แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำว่า “อากร” ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 หมายถึงค่าอากรในทางศุลกากรเท่านั้น หาหมายรวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นภาษีอากรฝ่ายสรรพากร ภาษีสรรพสามิต และภาษีมหาดไทยด้วยไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองนำค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต และภาษีมหาดไทยสำหรับรถยนต์ของกลางมารวมเป็นค่าอากรอีกจำนวนหนึ่งนั้นไม่ถูกต้อง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ริบของกลาง และจ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับและจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 27 จำคุก 2 ปี ปรับ 5,855,878.84 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง จ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับและจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวน ตลอดจนข้อนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาของศาลมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 3,903,919.23 บาท โดยให้รอการลงโทษจำคุกไว้ตามเดิม นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยในข้อแรก จำเลยมีเจตนาฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลโดยนำรถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้เสียค่าภาษีหรือไม่ จำเลยอ้างว่า จำเลยไม่มีเจตนาฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล เพราะจำเลยซื้ออะไหล่และนำชิ้นส่วนของรถยนต์ประกอบเข้ากันขึ้นเป็นรถยนต์คันพิพาททั้งคัน และยังไม่แล้วเสร็จ ยังมีขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการก่อนที่จะมีการเสียภาษี เห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยว่าได้ซื้อชิ้นส่วนก็ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการซื้อขายชิ้นส่วนและเครื่องยนต์ของรถ หรือหลักฐานอื่นที่จำเลยควรมีไว้เพื่อตระเตรียมพร้อมจะดำเนินการทางภาษีและทะเบียนให้เสร็จสิ้นต่อไป ลำพังคำเบิกความลอย ๆ โดยปราศจากพยานหลักฐานสนับสนุนของจำเลย ไม่อาจรับฟังได้ตามที่จำเลยอ้าง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบ จำเลยครอบครองรถยนต์ของกลางที่ผลิตนอกราชอาณาจักร โดยไม่ปรากฏว่ามีการนำรถยนต์ของกลางผ่านศุลกากรและเสียภาษีโดยถูกต้อง จำเลยมีเจตนาฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล อันเป็นความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย ปัญหาพิจารณาข้อต่อไปมีว่า จำเลยจะต้องถูกปรับเพียงใด โดยจำเลยอ้างว่ารถยนต์ของกลางมีราคาไม่มาก ไม่ควรนำราคาที่โจทก์ตั้งมาเป็นฐานในการคิดค่าปรับจากจำเลย เห็นว่า โจทก์มีนางปริญดา เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรซึ่งประเมินอากรของกลาง มาเบิกความเป็นพยานประกอบเอกสารใบประเมินราคาและอากรรถยนต์ว่า รถยนต์ของกลางผลิตตั้งแต่ ค.ศ.1997 (หรือ พ.ศ.2540) มีการใช้งานมาจนถึงวันที่ประเมินราคาในปี 2545 เป็นเวลา 4 ปีเศษ คิดหักค่าเสื่อมราคาร้อยละ 50 ของราคา ซี. ไอ. เอฟ. รถใหม่รวมอุปกรณ์คิดเป็นราคา 467,465.60 บาท เมื่อรวมค่าภาษีต่าง ๆ เข้าแล้วมีราคารวม 1,463,969.71 บาท จำเลยคงเบิกความลอย ๆ ว่ารถยนต์ของกลางมีราคาตลาดเพียง 700,000 บาท ไม่อาจหักล้างทางนำสืบของโจทก์ที่มีกระบวนการคิดราคาและข้อมูลอ้างอิงอันควรเชื่อได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้คิดราคาและกำหนดโทษปรับเป็นเงินสี่เท่าของของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว ชอบด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 2 และมาตรา 27 แล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อย่างไรก็ดี ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำว่า “ค่าอากร” ตามมาตรา 27 หมายถึงค่าอากรในทางศุลกากรเท่านั้น หาหมายรวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นภาษีอากรฝ่ายสรรพากร ภาษีสรรพสามิต และภาษีมหาดไทยด้วยไม่ ที่โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบค่าอากรเป็นเงิน 996,504.11 บาท ปรากฏตามใบประเมินราคาและอากรรถยนต์ได้รวมค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 95,773.72 บาท ภาษีสรรพสามิต 478,870.83 บาท และภาษีมหาดไทย 47,887.08 บาท เข้าด้วยกัน คดีนี้รถยนต์ของกลางมีราคา 467,465.60 บาท ต้องเสียค่าอากรขาเข้าเป็นเงิน 373,972.48 บาท รวมราคาของกับค่าอากรเข้าด้วยกันเป็นเงินเพียง 841,438.08 บาท เท่านั้น มิใช่เป็นจำนวน 1,463,969.71 บาท ตามที่โจทก์อ้าง เมื่อลงโทษปรับสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วจึงเป็นเงิน 3,365,752.32 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองนำค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต และภาษีมหาดไทยสำหรับรถยนต์ของกลางมารวมเป็นค่าอากรอีกจำนวนหนึ่งไม่ถูกต้อง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ในส่วนโทษปรับให้ลงโทษปรับ 3,365,752.32 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ 2,243,834.88 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1