คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8081/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 3 ให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา(จำเลยที่ 1) มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (1) ปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า มาตรา 4 กำหนดให้กองตรวจสอบ 2ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบเพื่อการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 5(3)(ก) เป็นส่วนราชการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าและควบคุมดูแลการดำเนินการของกองตรวจสอบ 2เกี่ยวกับการตรวจสอบเพื่อการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ส่วนจำเลยที่ 10เป็นนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีอำนาจหน้าที่รับหรือไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534 เมื่อจำเลยที่ 10 มีคำวินิจฉัยให้ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นคัดค้านไว้และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีมติยืนตามคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 10 โดยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ารวมทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 10เป็นจำเลยต่อศาลได้
เครื่องหมายการค้าของบริษัทสันติภาพ(ฮั่วเพ้ง1958) จำกัดภาษาไทย คำว่า คอฟ-ทีกับเครื่องหมายการค้าคำว่าค๊อฟ-ซี่ ของโจทก์คู่หนึ่ง และเครื่องหมายการค้าของบริษัทสันติภาพ(ฮั่วเพ้ง1958) จำกัดอักษรโรมัน คำว่า KOF-T กับเครื่องหมายการค้าคำว่า COFCY ของโจทก์อีกคู่หนึ่งนั้นต่างมีสำเนียงเสียงอ่านที่ใกล้เคียงกันมาก และมี 2 พยางค์เหมือนกัน การออกเสียงเรียกขานชื่อเครื่องหมายการค้าทั้งสองคำดังกล่าวอาจทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดได้เนื่องจากคนไทยไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ และผู้ซื้อสินค้าอาจจะไม่ได้ดูชื่อที่เขียนอยู่บนห่อสินค้านั้นเพราะเป็นสินค้าที่มีราคาไม่มากตัวอักษรที่นำมาประกอบเป็นเครื่องหมายการค้าทั้งอักษรไทยและอักษรโรมันต่างก็มีจำนวนตัวอักษรที่เกือบจะเท่ากันแม้ตัวอักษรบางตัวและลีลาการเขียนตัวอักษรจะแตกต่างกันบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ข้อแตกต่างที่เห็นเด่นชัด เครื่องหมายการค้าของบริษัทสันติภาพ(ฮั่วเพ้ง1958) จำกัด และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่างใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันและมีรายการสินค้าเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันความสับสนหลงผิดย่อมเกิดขึ้นได้โดยง่ายโดยเฉพาะในหมู่ผู้ซื้อที่ไม่ทันสังเกตหรือเป็นผู้ที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษหรือรู้เพียงเล็กน้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า ค๊อฟ-ซี่ และ COFCY รวมทั้งผลิตสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวออกจำหน่ายแก่คนทั่วไปมาหลายปีแล้ว บริษัทสันติภาพ(ฮั่วเพ้ง1958) จำกัด จะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า คอฟ-ที และ KOF-Tใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันกับของโจทก์อีกไม่ได้เพราะเครื่องหมายการค้าทั้งสองเหมือนหรือคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า COF CYและค๊อฟ-ซี่โดยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับสินค้าจำพวกที่ 30 จำนวน 2 คำขอ คือ คำขอเลขที่ 225789 และคำขอเลขที่ 243540 จำเลยที่ 1 เป็นกรมในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ จำเลยที่ 2 เป็นรองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการเครื่องหมายการค้า จำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 เป็นคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจำเลยที่ 10 เป็นนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2538และวันที่ 31 มีนาคม 2538 บริษัทสันติภาพ (ฮั่วเพ้ง 1958) จำกัด ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า คอฟ-ทีตามคำขอเลขที่ 282875และคำว่า KOF-T ตามคำขอเลขที่ 283371 เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 30นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่า รับจดทะเบียนได้ จึงประกาศคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านแต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้พิจารณาคำคัดค้านของโจทก์และคำโต้แย้งของบริษัทสันติภาพ (ฮั่วเพ้ง 1958) จำกัด แล้ว วินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนและเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีความแตกต่างกันไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าให้ยกคำคัดค้านและดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 282875 และคำขอเลขที่ 283371 ต่อไป โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ชอบที่จะรับจดทะเบียนไว้ได้ ให้ยกอุทธรณ์และให้นายทะเบียนพิจารณาดำเนินการเพื่อจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ฉบับที่ 73/2541 และ 74/2541เพิกถอนคำวินิจฉัยให้ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 10ฉบับที่ 33/2540 และ 34/2540 ห้ามจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 282875 และ 283371 และให้จำหน่ายคำขอดังกล่าวออกจากสารบบ

