แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 51 วรรคหนึ่ง ว่า “คำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลแรงงานให้ทำเป็นหนังสือ และต้องกล่าวหรือ แสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี พร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยนั้น” กรณีจึงไม่อาจนำ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 มาใช้ในการ วินิจฉัยคดีแรงงานอีก
ตามอุทธรณ์ของโจทก์พอแปลได้ว่า โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางไม่ได้ให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยว่าเหตุใดคำเบิกความของ ช. จึงไม่เป็นพิรุธ เมื่อปรากฏว่าศาลแรงงานกลางได้ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของจำเลยแล้วเห็นว่าสอดคล้องกันตามลำดับไม่เป็นพิรุธมีน้ำหนักฟังได้ว่าโจทก์ประพฤติผิดวินัยอย่างร้ายแรง ดังนี้คำพิพากษาศาลแรงงานกลางได้ให้เหตุผลไว้ครบถ้วนและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางหยิบยกพยานหลักฐานส่วนที่เป็นประโยชน์แก่จำเลยมาวินิจฉัยโดยไม่นำพยานหลักฐานส่วนของโจทก์ที่เป็นประโยชน์มาหักล้าง เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2525ถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 ตำแหน่งครั้งสุดท้ายเป็นหัวหน้าหน่วยอำเภอลาดยาวสังกัดสำนักงานจังหวัดนครสวรรค์ ได้รับเงินเดือน 20,320 บาท วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 จำเลยสั่งพักงานและตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์โดยกล่าวหาว่า โจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่จงใจไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ และมีคำสั่งลงโทษโจทก์ด้วยการไล่ออกแจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2542 จำเลยสั่งพักงานและมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานไม่ถูกต้อง จำเลยดำเนินการสอบสวนฝ่ายเดียว ไม่ให้โจทก์หาหลักฐานต่อสู้ โจทก์ไม่เคยกระทำตามที่จำเลยกล่าวอ้าง ไม่เคยทุจริตต่อหน้าที่ โจทก์ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยทุกประการไม่เคยกระทำให้จำเลยเสียหาย การที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์ทำให้โจทก์ไม่ได้รับค่าจ้างเดือนละ 20,320 บาท จำเลยจึงต้องชำระแก่โจทก์นับแต่วันสั่งพักงานจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 139,280 บาท คำสั่งไล่โจทก์ออกจากงาน เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหากโจทก์ปฏิบัติหน้าที่เป็นลูกจ้างจำเลยสามารถปฏิบัติงานได้จนถึงอายุ 60 ปี จึงขอคิดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 4,074,020 บาท หากโจทก์ปฏิบัติหน้าที่เป็นลูกจ้างต่อไปจนถึงอายุ 60 ปี โจทก์จะได้รับเงินโบนัส 1,381,760 บาท และมีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนับแต่วันที่โจทก์เป็นสมาชิกของกองทุนจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 420,000 บาท และนับตั้งแต่วันฟ้องจนถึงโจทก์อายุ 60 ปี เป็นเงินอีก 488,889 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย 300 วัน เป็นเงิน 200,400 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,704,349 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2525 ต่อมาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 จำเลยได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์ และสั่งพักงานโจทก์ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2542 คณะกรรมการสอบสวนได้ทำการสอบสวนแล้วทำความเห็นว่า โจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จำเลยจึงมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานให้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2542 ในประเด็นเรื่องโจทก์ถูกไล่ออกจากงานเพราะเหตุประพฤติผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรือไม่นั้น พยานจำเลยมีนายชิ้น อ่อนงาม กับนายศุภชัย อ่อนงามเบิกความยืนยันว่า ได้จ่ายเงินให้แก่โจทก์และนายหน้าเป็นค่าตอบแทนในการพิจารณาให้ได้รับเงินกู้งวดสุดท้าย ทั้งจำเลยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ แล้วจำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานโดยโจทก์มิได้โต้แย้งหรืออุทธรณ์คำสั่ง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ประพฤติผิดวินัยอย่างร้ายแรงจริง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมและชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างนับแต่วันพักงาน