คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 813/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การขออนุญาตยื่นคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 199 นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 197 วรรคแรกแล้ว จำเลยที่ 2 จึงขออนุญาตยื่นคำให้การก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การไม่ได้
คำร้องของจำเลยที่ 2 บรรยายไว้ชัดว่าจำเลยที่ 2 ได้รับหมายเรียก และสำเนาคำฟ้องเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2525 และพ้นกำหนดที่จำเลยที่ 2 จะต้องยื่นคำให้การแก้คดีแล้ว การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอยื่นคำให้การ จึงเท่ากับเป็นการขอให้ศาลมีคำสั่งขยายระยะเวลายื่นคำให้การให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งกรณีนี้เมื่อศาลสั่งอนุญาตแล้วจึงจะถึงขั้นพิจารณาเกี่ยวกับการสั่งรับหรือไม่รับคำให้การ หากศาลสั่งไม่อนุญาตก็ไม่ต้อง พิจารณาถึงการสั่งรับหรือไม่รับคำให้การต่อไป ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้น ไม่ขยายระยะเวลายื่นคำให้การให้แก่จำเลยที่ 2 จึงไม่จำต้องสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยที่ 2 ด้วย
คำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การไม่ใช่คำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (5) เพราะไม่ได้ตั้งประเด็นระหว่างคู่ความฉะนั้นคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาจึงไม่ใช่คำสั่งไม่รับคำคู่ความและเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 จะอุทธรณ์ฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นในระหว่างพิจารณาไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้สั่งจ่าย และจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้สลักหลัง ให้ร่วมกันรับผิดชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๒๕ จำเลยที่ ๑ ไม่ยื่นคำให้การ
วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๒๕ จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องว่าไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ขอให้อนุญาตให้จำเลยที่ ๒ ยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยที่ ๒ ยื่นคำให้การเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นคำให้การแล้ว และกรณีไม่ใช่เหตุสุดวิสัย จึงมีคำสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยที่ ๒ ให้ยกคำร้อง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวแล้ว ในวันเดียวกันนั้นศาลชั้นต้นสั่งว่า จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การตามคำร้องของโจทก์
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ขอให้รับคำให้การหรือสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องเสียก่อนที่จะมีคำสั่งรับหรือไม่รับคำให้การของจำเลยที่ ๒
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การขออนุญาตยื่นคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๙๙ นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ศาลมีคำสั่งว่า จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๙๗ วรรคแรกแล้ว ส่วนกรณีนี้เป็นการขออนุญาตยื่นคำให้การก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ ๒ จึงยื่นขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๙๙ ไม่ได้ คำร้องของจำเลยที่ ๒ บรรยายไว้ชัดว่า จำเลยที่ ๒ ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๒๕ บัดนี้พ้นกำหนดที่จำเลยที่ ๒ จะต้องยื่นคำให้การแก้คดีตามกฎหมายแล้ว การที่จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องขอยื่นคำให้การจึงเท่ากับเป็นการขอให้ศาลมีคำสั่งขยายระยะเวลายื่นคำให้การให้แก่จำเลยที่ ๒ ซึ่งกรณีนี้เมื่อศาลสั่งอนุญาตขยายระยะเวลาให้แล้วจึงจะถึงขั้นพิจารณาเกี่ยวกับการสั่งรับหรือสั่งไม่รับคำให้การ หากศาลสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาก็ไม่ต้องพิจารณาถึงการสั่งรับหรือไม่รับคำให้การต่อไป ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นไม่ขยายระยะเวลายื่นคำให้การให้แก่จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยที่ ๒ ด้วย ทั้งคำร้องขอขยายระยะเวลานี้ไม่ใช่คำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑(๕) เพราะไม่ได้ตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ ฉะนั้นคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีนี้จึงไม่ใช่คำสั่งไม่รับคู่ความ และเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาจำเลยที่ ๒ จะอุทธรณ์ฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นในระหว่างพิจารณาไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๖ ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ ๒
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และยกฎีกาจำเลยที่ ๒.

Share