แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 98(2)หมายความว่า หากมีกรณีที่สมาชิกสหภาพแรงงานถูกบุคคลใดรวมทั้งนายจ้างกระทำการโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ทำให้สมาชิกสหภาพแรงงานได้รับความเสียหายสหภาพแรงงานย่อมมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลเพื่อประโยชน์แก่สมาชิกสหภาพแรงงานรายนั้นได้ทันที แต่ถ้าเป็นการฟ้องคดีในเรื่องที่อาจกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกเป็นส่วนรวมมาตรา 103(2) บัญญัติให้สหภาพแรงงานจะดำเนินการฟ้องศาลได้ต่อเมื่อมีมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกสหภาพแรงงาน
โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า ในระหว่างการเจรจาข้อเรียกร้องที่สหภาพแรงงานโจทก์ที่ 1 ยื่นต่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2มีคำสั่งโยกย้ายโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 31 เท่ากับโจทก์ทั้งสามกล่าวอ้างว่า โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นสมาชิกของโจทก์ที่ 1ถูกจำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิแล้ว โจทก์ที่ 1 ในฐานะเป็นสหภาพแรงงานย่อมมีอำนาจตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 98(2) ที่จะฟ้องศาลเพื่อประโยชน์ของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3ได้ทันทีโดยไม่ต้องมีมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกสหภาพแรงงานโจทก์ที่ 1 เนื่องจากเป็นการฟ้องคดีเพื่อประโยชน์ของสมาชิกเป็นการเฉพาะราย โจทก์ที่ 1 ย่อมมีอำนาจฟ้องในนามตนเองได้
บทบัญญัติตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มีเจตนารมณ์ให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการหรือสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการหรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง มิให้ถูกนายจ้างกลั่นแกล้งโดยการเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่ในระหว่างการเจรจาข้อเรียกร้อง การไกล่เกลี่ยหรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานเว้นแต่ที่บัญญัติไว้ใน (1) ถึง (4) ในขณะเดียวกันนายจ้างก็มีอำนาจในการบริหารและบังคับบัญชาลูกจ้าง ดังนั้น หากนายจ้างมีเหตุผลอื่นอันจำเป็นและสมควรในการบริหารนอกเหนือจากเหตุ 4 ประการนี้ซึ่งไม่ใช่เป็นการกลั่นแกล้งบุคคลดังกล่าว นายจ้างก็มีสิทธิที่จะยกเหตุนั้นเพื่อเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่บุคคลดังกล่าวในระหว่างการเจรจาข้อเรียกร้อง การไกล่เกลี่ย หรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานได้ หาเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 31 ไม่
จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 มีคำสั่งโยกย้ายหน้าที่โจทก์ที่ 2เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุร้ายแรง เนื่องจากโจทก์ที่ 2 พูดข่มขู่จะใช้อาวุธปืนยิงผู้จัดการสาขา และโยกย้ายหน้าที่โจทก์ที่ 3 ตามวาระโดยสุจริต เนื่องจากจำเลยที่ 1 มีนโยบายไม่ให้พนักงานทำงานประจำแต่ละสาขานานเกินไปเพื่อไม่ให้สนิทสนมคุ้นเคยกับลูกค้าซึ่งอาจเกิดการเอื้อประโยชน์และนำไปสู่การทุจริตขึ้นได้ ประกอบกับในช่วงเวลาเดียวกัน จำเลยที่ 1 มีคำสั่งโยกย้ายสับเปลี่ยนพนักงานถึง 1,000คนเศษ ทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน โจทก์ที่ 1และโจทก์ที่ 2 กับโจทก์ที่ 3 ไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาข้อเรียกร้องโดยตรง การที่จำเลยที่ 1 โยกย้ายหน้าที่โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 จึงไม่กระทบกระเทือนต่อการเจรจาข้อเรียกร้องและไม่เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ที่ 2 กับโจทก์ที่ 3 การที่จำเลยที่ 1ใช้อำนาจบริหารที่เหมาะสมและไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสองเพราะเหตุที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง แม้เหตุโยกย้ายโจทก์ที่ 2และโจทก์ที่ 3 ดังกล่าวข้างต้นจะไม่ใช่เหตุตาม (1) ถึง (4) ในมาตรา 31แต่ก็ถือได้ว่าเป็นเหตุอันจำเป็นและสมควร จำเลยที่ 1 มีสิทธิยกขึ้นเป็นเหตุโยกย้ายหน้าที่โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ได้ ไม่เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 31
