แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของ ท. ผู้ตายให้ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองที่ ท. ได้จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้เงินกู้ไว้แม้โจทก์ฟ้องคดีหลังจาก ท. ถึงแก่ความตายไปเกิน 1 ปี คดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 วรรคสามแล้ว แต่บทบัญญัติดังกล่าวยกเว้นมิให้ใช้บังคับในกรณีสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ตามมาตรา 193/27 แม้คดีขาดอายุความแล้ว ก็ยังยอมให้โจทก์ผู้รับจำนองใช้สิทธิบังคับเอาจากทรัพย์สินที่จำนองได้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของ ท. ให้ชำระหนี้โจทก์จากทรัพย์สินที่จำนองได้
โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือแก่ ร. ทนายโจทก์ให้บอกกล่าวบังคับจำนอง แต่เมื่อ ร. ได้บอกกล่าวบังคับจำนองในนามของโจทก์และโจทก์ยอมรับเอาการบอกกล่าวแล้ว ย่อมถือว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 823 และถือว่าโจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยแล้ว
ท. ผู้ตายเป็นหนี้โจทก์อยู่และถึงแก่ความตาย จำเลยซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายย่อมรับไปทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่อโจทก์ โจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกร้องบังคับชำระหนี้เอาจากจำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมได้เท่าที่ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ได้รับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601 ส่วนจำเลยจะได้รับมรดกของผู้ตาย และผู้ตายจะมีทรัพย์มรดกหรือไม่ เป็นเรื่องต้องว่ากันในชั้นบังคับคดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2538 นางทองคำ มัสสะ กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน200,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยนำที่ดินมาจำนองเป็นประกัน กำหนดชำระหนี้เงินกู้คืนโจทก์ภายใน 1 ปี หลังทำสัญญานางทองคำผิดนัดไม่ชำระหนี้โจทก์ทวงถามแล้วนางทองคำไม่ชำระ ต่อมาโจทก์ทราบว่านางทองคำถึงแก่ความตาย โจทก์จึงมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้และไถ่ถอนจำนอง แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามในฐานะทายาทของนางทองคำร่วมกันชำระเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 7520 ตำบลกระโทก อำเภอโชคชัยจังหวัดนครราชสีมา ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยทั้งสามเป็นทายาทของนางทองคำ มัสสะ จริง แต่ไม่ใช่ทายาทผู้ได้รับมรดก จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ การบอกกล่าวบังคับจำนองไม่ชอบเพราะนางสาวรุ่งสุรีย์ อยู่บุญสุข ไม่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์เป็นหนังสือ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง หากฟังว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง โจทก์ก็ไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยทั้งสามรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกของนางทองคำที่จำเลยทั้งสามได้รับ ซึ่งขณะนี้จำเลยทั้งสามมิได้รับมรดกของนางทองคำทั้งนางทองคำมีทายาทหลายคน จำเลยทั้งสามอาจไม่ได้รับมรดกจึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ นอกจากนี้นางทองคำถึงแก่ความตายตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2540 และโจทก์ทวงถามหนี้จากผู้ตายตลอดมาจึงควรทราบเรื่องการตายของนางทองคำการที่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2542 คดีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 13 มีนาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 100,000บาท ตามที่โจทก์ขอ แต่จำเลยทั้งสามไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกของนางทองคำมัสสะ ที่ตกทอดได้แก่ตน หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 7520 ตำบลกระโทก อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามในประการแรกว่า คดีขาดอายุความหรือไม่เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมของนางทองคำผู้ตายให้ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองที่นางทองคำได้จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้เงินกู้ไว้ แม้หากจะฟังข้อเท็จจริงเป็นดังที่จำเลยทั้งสามนำสืบว่า โจทก์ฟ้องคดีหลังจากนางทองคำถึงแก่ความตายไปแล้วเกิน 1 ปี คดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสามแล้วก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวยกเว้นมิให้ใช้บังคับในกรณีสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ตาม มาตรา 193/27 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิ ยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ยังคงมีสิทธินั้นบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำหรือที่ได้ยึดถือไว้แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้ เห็นได้ว่า แม้คดีขาดอายุความแล้วก็ดี แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27 ก็ยังยอมให้โจทก์ผู้รับจำนองใช้สิทธิบังคับเอาจากทรัพย์สินที่จำนองได้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมของนางทองคำเพื่อชำระหนี้โจทก์จากทรัพย์สินที่จำนองได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการที่สองว่าการบอกกล่าวบังคับจำนองชอบหรือไม่ นั้นเห็นว่า แม้จะไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้มอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือแก่นางสาวรุ่งสุรีย์ อยู่บุญสุข ทนายโจทก์ บอกกล่าวบังคับจำนอง แต่เมื่อนางสาวรุ่งสุรีย์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองในนามของโจทก์และโจทก์ยอมรับเอาการบังคับจำนองที่นางสาวรุ่งสุรีย์ได้บอกกล่าวในนามของโจทก์แล้วย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823 และถือว่าโจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยทั้งสามแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการสุดท้ายว่าจำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใดนั้น เห็นว่านางทองคำผู้ตายเป็นหนี้โจทก์อยู่และถึงแก่ความตายลง จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายย่อมรับไปทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่อโจทก์ โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกร้องบังคับชำระหนี้เอาจากจำเลยทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมได้เท่าที่ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ได้รับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601 ดังนั้น จำเลยทั้งสองจะได้รับมรดกของผู้ตาย และผู้ตายจะมีทรัพย์มรดกหรือไม่ เป็นเรื่องต้องว่ากันในชั้นบังคับคดี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน