คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8106/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนจำเลยที่ 3 เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลย ประเด็นในคดีมีว่าจำเลยยึดทรัพย์โจทก์โดยชอบหรือไม่ ซึ่งศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าภาษีอากรค้างส่วนที่เหลือภายหลังจากการยึดอายัดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 นำมาชำระหนี้แล้ว ประเด็นแห่งคดีจึงแตกต่างกัน การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 3 คดีนี้จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดไว้แล้วอันจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
การเป็นนิติบุคคลและอำนาจของผู้แทนนิติบุคคล นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะต้องแต่งย่อรายการส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษา และถือเป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1021 และมาตรา 1022 หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลที่ระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในระหว่างวันที่ 30 มีนาคม 2554 ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2555 จึงเป็นเอกสารมหาชน ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เมื่อจำเลยที่ 3 อ้างว่ามิได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ที่ถูกเอกสารนั้นมายันต้องนำสืบถึงความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร แต่พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 3 นำสืบมาไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว คดีฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 และใช้บ้านของจำเลยที่ 3 เป็นสถานที่ตั้งห้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้สินของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1077 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดชำระค่าภาษีอากร เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม จำนวน 8,983,982.68 บาท และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.73.1) เลขที่ ภ.พ.73.1-01008050-25541125-005-00020 ถึง 00022, 00024 ถึง 00027 และ 00029 ถึง 00034 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2554 ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากภาษีที่ค้างชำระ จำนวน 189,808.59 บาท จำนวน 244,806.80 บาท จำนวน 210,560 บาท จำนวน 149,388.53 บาท จำนวน 194,148.36 บาท จำนวน 281,196.69 บาท จำนวน 125,510 บาท จำนวน 517,200.50 บาท จำนวน 8,456.43 บาท จำนวน 971.21 บาท จำนวน 67,528.82 บาท จำนวน 109,577.28 บาท และจำนวน 9,569.08 บาท ตามลำดับ นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระภาษีอากร เบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมจำนวน 8,983,982.68 บาท แก่โจทก์ พร้อมเงินเพิ่มตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เลขที่ ภ.พ.73.1-01008050-25541125-005-00020 ถึง 00022, 00024 ถึง 00027 และ 00029 ถึง 00034 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2554 ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีจำนวน 189,808.59 บาท ของเงินภาษีจำนวน 244,806.80 บาท ของเงินภาษีจำนวน 210,560 บาท ของเงินภาษีจำนวน 149,388.53 บาท ของเงินภาษีจำนวน 194,148.36 บาท ของเงินภาษีจำนวน 281,196.69 บาท ของเงินภาษีจำนวน 125,510 บาท ของเงินภาษีจำนวน 517,200.50 บาท ของเงินภาษีจำนวน 8,456.43 บาท ของเงินภาษีจำนวน 971.21 บาท ของเงินภาษีจำนวน 67,528.82 บาท ของเงินภาษีจำนวน 109,577.28 บาท และของเงินภาษีจำนวน 9,569.08 บาท ตามลำดับนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 8 พฤษภาคม 2557) เป็นต้นไป จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่เงินเพิ่มต้องไม่เกินจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระ กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติโดยโจทก์และจำเลยที่ 3 มิได้โต้แย้งกันว่า จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด เดิมมีจำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ต่อมามีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นชื่อจำเลยที่ 3 ในระหว่างวันที่ 30 มีนาคม 2554 ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2555 แล้วจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นจำเลยที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2555 ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2557 หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จนถึงปัจจุบัน เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ตรวจพบว่า จำเลยที่ 1 มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2551 และปี 2552 ทั้งมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) สำหรับเดือนภาษีมีนาคม 2551 ส่วนเดือนภาษีอื่นยื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้องครบถ้วน โดยรายได้ที่จำเลยที่ 1 ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งไว้มีจำนวนมากกว่ายอดขายตามแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกับจำเลยที่ 1 มิได้ส่งมอบใบกำกับภาษีซื้อให้เจ้าพนักงานตรวจสอบ ถือเป็นภาษีซื้อที่ไม่มีสิทธินำมาใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/5 (1) แห่งประมวลรัษฎากร จึงเป็นการยื่นแบบแสดงภาษีซื้อไว้เกินไป เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ทำการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม สำหรับเดือนภาษีมกราคม เดือนกุมภาพันธ์ เดือนเมษายน เดือนมิถุนายน เดือนตุลาคม