คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5449/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 30 บัญญัติว่า การแจ้งคำชี้ขาดไปยังผู้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ไม่ได้บัญญัติให้มีแบบพิมพ์หรือต้องทำในลักษณะใด เมื่อพิจารณาหนังสือของจำเลยฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2558 เป็นเรื่องแจ้งผลการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ถึงผู้จัดการของโจทก์ แม้หนังสือฉบับดังกล่าวลงชื่อโดยปลัดเทศบาลของจำเลย แต่ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นการลงชื่อในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนนายกเทศมนตรีของจำเลย เมื่อหนังสือฉบับนี้ได้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าจำเลยได้พิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่แล้วมีมติให้จัดเก็บตามการแจ้งประเมิน จึงถือได้ว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกับการแจ้งคำชี้ขาดที่นายกเทศมนตรีของจำเลยแจ้งไปยังโจทก์เป็นลายลักษณ์อักษรตามมาตรา 30 และถือได้ในทำนองเดียวกันว่าได้?มีการวินิจฉัยชี้ขาดคำคัดค้านหรือคำอุทธรณ์นั้นเสร็จสิ้นแล้ว อันเป็นเหตุให้โจทก์ต้องยื่นฟ้องคดีนี้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาด การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามมาตรา 31 ส่วนที่นายกเทศมนตรีของจำเลยมีหนังสือในครั้งหลังแจ้งคำชี้ขาดพร้อมกับส่งใบแจ้งคำชี้ขาด ตามมาตรา 30 อันเป็นการแจ้งคำชี้ขาดที่มีการนำแบบพิมพ์ ภ.ร.ด. 11 มาใช้ แต่หาได้มีการยกเลิกเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขความที่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบตามหนังสือฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2558 ในครั้งแรกนั้นไม่ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดตามใบแจ้งคำชี้ขาดฉบับแรกได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินเพิ่มประจำปีภาษี 2556 และปีภาษี 2557 ของจำเลยตามคำฟ้องของโจทก์ และให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินเพิ่มพร้อมดอกเบี้ยรวมจำนวน 789,000.59 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 780,342 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของโรงเรือนและลานคอนกรีตสำหรับจอดรถยนต์ซึ่งเป็นสถานประกอบการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งอยู่เลขที่ 101 เดิมโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) ประจำปีภาษี 2556 และปีภาษี 2557 พร้อมทั้งชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแก่จำเลยแล้ว ต่อมาสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบพบว่า โจทก์และผู้ประกอบการอีก 3 ราย ชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินปีภาษี 2556 ไม่ถูกต้อง โดยโจทก์ชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินในส่วนที่เป็นลานคอนกรีตในอัตรา 5 บาท และ 10 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งต่ำกว่าอัตรา 40 บาทต่อตารางเมตร ตามประกาศของจำเลย ที่ 151/2547 เรื่อง การกำหนดราคามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรในเขตเทศบาลตำบลหัวสะพาน ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2547 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2557 จำเลยมีหนังสือที่ พบ 52802/370 แจ้งให้โจทก์ยื่นชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2556 และปีภาษี 2557 เพิ่มในส่วนที่ขาดเป็นเงิน 390,981 บาท แต่โจทก์มีหนังสือชี้แจงขอให้คำนวณภาษีสำหรับพื้นที่จอดรถและพื้นที่ต่อเนื่องตามอัตราเดิมที่เคยชำระ ต่อมาวันที่ 12 มิถุนายน 2558 จำเลยมีหนังสือที่ พบ 52802/757 แจ้งให้โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2556 และปีภาษี 2557 เพิ่มอีกเป็นเงิน 390,981 บาทต่อปี รวมเป็นเงิน 781,962 บาท วันที่ 24 กรกฎาคม 2558 โจทก์ก็ได้ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. 