คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 812/2484

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พินัยกรรมที่ระบุให้ผู้จัดการมฤดกเอาทรัพย์มฤดกปฏิสังขรณ์วัดต่าง ๆ ที่ชำรุดทรุดโทรมนั้น ถือว่ามุ่งหมายให้ผู้จัดการมฤดกเป็นผู้ระบุวัดที่จะได้รับปฏิสังขรณ์ ข้อกำหนดเช่นนี้ไม่เป็นโมฆะ
พินัยกรรมของผู้ตายสั่งให้ผู้จัดการมฤดกนำเงินเหลือ จากการปลงศพบำรุงการกุศลในพระพุทธศาสนา เมื่อผู้จัดการมฤดก ไม่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามพินัยกรรม กรมธรรมการมีอำนาจฟ้องขอถอดถอนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้ฉะบับหนึ่งกำหนดว่าเมื่อผู้ตายวายชนม์แล้วให้จำหน่ายทรัพย์มฤดกจัดการปลงศพเมื่อมีเงินเหลืออยู่เท่าใด ให้นำไปประกอบการกุศลต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนา ทั้งสิ้น คือปฏิสังขรณ์วัดต่าง ๆ ที่ชำรุดทรุดโทรม และตั้งให้จำเลยผู้เป็นพี่สาวเป็นผู้จัดการมฤดก ครั้นเมื่อผู้ตายวายชนม์แล้วจำเลยเข้าจัดการทรัพย์มฤดกโดยตลอดแต่จำเลยเพิกเฉยเสียไม่จัดการไปตามหน้าที่ โจทก์จึงฟ้องขอให้ศาลถอนจำเลยจากหน้าที่ผู้ จัดการมฤดกและตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมฤดกต่อไป
จำเลยให้การตัดฟ้องว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และพินัยกรรมเป็นโมฆะ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อตัดฟ้องของจำเลยก่อน และเห็นว่าการที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินไว้โดยตรงเพื่อประโยชน์แห่งการศาสนาและสาธารณประโยชน์ดังนี้ ย่อมมีผลเป็นมูลนิธิตามประมวลกฎหมายแพ่ง ฯ มาตรา ๑๖๗๖ กอปร์ด้วยมาตรา ๘๑ ส่วนโจทก์ในคดีนี้มีกองศาสนาสมบัติซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับศาสนาสมบัติรวมอยู่ด้วย เมื่อผู้ตายยกทรัพย์ให้บำรุงศาสนสมบัติที่ชำรุดทรุดโทรม โจทก์ย่อมมีส่วนได้เสียและมีอำนาจฟ้องตามประมวลแพ่ง ฯ มาตรา ๘๔
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่มีอำนาจฟ้องและพนัยกรรมมิได้กำหนดแน่ว่าทำบุญแก่วัดใดจึงเป็นโมฆะ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์อ้างว่าผู้ตายทำพินัยกรรมสั่งให้จำเลยจำหน่ายทรัพย์มฤดกปฏิสังขรณ์วัดต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนาที่ชำรุดทรุดโทรม ซึ่งอยู่ในความทะนุบำรุงของโจทก์ เมื่อจำเลยไม่จัดการให้เป็นไปตามพิ่นัยกรรม โจทก์ก็อยู่ในฐานะที่มีส่วนได้เสีย และมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลสั่งถอนจำเลยจากผู้จัดการมฤดกได้ ตามประมวลแพ่ท ฯ มาตรา ๑๗๒๗ ส่วนข้อที่จำเลยคัดค้านว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะนั้น จริงอยู่ที่มิได้กำหนดว่าวัดใดจะได้รับการปฏิสังขรณ์ แต่ในพินัยกรรมข้อ ๑(๓) กล่าวว่าให้ทำการกุศลฉะเพาะในพระพุทธศาสนา และข้อ ๓(๑) ตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการให้เป็นไปตามข้อ ๑(๓) ดังนี้ย่อมแสดงว่าผู้ทำพินัยกรรมมุ่งหมายให้ผู้จัดการเป็นผู้กำหนดวัดหนึ่งวัดใดให้ได้รับการปฏิสังขรณ์ ข้อกำหนดในพินัยกรรมจึงไม่เป็นโมฆะ จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share