เดือนพฤศจิกายน เดือนธันวาคม 2551 เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม 2552 รวม 8,555,860.02 บาท จำเลยที่ 3 มอบอำนาจให้นายตรีนดิษฐ์ ยื่นอุทธรณ์การประเมินพร้อมกับยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์และคำร้องขอทุเลาการเสียภาษี โดยจำเลยที่ 3 ลงชื่อในคำอุทธรณ์ดังกล่าว แล้วจำเลยที่ 3 ได้ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2555 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยยืนตามการประเมิน โดยส่งคำวินิจฉัยให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว แต่จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาล และจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าภาษีอากรค้าง โจทก์จึงมีคำสั่งยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและอายัดสิทธิเรียกร้องในบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ภาษีอากรค้าง จำเลยที่ 3 ยื่นฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางขอให้เพิกถอนการยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 3 ซึ่งต่อมาศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ตามคดีหมายเลขดำที่ 14/2557 คดีหมายเลขแดงที่ 127/2558 ปัจจุบันจำเลยที่ 1 ยังค้างชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม รวม 8,983,982.68 บาท
มีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อนที่จำเลยที่ 3 เคยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ 14/2557 ของศาลภาษีอากรกลางหรือไม่ จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า คดีหมายเลขดำที่ 14/2557 มีประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ (จำเลยที่ 3 ในคดีนี้) เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด สหไทย กรุ๊ป 2007 ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม 2554 ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2555 หรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับที่จำเลยที่ 3 ยื่นคำให้การต่อสู้ในคดีนี้ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า คดีก่อนจำเลยที่ 3 เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลย ประเด็นในคดีมีว่า จำเลยยึดทรัพย์โจทก์โดยชอบหรือไม่ ซึ่งศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าภาษีอากรค้างส่วนที่เหลือภายหลังจากการยึดอายัดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 นำมาชำระหนี้แล้ว ประเด็นแห่งคดีจึงแตกต่างกัน ทั้งไม่ปรากฏว่าคดีก่อนศาลภาษีอากรกลางได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าจำเลยที่ 3 ไม่เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 3 คดีนี้จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดไว้แล้ว อันจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 เคยมีชื่อเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2554 ถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2555 เนื่องจากมีผู้ปลอมลายมือชื่อจำเลยที่ 3 ไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร โดยจำเลยที่ 3 ไม่รู้เห็นด้วย และจำเลยที่ 3 ไม่เคยทำนิติกรรมใดๆ ในนามห้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เพียงแต่ลงลายมือชื่อในอุทธรณ์การประเมินเนื่องจากจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นน้องชายจำเลยที่ 3 ขอร้องให้ลงชื่อด้วยความจำเป็นเท่านั้น หลังทราบเหตุจำเลยที่ 3 ได้ให้จำเลยที่ 4 เอาชื่อจำเลยที่ 3 และภริยาออกจากการเป็นหุ้นส่วนแล้ว ทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1054 มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองบุคคลภายนอกที่อาจเสียหายในการทำนิติกรรมกับห้างหุ้นส่วนโดยสำคัญผิดในตัวหุ้นส่วน แต่โจทก์ไม่ได้ทำการค้าใดๆ กับจำเลยที่ 1 ประกอบกับโจทก์ไม่ได้แจ้งผลคำวินิจฉัยอุทธรณ์แก่จำเลยที่ 3 อีกด้วย จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า การเป็นนิติบุคคลและอำนาจของผู้แทนนิติบุคคล นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะต้องแต่งย่อรายการส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษา และถือเป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1021 และมาตรา 1022 หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลที่ระบุว่า จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในระหว่างวันที่ 30 มีนาคม 2554 ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2555 จึงเป็นเอกสารมหาชน ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เมื่อจำเลยที่ 3 อ้างว่ามิได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ที่ถูกเอกสารนั้นมายันต้องนำสืบถึงความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร ซึ่งข้อนี้จำเลยที่ 3 นำสืบโดยมีตัวจำเลยที่ 3 เองเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 3 เคยมีชื่อเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2554 ถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2555 เนื่องจากมีผู้ปลอมลายมือชื่อจำเลยที่ 3 แล้วนำไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร โดยจำเลยที่ 3 ไม่ได้มีความประสงค์จะเข้าเป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ลงชื่อในคำอุทธรณ์การประเมินของจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นน้องชายของจำเลยที่ 3 ขอร้องให้จำเลยที่ 3 ลงชื่อด้วยความจำเป็น โดยจำเลยที่ 3 รับราชการทหารประจำอยู่ที่จังหวัดสตูล จำเลยที่ 4 ไม่เคยให้ผลประโยชน์ใดๆ แก่จำเลยที่ 3 หลังทราบเรื่องจำเลยที่ 3 จึงบังคับให้จำเลยที่ 4 เอาชื่อจำเลยที่ 3 และภริยาจำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นหุ้นส่วน