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาธนาคารกสิกรไทยว่าโจทก์ที่ 1 นายเชิดชัย แสงสว่าง ว่าโจทก์ที่ 2 นายเกียรติพงษ์ บุญเพิ่ม ว่าโจทก์ที่ 3 บริษัทธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) ว่าจำเลยที่ 1 และนางอารณี ศุขะวณิช ว่าจำเลยที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทสหภาพแรงงาน โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 เป็นสมาชิกของโจทก์ที่ 1และเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2542 โจทก์ที่ 1ยื่นข้อเรียกร้องประจำปี 2542 ต่อจำเลยที่ 1 และได้มีการเจรจากันเรื่อยมา ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2542 และวันที่ 15 พฤศจิกายน2542 ขณะอยู่ระหว่างการเจรจา จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บริหารฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลได้มีคำสั่งโยกย้ายโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 31 โจทก์ที่ 1 ได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเพื่อคัดค้านการโยกย้ายดังกล่าวแล้วแต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 จึงมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1ฟ้องคดีแทน ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ยกเลิกคำสั่งย้ายและเปลี่ยนตำแหน่งพนักงานของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 26 ตุลาคม 2542 และฉบับลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2542 กับให้โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 กลับมาปฏิบัติงานที่สาขาเดิม
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากไม่มีมติที่ประชุมใหญ่ให้โจทก์ที่ 1 ฟ้องคดีนี้ ทั้งจำเลยที่ 1มีคำสั่งโยกย้ายโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 เป็นการย้ายหน้าที่การงานตามปกติ มิได้มีเจตนาที่จะขัดขวางมิให้โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้างกรรมการ อนุกรรมการหรือสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการ หรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงานซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3เป็นสมาชิกของโจทก์ที่ 1 ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเจรจาข้อเรียกร้องและยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าเทียมกันไม่ว่าจะทำงานอยู่ณ สาขาใด การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งย้ายโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 31 และไม่ทำให้โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ได้รับความเสียหายขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 1 มีเพียงอำนาจในการดำเนินคดีแทนในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ไม่อาจฟ้องในนามตนเองได้ โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ย้ายโจทก์ที่ 2 เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างโจทก์ที่ 2 กับนายดิเรก ภุมมา ผู้จัดการสาขาหนองคายและย้ายโจทก์ที่ 3 ตามวาระโดยสุจริต ไม่เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ทั้งโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาต่อรอง การย้ายโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 จึงไม่กระทบกระเทือนต่อการเจรจาต่อรอง ดังนั้น จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 มีคำสั่งโอนย้ายโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 จึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 31 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ประการแรกว่า การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 สั่งย้ายโจทก์ที่ 2และโจทก์ที่ 3 สมาชิกของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในขณะข้อเรียกร้องอยู่ระหว่างการเจรจาย่อมกระทบกระเทือนต่ออำนาจต่อรองของโจทก์ที่ 1 ถือว่าโจทก์ที่ 1 ถูกโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองไว้ และทำให้โจทก์ที่ 1 เสียหายแก่สิทธิที่จะใช้อำนาจต่อรองได้อย่างเต็มที่ โจทก์ที่ 1 จึงมีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ในเรื่องอำนาจหน้าที่ของสหภาพแรงงานตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสาม พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 98(2) ได้บัญญัติไว้ว่า เพื่อประโยชน์ของสมาชิกสหภาพแรงงาน ให้สหภาพแรงงานมีอำนาจหน้าที่จัดการและดำเนินการเพื่อให้สมาชิกได้รับประโยชน์ทั้งนี้ภายใต้บังคับของวัตถุที่ประสงค์ของสหภาพแรงงานหมายความว่า หากมีกรณีที่สมาชิกสหภาพแรงงานถูกบุคคลใดรวมทั้งนายจ้างกระทำการโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ทำให้สมาชิกสหภาพแรงงานได้รับความเสียหาย สหภาพแรงงานย่อมมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลเพื่อประโยชน์แก่สมาชิกสหภาพแรงงานรายนั้นได้ทันที แต่ถ้าเป็นการฟ้องคดีในเรื่องที่อาจกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกเป็นส่วนรวม มาตรา 103(2) บัญญัติว่าสหภาพแรงงานจะดำเนินการฟ้องศาลได้ต่อเมื่อมีมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกสหภาพแรงงาน คดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องว่าในระหว่างการเจรจาข้อเรียกร้องที่โจทก์ที่ 1 ยื่นต่อจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 มีคำสั่งโยกย้ายโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 