2) ประจำปีภาษี 2556 และปีภาษี 2557 เพิ่มเติม เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2558 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยออกใบแจ้งรายการประเมินย้อนหลังให้โจทก์ชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินปีภาษี 2556 และปีภาษี 2557 ในส่วนพื้นที่ต่อเนื่อง ได้แก่ ลานคอนกรีตสำหรับปีภาษีทั้งสองปีที่พิพาท และพื้นที่ลานจอดรถสำหรับปีภาษี 2556 เพิ่มขึ้นเป็นอัตรา 40 บาทต่อตารางเมตร รวมเป็นค่าภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม 780,342 บาท หลังจากนั้นวันที่ 7 สิงหาคม 2558 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ ต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม 2558 คณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบให้เรียกเก็บเพิ่มตามที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทักท้วง แล้ววันที่ 11 กันยายน 2558 ปลัดเทศบาลปฏิบัติราชการแทนนายกเทศมนตรีของจำเลยได้มีหนังสือที่ พบ 52802/990 ลงวันที่ 11 กันยายน 2558 แจ้งผลการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ให้โจทก์ทราบว่า จำเลยได้ประชุมคณะกรรมการพิจารณาการประเมินใหม่ได้ข้อสรุปว่า การจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยเป็นไปตามข้อทักท้วงของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งแจ้งว่าการจัดเก็บไม่เป็นไปตามประกาศราคากลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรที่จำเลยได้ประกาศไว้เมื่อปี 2547 และเป็นการเรียกเก็บย้อนหลัง คณะกรรมการพิจารณาการประเมินใหม่จึงไม่อาจพิจารณาย้อนหลังและมีมติขัดแย้งกับข้อทักท้วงนั้นได้ อีกทั้งยังมีบริษัทและห้างร้านอื่นที่จำเลยเรียกเก็บเพิ่มตามข้อทักท้วงของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินยอมชำระเพิ่มเติมตามข้อทักท้วงเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2557 ทำให้ไม่สามารถชี้ขาดคำร้องของโจทก์ และมีมติให้จัดเก็บตามการแจ้งการประเมิน และวันที่ 17 สิงหาคม 2558 โจทก์ชำระภาษีเพิ่มเติมตามการประเมินเป็นเงิน 780,342 บาท แล้ว แต่โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงยื่นฟ้องเป็นคดีนี้ในวันที่ 9 ตุลาคม 2558 หลังจากนั้นวันที่ 18 ธันวาคม 2558 นายกเทศมนตรีของจำเลยได้มีหนังสือที่ พบ 52802/1289 ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2558 แจ้งคำชี้ขาดให้โจทก์ทราบ ตามหนังสือใบแจ้งคำชี้ขาดตามมาตรา 30 เลขที่ 2/2558 ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2558 และคำชี้แจงประกอบใบแจ้งคำชี้ขาดตามมาตรา 30 โดยโจทก์ได้รับเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2558
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เป็นประเด็นแรกที่ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 30 บัญญัติว่า คำชี้ขาดนั้นให้แจ้งไปยังผู้ร้องเป็นลายลักษณ์อักษร ถ้ามีการลดจำนวนเงินที่ประเมินไว้เป็นจำนวนเท่าใดก็ให้แจ้งไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อจะได้แก้ไขบัญชีการประเมินตามคำชี้ขาดนั้น ดังนี้ การแจ้งคำชี้ขาดไปยังผู้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่นั้น กฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ไม่ได้บัญญัติให้มีแบบพิมพ์หรือต้องทำในลักษณะใด เมื่อพิจารณาหนังสือของจำเลยที่ พบ 52802/990 ลงวันที่ 11 กันยายน 2558 เป็นเรื่องแจ้งผลการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ถึงผู้จัดการของโจทก์ อ้างถึงหนังสือของโจทก์ที่ขออุทธรณ์ที่โจทก์ยื่นประกอบคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน มีความว่า “…ตามที่โจทก์ขออุทธรณ์ใบแจ้งการประเมินประจำปีภาษี 2556 และปีภาษี 2557 (ภ.ร.ด. 8) เล่ม 2 เลขที่ 32 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2558… เทศบาลตำบลหัวสะพานได้ประชุมคณะกรรมการพิจารณาการประเมินใหม่ ได้ข้อสรุปว่าการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินของเทศบาลฯ เป็นไปตามข้อทักท้วงของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งแจ้งว่าการจัดเก็บไม่เป็นไปตามประกาศราคากลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรที่เทศบาลฯ ได้ประกาศไว้เมื่อปี 2547 และเป็นการเรียกเก็บย้อนหลัง คณะกรรมการพิจารณาการประเมินใหม่จึงไม่สามารถพิจารณาย้อนหลังและมีมติขัดแย้งกับข้อทักท้วงได้ อีกทั้งยังมีบริษัทห้างร้านอื่นที่เทศบาลฯ ได้เรียกเก็บเพิ่มตามข้อทักท้วงของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ยินดีชำระเพิ่มเติมตามข้อทักท้วงเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2557 เป็นผลให้ไม่สามารถชี้ขาดคำร้องของบริษัท ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด และมีมติให้จัดเก็บตามการแจ้งการประเมิน จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ” ซึ่งหากหนังสือฉบับนี้เป็นเพียงความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาการประเมินใหม่ก็ไม่มีเหตุจำเป็นต้องแจ้งให้โจทก์ทราบ เพราะพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 บัญญัติให้แจ้งไปยังผู้ร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่เป็นลายลักษณ์อักษรเฉพาะแต่คำชี้ขาดของนายกเทศมนตรีของจำเลยตามมาตรา 30 เท่านั้น นอกจากนี้ แม้หนังสือฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2558 เป็นการลงชื่อโดยนายภราดร ปลัดเทศบาลของจำเลย แต่ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นการลงชื่อในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนนายกเทศมนตรีของจำเลย แตกต่างกับหนังสือของจำเลยก่อนหน้านั้น ดังเช่นตามหนังสือฉบับลงวันที่ 18 เมษายน 2557 ที่จำเลยแจ้งให้โจทก์ชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2556 ในส่วนเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน ก็ลงชื่อโดยนายภราดรในฐานะปลัดเทศบาลของจำเลยเท่านั้น เมื่อข้อความในหนังสือฉบับนี้ได้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าเป็นการแจ้งความให้โจทก์ทราบว่าจำเลยได้พิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ของโจทก์แล้ว มีมติให้จัดเก็บตามการแจ้งประเมิน และแจ้งให้โจทก์ทราบ การกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์เข้าใจได้ว่าเป็นการแจ้งความให้โจทก์ทราบคำชี้ขาดของนายกเทศมนตรีของจำเลยซึ่งเป็นผู้มีอำนาจชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ จึงถือได้ว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกับการแจ้งคำชี้ขาดที่นายกเทศมนตรีของจำเลยแจ้งไปยังโจทก์เป็นลายลักษณ์อักษรตามมาตรา 30 และถือได้ในทำนองเดียวกันว่าได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดคำคัดค้านหรือคำอุทธรณ์?นั้นเสร็จสิ้นแล้ว อันเป็นเหตุให้โจทก์ต้องยื่นฟ้องคดีนี้ภายในสามสิบวันนับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาดดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวจึงหาได้เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 31 ไม่ เพราะถึงอย่างไรโจทก์ก็ไม่ได้ฟ้องคดีภายหลังสามสิบวัน นับแต่วันรับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาดในครั้งหลัง (วันที่ 24 ธันวาคม 2558) ส่วนที่นายกเทศมนตรีของจำเลยมีหนังสือในครั้งหลังแจ้งคำชี้ขาดพร้อมกับส่งใบแจ้งคำชี้ขาดตามมาตรา 30 เลขที่ 2/2558 ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2558 นั้น อันเป็นการแจ้งคำชี้ขาดที่มีการนำแบบพิมพ์ ภ.ร.ด. 11 มาใช้ พร้อมกับแจ้งเหตุผลของคำชี้ขาดและระบุกรณีที่อาจอุทธรณ์ต่อศาลได้ไว้นั้น แต่หาได้มีการยกเลิกเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขความที่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบตามหนังสือฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2558 ในครั้งแรกนั้นไม่ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดตามใบแจ้งคำชี้ขาดฉบับนี้ได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า การแจ้งผลการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ของปลัดเทศบาลไม่ถือเป็นการแจ้งคำชี้ขาดตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 30 เนื่องจากนายกเทศมนตรีของจำเลยเพิ่งแจ้งคำชี้ขาดให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2558 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 (1) และมาตรา 8 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