จำเลยทั้งสิบให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 10 เพราะอำนาจในการวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534 เป็นอำนาจของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี มิได้รับแต่งตั้งจากจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 10การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยเห็นพ้องกับนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์นั้น มิใช่คำสั่งของจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 10 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 10 จึงมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ส่วนที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีมติให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองของบริษัทสันติภาพ (ฮั่วเพ้ง 1958) จำกัด โดยยืนตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนนั้นถูกต้องตามหลักกฎหมายและข้อเท็จจริงแล้ว ขอให้พิพากษายกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ฉบับที่ 73/2541 และ 74/2541และเพิกถอนคำวินิจฉัยให้ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 10 ฉบับที่ 33/2540 และ 34/2540 ห้ามจำเลยที่ 10 รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 282875 และ 283371 คำขออื่นให้ยก

จำเลยทั้งสิบ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบข้อแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 10 หรือไม่ เห็นว่า พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2535มาตรา 3 ให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา (จำเลยที่ 1) มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้(1) ปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วย เครื่องหมายการค้า มาตรา 4 กำหนดให้กองตรวจสอบ 2 ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบเพื่อการจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 5(3)(ก) เป็นส่วนราชการของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าและควบคุมดูแลการดำเนินการของกองตรวจสอบ 2เกี่ยวกับการตรวจสอบเพื่อการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ส่วนจำเลยที่ 10เป็นนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีอำนาจหน้าที่รับหรือไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534 ด้วยเหตุนี้เมื่อจำเลยที่ 10 มีคำวินิจฉัยให้ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นคัดค้านไว้และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีมติยืนตามคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 10 โดยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า รวมทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 10เป็นจำเลยต่อศาลได้

มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า คอฟ-ที และคำว่า KOF-T ของบริษัทสันติภาพ (ฮั่วเพ้ง 1958) จำกัด เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า ค๊อฟ-ซี่ และ คำว่า COF CY ของโจทก์ จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ เห็นว่า เครื่องหมายการค้าของบริษัทสันติภาพ (ฮั่วเพ้ง 1958)จำกัด ภาษาไทย คำว่า คอฟ-ที กับเครื่องหมายการค้าคำว่า ค๊อฟ-ซี่ ของโจทก์คู่หนึ่ง และเครื่องหมายการค้าของบริษัทสันติภาพ (ฮั่วเพ้ง 1958) จำกัดอักษรโรมัน คำว่า KOF-T กับเครื่องหมายการค้าคำว่า COF CY ของโจทก์อีกคู่หนึ่งนั้นต่างมีสำเนียงเสียงอ่านที่ใกล้เคียงกันมากและมี 2 พยางค์เหมือนกัน นายเสริมศักดิ์ เทพาคำ พยานโจทก์เบิกความว่า การออกเสียงเรียกขานชื่อเครื่องหมายการค้าทั้งสองคำดังกล่าวอาจทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดได้เนื่องจากคนไทยไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ และผู้ซื้อสินค้าอาจจะไม่ได้ดูชื่อที่เขียนอยู่บนห่อสินค้านั้นเพราะเป็นสินค้าที่มีราคาไม่มากนอกจากสำเนียงเสียงอ่านที่ใกล้เคียงกันมากดังกล่าวแล้ว ตัวอักษรที่นำมาประกอบเป็นเครื่องหมายการค้าทั้งอักษรไทยและอักษรโรมันต่างก็มีจำนวนตัวอักษรที่เกือบจะเท่ากัน แม้ตัวอักษรบางตัวและลีลาการเขียนตัวอักษรจะแตกต่างกันบ้างโดยเครื่องหมายการค้าของบริษัทสันติภาพ (ฮั่วเพ้ง 1958)จำกัด มีลักษณะผอมสูง ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะอ้วนกลมก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ข้อแตกต่างที่เห็นเด่นชัดยิ่งเครื่องหมายการค้าของบริษัทสันติภาพ (ฮั่วเพ้ง 1958) จำกัด และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่างก็ใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันและมีรายการสินค้าเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันด้วยแล้วความสับสนหลงผิดย่อมเกิดขึ้นได้โดยง่าย โดยเฉพาะในหมู่ผู้ซื้อที่ไม่ทันสังเกตหรือเป็นผู้ที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษหรือรู้เพียงเล็กน้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า ค๊อฟ-ซี่ และ COF CYรวมทั้งผลิตสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวออกจำหน่ายแก่คนทั่วไปมาหลายปีแล้ว บริษัทสันติภาพ (ฮั่วเพ้ง 1958) จำกัด จะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า คอฟ-ที และ KOF-T ใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันกับของโจทก์อีกไม่ได้เพราะเครื่องหมายการค้าทั้งสองเหมือนหรือคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้”

พิพากษายืน

Share