31 เท่ากับโจทก์ทั้งสามกล่าวอ้างว่า โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3ซึ่งเป็นสมาชิกของโจทก์ที่ 1 ถูกจำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิแล้วโจทก์ที่ 1 ในฐานะเป็นสหภาพแรงงานย่อมมีอำนาจตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 98(2) ที่จะฟ้องศาลเพื่อประโยชน์ของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ได้ทันทีโดยไม่ต้องมีมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกสหภาพแรงงานโจทก์ที่ 1 เนื่องจากเป็นการฟ้องคดีเพื่อประโยชน์ของสมาชิกเป็นการเฉพาะราย มิใช่เพื่อประโยชน์ส่วนได้เสียของสมาชิกเป็นส่วนรวมตามมาตรา 103(2) สรุปแล้วโจทก์ที่ 1 มีอำนาจฟ้องในนามตนเองได้
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามประการสุดท้ายว่าการที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 มีคำสั่งโยกย้ายโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 31 หรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มีเจตนารมณ์ให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการหรือสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการหรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องมิให้ถูกนายจ้างกลั่นแกล้งโดยการเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่ในระหว่างการเจรจาข้อเรียกร้อง การไกล่เกลี่ยหรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานเว้นแต่บุคคลดังกล่าว (1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง (2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย(3) ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างโดยนายจ้างได้ว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือแล้วแต่ถ้าเป็นกรณีร้ายแรงนายจ้างไม่จำต้องว่ากล่าวและตักเตือน ทั้งนี้ข้อบังคับ ระเบียบหรือคำสั่งนั้นต้องมิได้ออกเพื่อขัดขวางมิให้บุคคลดังกล่าวดำเนินการเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง (4) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรอย่างไรก็ดี ในขณะเดียวกันนายจ้างย่อมมีอำนาจในการบริหารและบังคับบัญชาลูกจ้างดังนั้นจึงมิได้หมายความว่านายจ้างจะเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่บุคคลดังกล่าวได้ต่อเมื่อมีเหตุเฉพาะตาม (1) ถึง (4) ดังกล่าวเท่านั้น หากนายจ้างมีเหตุผลอื่นอันจำเป็นและสมควรในการบริหารนอกเหนือจากเหตุ4 ประการนี้ ซึ่งไม่ใช่เป็นการกลั่นแกล้งบุคคลดังกล่าว นายจ้างก็มีสิทธิที่จะยกเหตุนั้นเพื่อเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่บุคคลดังกล่าวในระหว่างการเจรจาข้อเรียกร้อง การไกล่เกลี่ยหรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานได้ หาเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 31 ไม่ คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 มีคำสั่งโยกย้ายหน้าที่โจทก์ที่ 2 ออกจากสาขาหนองคายไปประจำสาขาบึงกาฬเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุร้ายแรงเนื่องจากโจทก์ที่ 2พูดข่มขู่จะใช้อาวุธปืนยิงนายดิเรก ภุมมา ผู้จัดการสาขาหนองคายและโยกย้ายหน้าที่โจทก์ที่ 3 ตามวาระโดยสุจริต เนื่องจากจำเลยที่ 1มีนโยบายไม่ให้พนักงานทำงานประจำแต่ละสาขานานเกินไปเพื่อไม่ให้สนิทสนมคุ้นเคยกับลูกค้าซึ่งอาจเกิดการเอื้อประโยชน์และนำไปสู่การทุจริตขึ้นได้ จึงให้พนักงานประจำแต่ละสาขาเฉลี่ยคราวละ4 ปี ปรากฏว่าโจทก์ที่ 3 ประจำอยู่ที่สาขากาฬสินธุ์นานถึง 6 ปีจึงให้ย้ายไปประจำสาขาร้อยเอ็ด ประกอบกับในช่วงเวลาเดียวกันจำเลยที่ 1 มีคำสั่งโยกย้ายสับเปลี่ยนพนักงานถึง 1,000 คนเศษทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานโจทก์ที่ 1และโจทก์ที่ 2 กับโจทก์ที่ 3 ไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาข้อเรียกร้องโดยตรง การที่จำเลยที่ 1 โยกย้ายหน้าที่โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 จึงไม่กระทบกระเทือนต่อการเจรจาข้อเรียกร้องและไม่เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ที่ 2 กับโจทก์ที่ 3 จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 โยกย้ายหน้าที่โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3เป็นการใช้อำนาจบริหารที่เหมาะสมและไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสองเพราะเหตุที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องแต่อย่างใดแม้เหตุโยกย้ายโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ดังกล่าวข้างต้นจะไม่ใช่เหตุตาม (1) ถึง (4) ในมาตรา 31 แต่ก็ถือได้ว่าเป็นเหตุอันจำเป็นและสมควรจำเลยที่ 1 มีสิทธิยกขึ้นเป็นเหตุโยกย้ายหน้าที่โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3 ได้โดยชอบไม่เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 31
พิพากษายืน