เมื่อได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องแล้ว เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและไม่ให้คดีต้องเนิ่นช้าออกไป จึงเห็นควรวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทอื่นที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดไว้แต่ยังไม่ได้วินิจฉัยต่อไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวน เนื่องจากคู่ความทั้งสองก็ได้นำสืบพยานหลักฐานมาครบถ้วนกระบวนความแล้ว โดยประเด็นข้อพิพาทที่ว่า การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2556 และปีภาษี 2557 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และจำเลยต้องคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นสมควรวินิจฉัยรวมกันไป ปัญหาที่ว่าการประเมินค่ารายปีและค่าภาษีย้อนหลังประจำปีภาษี 2556 และปีภาษี 2557 ตามใบแจ้งรายการประเมินและใบแจ้งคำชี้ขาดของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า คดีนี้จำเลยออกใบแจ้งรายการประเมินย้อนหลังให้โจทก์ชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินเฉพาะพื้นที่ต่อเนื่องที่พิพาทประจำปีภาษี 2556 จำนวน 2 รายการ ประกอบด้วยพื้นที่ลานคอนกรีตและพื้นที่เพิงโรงจอดรถด้านข้างสถานีบริการน้ำมัน และปีภาษี 2557 จำนวน 1 รายการ คือพื้นที่ลานคอนกรีต โดยประเมินค่ารายปีใหม่ในอัตรา 40 บาทต่อตารางเมตร เป็นไปตามราคามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรที่จำเลยกำหนดไว้ในประกาศของจำเลย ที่ 151/2547 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2547 เรื่อง การกำหนดราคามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรในเขตเทศบาลตำบลหัวสะพาน ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งค่ารายปีตามความในมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 ให้หมายถึง จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ โดยไม่คำนึงว่าจะมีการเช่าทรัพย์สินนั้นหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยและข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้การกำหนดค่ารายปีสอดคล้องกับค่าเช่าดังกล่าวมากที่สุด ส่วนข้อเสนอแนะของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่อ้างเพียงว่า จำเลยไม่จัดเก็บตามอัตราราคามาตรฐานกลางที่จำเลยกำหนดไว้ในประกาศฉบับลงวันที่ 16 สิงหาคม 2547 ทำให้ไม่เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ยื่นเสียภาษีทุกรายนั้น เมื่อพิจารณาตามประกาศของจำเลยฉบับดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าได้กำหนดราคามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตร กรณีพื้นที่ต่อเนื่องในส่วนลานคอนกรีตและลานจอดรถที่พิพาทนี้อัตรา 40 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งเป็นเงินจำนวนสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรือนประเภทพิเศษ เช่น โรงเรียนเอกชน โรงแรม โรงภาพยนตร์ โรงพยาบาล อาคารชุด อาคารแถว ห้างสรรพสินค้า สถานีบริการน้ำมัน โรงงานอุตสาหกรรม ตลาด ท่าเรือ ซึ่งตามประกาศฉบับเดียวกันได้กำหนดราคามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรไว้ในอัตรา 50 บาทต่อตารางเมตร ทั้งที่โรงเรือนประเภทพิเศษดังกล่าวอาจหาประโยชน์จากทรัพย์สินได้สูงกว่าพื้นที่พิพาทเป็นอันมาก นอกจากนี้อัตราราคามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรสำหรับลานจอดรถและลานคอนกรีตที่พิพาทกลับสูงกว่าโรงเรือนทั่วไปประเภทบ้านพัก ห้องแถว หรือตึกแถวอีกด้วย ทั้งในพื้นที่เขตเดียวกับโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่ามีการให้เช่าลานคอนกรีตในอัตราสูงถึง 40 บาทต่อตารางเมตรเลย จึงเห็นได้ว่าราคามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรสำหรับพื้นที่พิพาทตามประกาศดังกล่าวไม่เหมาะสมต่อความเป็นจริง สอดคล้องกับที่จำเลยเคยชี้แจงต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และเป็นเหตุให้มีการกำหนดค่ารายปีตั้งแต่ปีภาษี 2554 จนถึงการประเมินครั้งก่อนปีภาษีที่พิพาทเป็นว่า ลานจอดรถเป็นอัตรา 10 บาทต่อตารางเมตร และลานคอนกรีตที่เหลือเป็นอัตรา 5 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งข้อเท็จจริงที่จำเลยกำหนดค่ารายปีเท่าเดิมตลอดมาเช่นนี้ แสดงว่า สภาพเศรษฐกิจของสถานที่ตั้งโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่โรงเรือนและที่ดินของโจทก์ที่ได้รับประโยชน์นั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อันจะต้องกำหนดค่ารายปีเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ความข้อนี้สอดคล้องกับประกาศของจำเลย ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2557 เรื่อง กำหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตร (ต่อเดือน) ภาษีโรงเรือนและที่ดินในเขตของจำเลย ที่กำหนดอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางสำหรับลานจอดรถและลานคอนกรีต อัตรา 5 บาทต่อตารางเมตร เพื่อใช้บังคับเป็นการทั่วไปตั้งแต่ปีภาษี 2558 ภายหลังปีภาษีที่พิพาท ทั้งยังได้ความตามที่นางเมตตา หัวหน้าฝ่ายพัฒนารายได้ของจำเลย เป็นพยานจำเลยเบิกความตอบทนายความโจทก์ถามค้านว่า ราคากลางที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทักท้วงนั้น มีราคาที่สูงเกินไป ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จำเลยจึงออกประกาศฉบับใหม่ดังกล่าว หลังจากนั้นจำเลยประเมินค่ารายปีทรัพย์สินส่วนพื้นที่ต่อเนื่องนี้ในอัตราตารางเมตรละ 5 บาท โดยประกาศของจำเลยฉบับใหม่นี้กำหนดราคามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตร อันเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับประกาศองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกลางนา เทศบาลเมืองหัวหิน และองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านในดง ซึ่งเป็นท้องที่ใกล้เคียงกันที่ต่างกำหนดราคามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรในส่วนลานจอดรถและลานคอนกรีต อัตรา 4 บาท 6 บาท และ 1 บาท ต่อตารางเมตร ตามลำดับ อีกด้วย ดังนั้น แม้ค่ารายปีของทรัพย์สินแต่ละรายอาจจะเพิ่มขึ้นได้แล้วแต่ข้อเท็จจริงของแต่ละปีก็ตาม แต่การพิจารณาค่ารายปีเพิ่มขึ้นเฉพาะปีภาษีที่พิพาทให้มีความแตกต่างกับปีภาษีก่อนและภายหลังปีภาษีที่พิพาทมากขึ้นกว่าเดิมถึง 4 และ 8 เท่า โดยที่ไม่มีพฤติการณ์อื่นที่ให้เห็นได้ว่าค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วนั้นไม่เหมาะสมอย่างไรเช่นนี้ ย่อมเป็นการประเมินที่ไม่สมเหตุสมผลและไม่ได้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 รวมทั้งปรากฏอย่างชัดเจนว่า การที่จำเลยประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินในปี 2556 และปีภาษี 2557 เพิ่ม ก็เพื่อให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่ให้จำเลยสั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตรวจสอบและเรียกเก็บเพิ่ม โดยอ้างว่าเพื่อให้เป็นไปตามอัตราราคามาตรฐานกลางตามประกาศของจำเลย ที่ 151/2547 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2547 ซึ่งอัตราราคามาตรฐานกลางในส่วนนี้แม้แต่จำเลยเองก็ไม่เห็นด้วย จึงหาใช่เป็นเรื่องพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นเองหรือเห็นชอบว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเองหรือด้วยเหตุประการอื่น และได้มีการประเมินค่ารายปีใหม่โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 มาตรา 8 วรรคสาม แต่อย่างใดไม่ การประเมินค่ารายปีและค่าภาษีย้อนหลังสำหรับพื้นที่ต่อเนื่องที่พิพาทประจำปีภาษี 2556 และปีภาษี 2557 ตามใบแจ้งรายการประเมินและคำชี้ขาดของจำเลย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น จำเลยต้องรับผิดคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินในส่วนที่จำเลยประเมินย้อนหลังเพิ่มขึ้นจากการประเมินเดิม และโจทก์ได้ชำระค่าภาษีดังกล่าวไปแล้ว จำนวนเงิน 780,342 บาท แก่โจทก์ แต่โจทก์ก็มีสิทธิได้รับคืนภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ชำระเกิน จำนวนเงิน 780,342 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด ตามมาตรา 39 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 เท่านั้น อุทธรณ์ของโจทก์ในประเด็นสองข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับเป็น ให้เพิกถอนการประเมินตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พุทธศักราช 2475 ประจำปีภาษี 2556 และปีภาษี 2557 ตามใบแจ้งรายการประเมิน เล่มที่ 2 เลขที่ 32 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2558 และคำชี้ขาดของจำเลย ตามใบแจ้งคำชี้ขาดตามมาตรา 30 เลขที่ 2/2558 ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2558 กับให้จำเลยชำระเงินจำนวน 780,342 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share