คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8143/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลอุทธรณ์ จำเลยก็ยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225 จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ใช้มีดฟันทำร้ายพวกผู้เสียหายทั้งสองในลักษณะที่กระทำต่อเนื่องไปคราวเดียวกัน มีลักษณะของการทำร้ายโดยเจตนาทำร้ายผู้เสียหายทุกคนเพราะผู้เสียหายทั้งสองกับพวกอีกสองคนยืนรวมกลุ่มอยู่ด้วยกัน บังเอิญว่าผู้เสียหายทั้งสองยืนหันหลังให้จึงถูกทำร้าย ข้อเท็จจริงไม่อาจแบ่งแยกว่าจำเลยเจตนาทำร้ายหรือไม่ทำร้ายบุคคลใด จึงมีลักษณะของเจตนาในการกระทำความผิดเป็นอันเดียวแม้จะกระทำหลายหนต่อหลายบุคคลก็อยู่ภายในเจตนาอันเดียวนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียว เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่า ขณะที่จำเลยเข้าฟันผู้เสียหายทั้งสอง พ.และ ค.พวกของผู้เสียหายทั้งสองยืนอยู่ต่างหาก มิได้นั่งรวมอยู่บนรถจักรยานยนต์กับผู้เสียหายทั้งสอง เสร็จจากฟันผู้เสียหายที่ 2 แล้ว จำเลยวิ่งหนีไป หาได้ปรากฏว่าจำเลยมุ่งเข้ากระทำต่อ พ.หรือ ค.ต่อไปอีกไม่ ทั้งที่ไม่ปรากฏผู้เข้าขัดขวาง แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยว่ามุ่งประสงค์จะทำร้ายเฉพาะผู้เสียหายทั้งสองเท่านั้น ผู้เสียหายทั้งสองนั่งอยู่บนรถจักรยานยนต์คนละคัน จำเลยฟันผู้เสียหายที่ 1 ก่อน แล้วจึงตรงเข้าฟันผู้เสียหายที่ 2 แสดงว่าในการฟันของจำเลยแต่ละครั้งความประสงค์และจุดมุ่งหมายในการฟันของจำเลยได้แยกออกจากกันว่าการฟันครั้งใดจำเลยประสงค์จะฟันผู้เสียหายคนใด มิใช่ฟันในขณะที่มีการชุลมุนกัน เจตนาในการทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองขณะจำเลยลงมือกระทำความผิดจึงแยกออกจากกันได้ความต้องการให้ผู้เสียหายทั้งสองได้รับบาดเจ็บแม้จะเกิดขึ้นในใจของจำเลยพร้อม ๆ กัน และต่อเนื่องกับการลงมือกระทำความผิด ก็มิใช่เจตนาในขณะที่จำเลยลงมือกระทำความผิด การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นความผิดสองกรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๔๒ เวลากลางคืน ก่อนเที่ยงจำเลยใช้มีดปลายแหลมเป็นอาวุธฟันประทุษร้ายร่างกายนายชุมพล นาหนอง ผู้เสียหายที่ ๑ ถูกที่บริเวณสะบักขวาด้านหลัง เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย หลังจากนั้นจำเลยใช้มีดดังกล่าวเป็นอาวุธฟันประทุษร้ายร่างกายนายนิรันต์ จำเริญสุข ผู้เสียหายที่ ๒ถูกที่บริเวณต้นแขนขวาและหัวเข่าขวาเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕, ๙๑
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๕ รวม ๒ กระทง เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑จำคุกกระทงละ ๓ เดือน รวมจำคุก ๖ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ผู้เสียหายทั้งสองถูกคนร้ายใช้อาวุธมีดปลายแหลมฟันทำร้ายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ.๑ และ จ.๒
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคงฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดจริงตามฟ้อง และตามพฤติการณ์แห่งคดีเป็นการที่จำเลยทำตัวเยี่ยงนักเลงประจำหมู่บ้าน ก่ออันตรายแก่ประชาชนโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษให้นั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ว่าจำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลอุทธรณ์ภาค ๓จำเลยก็ยกขึ้นฎีกาในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕ จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ใช้มีดฟันทำร้ายพวกผู้เสียหายทั้งสอง ในลักษณะที่กระทำต่อเนื่องไปคราวเดียวกัน มีลักษณะของการทำร้ายโดยเจตนาทำร้ายผู้เสียหายทุกคนเพราะผู้เสียหายทั้งสองกับพวกอีกสองคนยืนรวมกลุ่มอยู่ด้วยกันบังเอิญว่าผู้เสียหายทั้งสองยืนหันหลังให้จึงถูกทำร้าย ข้อเท็จจริงไม่อาจแบ่งแยกว่าจำเลยเจตนาทำร้ายหรือไม่ทำร้ายบุคคลใด จึงมีลักษณะของเจตนาในการกระทำความผิดเป็นอันเดียว แม้จะกระทำหลายหนต่อหลายบุคคลก็อยู่ภายในเจตนาอันเดียวนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียว เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่า ขณะที่จำเลยเข้าฟันผู้เสียหายทั้งสองนั้น นายพิจิตร ตันสอน และนายคำพองตันสอน พวกของผู้เสียหายทั้งสองยืนอยู่ต่างหาก มิได้นั่งรวมอยู่บนรถจักรยานยนต์กับผู้เสียหายทั้งสอง เสร็จจากฟันผู้เสียหายที่ ๒ แล้ว จำเลยวิ่งหนีไป หาได้ปรากฏว่าจำเลยมุ่งเข้ากระทำต่อนายพิจิตรหรือนายคำพองต่อไปอีกไม่ ทั้งที่ไม่ปรากฏผู้เข้าขัดขวางแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยว่ามุ่งประสงค์จะทำร้ายเฉพาะผู้เสียหายทั้งสองเท่านั้นผู้เสียหายทั้งสองนั่งอยู่บนรถจักรยานยนต์คนละคัน จำเลยฟันผู้เสียหายที่ ๑ ก่อน แล้วจึงตรงเข้าฟันผู้เสียหายที่ ๒ แสดงว่าในการฟันของจำเลยแต่ละครั้ง ความประสงค์และจุดมุ่งหมายในการฟันของจำเลยได้แยกออกจากกันว่าการฟันครั้งใด จำเลยประสงค์จะฟันผู้เสียหายคนใด มิใช่ฟันในขณะที่มีการชุลมุนกัน เจตนาในการทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองขณะจำเลยลงมือกระทำความผิดจึงแยกออกจากกันได้ ความต้องการให้ผู้เสียหายทั้งสองได้รับบาดเจ็บแม้จะเกิดขึ้นในใจของจำเลยพร้อม ๆ กัน และต่อเนื่องกับการลงมือกระทำความผิดก็มิใช่เจตนาในขณะที่จำเลยลงมือกระทำความผิด การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นความผิดสองกรรม
พิพากษายืน.

Share