวันและกลางคืนจำเลยบังอาจแผ้วถางป่าเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ และบังอาจตัดฟันไม้หวงห้าม15 ต้นโดยมิได้รับอนุญาต ทั้งบังอาจเข้ายึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ และปลูกยางพาราใหม่ประมาณ 1,000 ต้นโดยมิได้รับอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์ขอให้ลงโทษ ซึ่งรวมทั้งพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 11, 16, 17 ด้วย แต่ให้ลงโทษจำเลยฐานแผ้วถางป่าตัดฟันไม้หวงห้ามตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 73 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2494 มาตรา 17 ซึ่งเป็นบทหนักและเป็นคุณแก่จำเลย ให้จำคุก 1 เดือน 10 วัน กับปรับ 250 บาท ลงโทษฐานยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ปรับ 300 บาท และฐานปลูกยางใหม่ไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 500 บาท รวมเป็นจำคุก 1 เดือน 10 วัน ปรับ 1,050 บาท ปราณีลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 20 วัน กับปรับ 525 บาท แต่ให้รอโทษจำคุกไว้มีกำหนด 1 ปี ส่วนที่โจทก์ขอให้สั่งทำลายต้นยางที่ปลูกใหม่โดยฝ่าฝืนกฎหมายและให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย ให้ยกเสีย

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่าจำเลยไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2503 มาตรา 11, 16, 17 และพิพากษาแก้ให้ทำลายต้นยางที่ปลูกใหม่เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรค 1 ได้วางหลักว่า ให้พิจารณาความผิดของจำเลยและลงโทษจำเลยตามกฏหมายในขณะที่จำเลยกระทำการอันถูกกล่าวหานั้น และแม้ถึงว่าได้มีการยกเลิกกฎหมายนั้นเสียแล้วมาตรา 2 วรรค 2 และมาตรา 3 ก็ให้พิจารณาใช้กฎหมายใหม่เฉพาะแต่เมื่อเป็นคุณแก่จำเลยเท่านั้น ถ้ากฎหมายใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย ก็ยังให้ใช้กฎหมายเก่าบังคับคดีเพราะมาตรา 2 วรรค 1 ก็ดี หรือมาตรา 3 ก็ดี คงรับรองให้ใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำการอันเป็นความผิด (หรือกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลย)นั้นอยู่ ฉะนั้น ในคดีนี้เมื่อพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 เป็นกฎหมายใหม่และไม่เป็นคุณแก่จำเลย ซึ่งตามหลักดังกล่าวข้างต้นศาลจะต้องพิจารณาลงโทษจำเลยตามกฎหมายเก่า กรณีก็ไม่อาจเป็นดังที่โจทก์อ้างว่ากฎหมายเก่าได้ถูกยกเลิกเสียแล้วถ้าศาลไม่พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 11, 16, 17 จะลงโทษจำเลยไม่ได้ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ตามประเด็นข้อ 2 เห็นว่าพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2481 มาตรา 15 ได้บัญญัติเรื่องทำลายต้นยางและเรื่องออกค่าใช้จ่ายไว้เป็นเรื่องเดียวกัน การบังคับให้เสียค่าใช้จ่ายย่อมเป็นวิธีการส่วนหนึ่งของการบังคับให้ทำลายต้นยาง ต้องบังคับควบคู่กันไปมิฉะนั้นจะบังคับให้การทำลายต้นยางเป็นผลสมบูรณ์ไม่ได้จึงจะแยกคำขอให้เสียค่าใช้จ่ายดังกล่าวออกมาว่าเป็นคำขอทางแพ่งหาได้ไม่ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น

พิพากษาแก้ ให้ทำลายต้นยางที่จำเลยปลูกใหม่โดยการฝ่าฝืนนั้นและให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายตามพระราชบัญญัติควบคุมยางพ.ศ. 2481 มาตรา 15 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share