คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8129/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามไปรษณีย์นิเทศฯ การสื่อสารแห่งประเทศไทยอาจจัดส่งไปรษณีย์ให้แก่ผู้แทนของผู้รับก็ได้ และเมื่อจ่ายให้แก่ผู้แทนของผู้รับแล้ว ให้ถือว่าได้นำจ่ายให้แก่ผู้รับแล้วนับแต่เวลาที่นำจ่าย ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานของการสื่อสารแห่งประเทศไทยได้นำเอกสารคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไปส่งยังภูมิลำเนาของโจทก์ โดยมีพนักงานรักษาความปลอดภัยเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับไว้เมื่อวันที่ 7สิงหาคม 2541 ถือได้ว่ามีการนำจ่ายทางไปรษณีย์ให้แก่ผู้แทนของผู้รับและถือว่าโจทก์ได้รับคำวินิจฉัยตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2541 อันล่วงเลยกำหนดระยะเวลา 30 วันแล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะให้โจทก์ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ขอให้พิพากษาเพิกถอนการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะจำนวน 9,337,658 บาท ของจำเลยทั้งสี่ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน

จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์ทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2541 แต่โจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลขอให้เพิกถอนการประเมินภายใน 30 วัน จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “การแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับซึ่งประมวลรัษฎากร มาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้กระทำได้ ซึ่งพนักงานรักษาความปลอดภัยของบ้านโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในคำตอบรับของผู้รับเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2541 กรณีจะถือว่าโจทก์ได้รับหนังสือวันใดนั้นต้องนำไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2539 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 และมาตรา 4แห่งพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 มาใช้บังคับตามไปรษณียนิเทศ ข้อ 583 กสท (หมายถึง การสื่อสารแห่งประเทศไทย)อาจนำจ่ายสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ให้แก่ผู้รับหรือผู้แทนของผู้รับก็ได้จึงเห็นได้ว่าสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ไม่จำเป็นต้องส่งให้แก่ผู้รับโดยตรงอาจส่งให้แก่ผู้แทนของผู้รับก็ได้ ตามไปรษณีย์นิเทศข้อ 584 ในกรณีนำจ่ายณ ที่อยู่ของผู้รับถือว่าบุคคลต่อไปนี้เป็นผู้แทนของผู้รับ 584.2 บุคคลซึ่งทำงานอยู่ในสถานที่ทำงานเดียวกับผู้รับ 584.4 ผู้ทำหน้าที่เวรรับส่งหรือเวรรักษาการณ์ของหน่วยงาน ข้อ 586 สิ่งของส่งทางไปรษณีย์ที่นำจ่ายให้แก่ผู้แทนของผู้รับหรือไปรษณียภัณฑ์ธรรมดาที่ได้นำจ่ายไปสอดเข้าตู้รับไปรษณียภัณฑ์ของผู้รับหรือในกรณีว่าไม่มีผู้รับไปรษณียภัณฑ์ได้สอดหรือวางไว้ ณ บริเวณที่เห็นปลอดภัยต่อไปรษณียภัณฑ์ไปแล้ว ให้ถือว่าได้นำจ่ายให้แก่ผู้รับแล้วนับแต่เวลาที่นำจ่าย ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานของการสื่อสารแห่งประเทศไทยได้นำเอกสารคำวินิจฉัยอุทธรณ์หมายล.1 ไปส่งยังบ้านเลขที่ 23/9 หมู่ 1 ซอยสุขุมวิท 11 ถนนสุขุมวิทแขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร อันเป็นภูมิลำเนาของโจทก์โดยมีนายสายชลพนักงานรักษาความปลอดภัยบ้านเลขที่ดังกล่าวเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับไว้เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2541 เวลา 10.29 นาฬิกาตามใบตอบรับในประเทศเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 7 จึงถือได้ว่ามีการนำจ่ายทางไปรษณีย์ให้แก่ผู้แทนของผู้รับแล้ว และถือว่าโจทก์ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2541 แล้ว โจทก์จะต้องอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30(2) แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2541 จึงเป็นกรณีที่โจทก์มิได้อุทธรณ์หรือนำคดีมาฟ้องต่อศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงเป็นอันยุติ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลรัษฎากรมาตรา 30(2) และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 8 ประเด็นข้ออื่นไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยศาลภาษีอากรกลางพิพากษาชอบแล้ว”

พิพากษายืน

Share