แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขณะพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น กฎหมายที่โจทก์ฟ้องว่ากระทำความผิดมีโทษขั้นต่ำตั้งแต่ 5 ปี ศาลชั้นต้นจึงต้องสืบพยานโจทก์ประกอบจนกว่าจะพอใจว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง แต่ในชั้นศาลอุทธรณ์กฎหมายได้แก้ไขใหม่เป็นจำคุกขั้นต่ำตั้งแต่ 4 ปี อันเป็นกรณีที่กฎหมายสารบัญญัติที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดซึ่ง ป.อ. มาตรา 3 บังคับให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด แต่ในส่วนกฎหมายวิธีสบัญญัติมิได้มีบทบังคับเช่นนั้นด้วย ดังนั้น จึงต้องนำกฎหมายวิธีสบัญญัติที่ใช้อยู่ในขณะที่จำเลยถูกฟ้องมาบังคับใช้แก่การพิจารณาคดีของจำเลยตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนความไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาคดีในลำดับชั้นศาลใด เพื่อมิให้เกิดความลักลั่นในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีเดียวกัน ไม่ว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายในส่วนสารบัญญัติดังกล่าวในลำดับชั้นศาลใดก็ไม่มีผลกระทบถึงกระบวนพิจารณาคดีของจำเลย ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงยังคงต้องฟังพยานโจทก์จนพอใจว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดจริง จึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 83 และบวกโทษในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีนี้
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 มีอายุ 18 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสาม จำเลยที่ 2 มีอายุ 16 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 และ 75 ตามลำดับ คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน และคงจำคุกจำเลยที่ 2 เพียง 2 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ 1 ปี 3 เดือน เมื่อบวกโทษในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีนี้แล้วเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 8 เดือน ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติโดยคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างไม่โต้แย้งว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ สิบตำรวจเอกประเสริฐพาสายลับไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนที่โต๊ะสนุกเกอร์หน้าโรงแรมเซนโฮเต็ลตามที่สืบทราบมาว่าต้องติดต่อขอซื้อผ่านชายวัยรุ่น 2 คน ซึ่งมักไปเล่นสนุกเกอร์อยู่ที่นั่นเป็นประจำ หลังจากสายลับเข้าไปเจรจาแล้ว จำเลยที่ 2 ชวนจำเลยที่ 3 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของสายลับไปซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลาง 10 เม็ด จากจำเลยที่ 1 ที่หอพักนักศึกษาซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 200 เมตร ในราคา 600 บาท เมื่อพาสายลับกลับมาพบสิบตำรวจเอกประเสริฐซึ่งรออยู่ที่เดิมสักครู่หนึ่งก็ถูกร้อยตำรวจเอกธวัชชัยกับพวกจับกุมตัวและค้นพบธนบัตรฉบับละร้อยในกระเป๋ากางเกงด้านขวาของจำเลยที่ 2 ในที่สุดจำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงพาร้อยตำรวจเอกธวัชชัยกับพวกไปจับกุมจำเลยที่ 1 ที่หอขาว โดยช่วยกันชี้ตัวยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขายเมทแอมเฟตามีนของกลาง 10 เม็ด แก่สายลับ โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ต่างก็มิได้ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 คดีในส่วนของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นอันยุติ
จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า แม้จำเลยที่ 2 จะให้การรับสารภาพตามฟ้องว่าร่วมกับจำเลยอื่นมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ก็ต่อเมื่อฟังพยานโจทก์จนพอใจว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แล้วเท่านั้น เพราะว่าขณะจำเลยที่ 2 ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยที่ 2 รับสารภาพนั้น กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 เป็นเพียงการชี้เบาะแสของผู้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน พยานหลักฐานของโจทก์แตกต่างกันจนเป็นพิรุธ ไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่รับสารภาพแล้ว และเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า แม้ในชั้นพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะมีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และ 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และ 66 เดิมและใช้ข้อความใหม่แทน โดยแก้ไขระวางโทษจำคุกขั้นต่ำตั้งแต่ห้าปีเป็นระวางโทษจำคุกขั้นต่ำตั้งแต่สี่ปี ก็เป็นกรณีที่กฎหมายวิธีสารบัญญัติที่ใช้ในขณะกระทำความผิดซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 บังคับให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด แต่ในส่วนกฎหมายวิธีสบัญญัติมิได้มีบทบังคับเช่นนั้นด้วย ดังนั้น จึงต้องนำกฎหมายวิธีสบัญญัติที่ใช้อยู่ในขณะที่จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องมาบังคับใช้แก่การพิจารณาคดีของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนความไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาคดีในลำดับชั้นศาลใด เพื่อมิให้เกิดความลักลั่นในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีเดียวกัน ไม่ว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายในส่วนสารบัญญัติดังกล่าวในลำดับชั้นศาลใดก็ไม่มีผลกระทบถึงกระบวนพิจารณาคดีของจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงยังคงต้องฟังพยานโจทก์จนพอใจว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดจริง จึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ เมื่อศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ไว้แล้ว และพอใจว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดจริง จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิอุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังรับฟังไม่ได้เช่นนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับดังกล่าวจึงไม่ชอบ แต่เพื่อมิให้คดีเนิ่นช้าเกินสมควร ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาพิพากษาเสียก่อน…
พิพากษาแก้เป็นว่า ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี ลดโทษให้จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5