และจำเลยที่ 3 มีพันตำรวจโทหญิงจุฑารัตน์ เบิกความประกอบรายงานการตรวจพิสูจน์ว่า ลายมือชื่อในเอกสารรายการจดทะเบียนกับตัวอย่างลายมือชื่อจำเลยที่ 3 ในเอกสารอื่นมีคุณลักษณะและรูปลักษณะของตัวอักษรแตกต่างกัน จึงมีความเห็นว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน นั้น ในข้อนี้เห็นว่า แม้ผู้เชี่ยวชาญผู้ตรวจพิสูจน์จะมีความเห็นตามหลักวิชาการก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ซึ่งใช้รับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่น และอยู่ในดุลพินิจของศาลเท่านั้น จำเลยที่ 3 จึงยังต้องมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 มิใช่หุ้นส่วนผู้จัดการและหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 จริง แต่เมื่อพิจารณาโดยตลอดแล้วไม่ปรากฏเหตุประการใดที่จำเลยที่ 4 จะต้องปลอมลายมือชื่อจำเลยที่ 3 เองโดยที่จำเลยที่ 3 ไม่รู้เห็นด้วย ทั้งจำเลยที่ 4 ยังจดทะเบียนแก้ไขให้นางวีราภรณ์ ภริยาจำเลยที่ 3 เข้าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ในคราวเดียวกัน ซึ่งไม่ได้ความว่าลายมือชื่อของภริยาจำเลยที่ 3 เป็นลายมือชื่อปลอมด้วย นอกจากนี้หากจำเลยที่ 4 กระทำไปโดยพลการแล้ว จำเลยที่ 4 น่าจะต้องพยายามปกปิดความจริงข้อนี้ไว้ แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 กลับจดทะเบียนแก้ไขที่ตั้งสำนักงานไปเป็นที่อยู่ของจำเลยที่ 3 อีกด้วยอันเป็นการง่ายและมีโอกาสสูงที่จำเลยที่ 3 จะทราบความจริงจากเอกสารที่มีผู้ส่งถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งต่อมาก็ปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินได้มีหนังสือขอเชิญพบจำเลยที่ 3 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปตามที่อยู่ที่ได้มีการแก้ไขแล้วดังกล่าวข้างต้น และนางพัชรีมารดาของจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับหนังสือไว้แทนเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2554 หลังจากนั้นเจ้าพนักงานประเมินได้ส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มฉบับพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยส่งไปถึงจำเลยที่ 3 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ก็มีภริยาของจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับไว้แทนเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2554 แต่ไม่ปรากฏว่าเมื่อจำเลยที่ 3 ทราบเหตุแล้วได้กระทำการอย่างใดพอที่จะแสดงถึงการไม่ยินยอมหรือโต้แย้งว่าไม่ได้รู้เห็นการปลอมลายมือชื่อดังที่ควรจะเป็น แต่หลังจากนั้นข้อเท็จจริงกลับได้ความต่อไปว่า จำเลยที่ 3 ได้กระทำการในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 โดยอุทธรณ์การประเมินกับพร้อมทั้งยื่นคำร้องขอขยายกำหนดเวลาการอุทธรณ์ต่อโจทก์เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2555 โดยเฉพาะจำเลยที่ 3 เป็นผู้ลงชื่อผู้อุทธรณ์ด้วยตนเองและตามเนื้อหาคำอุทธรณ์ตอนหนึ่งระบุชัดแจ้งว่า เดิมจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการซื้อขายโสตทัศนวัสดุ มีจำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตั้งแต่แรกตั้งห้าง จนถึงปลายปี 2551 จึงได้มีการเปลี่ยนสภาพกิจการเป็นรับเหมาก่อสร้าง โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ซึ่งความข้อนี้สอดคล้องกับที่จำเลยที่ 3 เคยยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางโดยบรรยายคำฟ้องไว้ว่า จำเลยที่ 3 (ในคดีนี้) เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 (ในคดีนี้) และจำเลยที่ 3 ได้แจ้งให้หุ้นส่วนผู้จัดการเดิมรวบรวมเอกสารหลักฐานทางบัญชีและภาษีอากร ย่อมแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 3 ได้ยอมรับว่าตนเข้าไปทำหน้าที่หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 มาก่อนแล้ว การที่จำเลยที่ 3 เพิ่งจะมาเบิกความกล่าวอ้างลอยๆ ในคดีนี้ว่า จำเลยที่ 3 ลงชื่อในคำอุทธรณ์เนื่องจากจำเลยที่ 4 ขอร้องด้วยความจำเป็นนั้นจึงไม่น่าเชื่อถือ ส่วนที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าออกจากการเป็นหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2555 ก็เป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์มีคำสั่งยึดที่ดินของจำเลยที่ 3 แล้ว พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 3 นำสืบมาไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว คดีฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 และใช้บ้านของจำเลยที่ 3 เป็นสถานที่ตั้งห้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้สินของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1077 (2) ส่วนที่จำเลยที่ 3 อ้างว่า เจ้าพนักงานประเมินมิได้แจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แก่จำเลยที่ 3 ทั้งไม่ยอมให้จำเลยที่ 3 คัดถ่ายเอกสารเกี่ยวกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวโดยอ้างว่าจำเลยที่ 3 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ 1 ไปแล้วนั้น ก็เนื่องจากเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้แจ้งการประเมินและแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 โดยชอบแล้ว ส่วนจำเลยที่ 3 แม้จะเคยมีฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างดังกล่าว แต่ก็มิใช่ผู้ที่ถูกประเมิน จึงไม่มีเหตุที่เจ้าพนักงานประเมินจะต้องแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 3 โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ให้ชำระหนี้ดังกล่าวซึ่งเป็นหนี้ของห้างได้โดยไม่ต้องแจ้งการประเมินและแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 3 ก่อน จากเหตุผลดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share