คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 807/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุซึ่งได้เอาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลย จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์มีส่วนได้เสียในรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ เมื่อจำเลยให้การว่าโจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าว โจทก์ไม่มีส่วนได้เสียในรถยนต์ที่เอาประกันภัย ประเด็นจึงมีเพียงว่า โจทก์มีส่วนได้เสียในฐานะที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครองรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยหรือไม่เท่านั้น ที่โจทก์นำสืบและฎีกาว่า เจ้าของรถยนต์คันที่โจทก์เอาประกันภัยไว้กับจำเลยได้นำรถยนต์คันดังกล่าวเข้าร่วมในกิจการของโจทก์โดยแบ่งผลประโยชน์กันโจทก์จึงมีส่วนต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดด้วยนั้น เป็นเรื่องนอกคำฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้ในขณะที่ทำสัญญาประกันภัย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์คันดังกล่าว กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่ผูกพันคู่กรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 70-5364 กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ ในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย นายสมศักดิ์ ชื่นแผ้ว ได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน70-5364 กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ ชนกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน6ข-2750 กรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและถึงแก่ความตายรถยนต์หมายเลขทะเบียน 6ข-2750 กรุงเทพมหานคร ได้รับความเสียหายพังยับเยินทั้งคัน ภายหลังเกิดเหตุ โจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ตายและผู้บาดเจ็บซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไปทั้งหมดแล้วจำเลยจึงต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ตามสัญญาประกันภัย ขอให้จำเลยชำระเงิน 203,541.63 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 200,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะขณะเกิดเหตุโจทก์มิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน 70-5364 กรุงเทพมหานคร เนื่องจากโจทก์ได้ขายรถยนต์คันดังกล่าวให้นายพยม นาคมณี ไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีส่วนได้เสียในตัวรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้ จำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์จำเลยนำสืบและแถลงรับกันตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 29มิถุนายน 2527 ฟังได้ว่าจำเลยได้ทำสัญญารับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 70-5364 กรุงเทพมหานคร จากโจทก์มีกำหนดเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2525 ถึงวันที่ 12 กรกฎาคม2526 ปรากฏตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.4 เดิมโจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์คันดังกล่าว แต่ขณะทำสัญญาประกันภัยโจทก์ได้ขายรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่นายพยม นาคมณี ไปแล้ว เมื่อวันที่ 28ธันวาคม 2525 รถยนต์คันดังกล่าวซึ่งเป็นรถยนต์บรรทุก 10 ล้อได้เกิดชนกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 6ข-2750 กรุงเทพมหานครซึ่งมีร้อยตำรวจเอกอภิชัย วิบูลย์เสข เป็นผู้ขับขี่ เป็นเหตุให้ร้อยตำรวจเอกอภิชัยและนายจักรพล เพชรบุตร ซึ่งนั่งมาในรถได้รับบาดเจ็บสาหัสและนายเกษม ยะโสวันต์ กับนายทรงพล จาตุรงค์กุลซึ่งนั่งมาในรถอีก 2 คน ถึงแก่ความตาย หากจำเลยจะต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว โจทก์จำเลยตกลงกันให้จำเลยรับผิดเป็นเงิน100,000 บาท
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 70-5364 กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้เอาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยเท่านั้น ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์นำรถยนต์คันดังกล่าวไปใช้ในกิจการของโจทก์อย่างไร อันจะมีผลให้โจทก์ต้องร่วมรับผิดในแผลแห่งการกระทำละเมิดของผู้ขับขี่รถยนต์คันดังกล่าวจึงเป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์มีส่วนได้เสียในรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์เมื่อจำเลยให้การว่าโจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าว โจทก์ไม่มีส่วนได้เสียในรถยนต์ที่เอาประกันภัย ประเด็นจึงมีเพียงว่า โจทก์มีส่วนได้เสียในฐานะที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครองรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยหรือไม่เท่านั้น ที่โจทก์นำสืบและฎีกาว่า เจ้าของรถยนต์คันที่โจทก์เอาประกันภัยไว้กับจำเลย ได้นำรถยนต์คันดังกล่าวเข้าร่วมในกิจการของโจทก์ โดยแบ่งผลประโยชน์กัน โจทก์จึงมีส่วนต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดด้วยนั้น เป็นเรื่องนอกคำฟ้องศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้ในขณะที่ทำสัญญาประกันภัย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในรถยนต์คันดังกล่าวกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่ผูกพันคู่กรณีแต่อย่างใด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แม้อำนาจฟ้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ปัญหาอื่นที่โจทก์ฎีกามาไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share