ค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เงินโบนัสเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพ และค่าชดเชยแก่โจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ประการแรกว่าศาลแรงงานกลางวินิจฉัยคดีไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 ที่บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทำเป็นหนังสือและต้องกล่าวหรือแสดง “(4) เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง” แต่คำพิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเกี่ยวกับคำเบิกความของนายชิ้น อ่อนงามที่ว่านายชิ้นได้จ่ายเงินค่าตอบแทนแก่โจทก์ในการขอรับเงินกู้ตามโครงการงวดสุดท้าย แต่จำนวนเงินที่ให้ถ้อยคำแต่ละครั้งไม่ตรงกันไม่เป็นพิรุธ โดยศาลแรงงานกลางไม่ให้เหตุผลว่า ไม่เป็นพิรุธเพราะอะไร จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141(4)นั้น เห็นว่าในเรื่องดังกล่าวตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 51 วรรคหนึ่ง ว่า “คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานให้ทำเป็นหนังสือและต้องกล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยนั้น” กรณีจึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 มาใช้ในการวินิจฉัยคดีแรงงานอีกตามอุทธรณ์ของโจทก์พอแปลได้ว่า โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางไม่ได้ให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยว่า เหตุใดคำเบิกความของนายชิ้นจึงไม่เป็นพิรุธ ปรากฏตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่าศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยคำเบิกความของนายชิ้น ประกอบคำเบิกความของนายศุภชัย อ่อนงาม ที่ยืนยันว่า นายชิ้นได้จ่ายเงินให้โจทก์และนายศุภชัยได้จ่ายเงินให้นายหน้าเพื่อตอบแทนการได้รับอนุมัติให้รับเงินกู้ตามโครงการงวดสุดท้าย โดยเฉพาะนายชิ้นยืนยันตลอดมาว่า ได้จ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนแก่โจทก์ในการขอรับเงินกู้ตามโครงการงวดสุดท้าย นายชิ้นรู้จักโจทก์ในฐานะเจ้าหน้าที่ของจำเลย ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนเช่นเดียวกับนายศุภชัย จึงเชื่อว่าพยานทั้งสองปากเบิกความไปตามความจริงส่วนพยานหลักฐานของโจทก์มีแต่ตัวโจทก์เท่านั้นที่เบิกความยืนยันว่าโจทก์ไม่ได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหา อีกทั้งจำเลยได้ตั้งกรรมการขึ้นสอบสวนและมีคำสั่งให้ไล่โจทก์ออกจากงาน โจทก์ก็ไม่โต้แย้งหรืออุทธรณ์คำสั่งแล้วศาลแรงงานกลางจึงได้ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่า พยานหลักฐานของจำเลยสอดคล้องกันตามลำดับไม่เป็นพิรุธ มีน้ำหนักฟังได้ว่า โจทก์ประพฤติผิดวินัยอย่างร้ายแรงดังนี้คำพิพากษาศาลแรงงานกลางได้ให้เหตุผลไว้ครบถ้วนแล้วว่าเหตุใดจึงฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เรียกและรับเงินเป็นค่าตอบแทนในการอนุมัติเงินกู้ตามโครงการงวดสุดท้าย ให้นายชิ้นและนายศุภชัย ไม่ใช่วินิจฉัยเพียงว่า นายชิ้นให้ถ้อยคำถึงจำนวนเงินที่จ่ายให้โจทก์แต่ละครั้งไม่ตรงกันไม่เป็นพิรุธ โดยไม่ให้เหตุผลดังที่โจทก์อ้างคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางในประเด็นนี้ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ที่โจทก์อุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า กรรมการสอบสวนที่จำเลยตั้งเป็นคนของจำเลย ไม่มีความเป็นกลาง ผลการสอบสวนจึงเป็นไปตามความต้องการของจำเลยที่ให้ลงโทษโจทก์ โจทก์ไม่อุทธรณ์คำสั่งไล่ออกก็เพราะกรรมการชั้นอุทธรณ์ก็เป็นคนของจำเลยและใช้เวลาดำเนินการนานถึง 2 ปี ไม่ใช่โจทก์ยอมรับคำสั่งไล่ออกและที่ศาลแรงงานกลางอ้างว่าพยานจำเลยไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์มาก่อนปรากฏว่า พยานจำเลยเป็นบุคคลของจำเลย ศาลแรงงานกลางหยิบยกพยานหลักฐานส่วนที่เป็นประโยชน์แก่จำเลยมาวินิจฉัยโดยไม่นำพยานหลักฐานส่วนของโจทก์ที่เป็นประโยชน์มาหักล้าง ทั้งนายชิ้นเบิกความว่า โจทก์ไม่เคยเรียกเงินจากนายชิ้นหากโจทก์จะรับเงินที่นายชิ้นให้โจทก์เป็นค่าตอบแทนจริงก็ไม่เป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรง จำเลยไม่ได้รับความเสียหายนั้น เห็นว่าอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน