คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8052/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญา และเรียกเงินมัดจำกับเบี้ยปรับจากจำเลยก็เพราะกล่าวหาว่าจำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขาย ที่โจทก์ฎีกาว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคแรก แม้จะไม่ปรากฏว่าจำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายแต่ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยสมัครใจเลิกสัญญาโดยปริยายแล้วโจทก์จึงขอให้จำเลยคืนเงินมัดจำและเบี้ยปรับแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยได้ จึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นแม้ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้มาและโจทก์ฎีกาในข้อนี้อีก ก็ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2533 โจทก์กับจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 24736ตำบลโพรงมะเดื่อ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐมเนื้อที่ 3 ไร่ 1 งานเศษ ในราคา 620,000 บาท โจทก์ผู้จะซื้อวางเงินมัดจำ 150,000 บาท ตกลงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินวันที่ 25 ตุลาคม 2533 เมื่อครบกำหนดจำเลยผู้จะขายไม่สามารถโอนที่ดินแก่โจทก์เพราะญาติจำเลยอายัดไว้โจทก์จำเลยจึงแก้ไขสัญญาเปลี่ยนวันโอนที่ดินไปเป็นวันที่ 25 มกราคม 2534 และกำหนดเบี้ยปรับไว้เมื่อครบกำหนดจำเลยไม่สามารถโอนที่ดินให้แก่โจทก์อีกโจทก์จำเลยจึงทำบันทึกท้ายสัญญาว่าหลังวันที่ 30 มกราคม 2534 จะกำหนดวันโอนที่ดินกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง ต่อมาโจทก์พยายามติดต่อให้จำเลยกำหนดวันโอนที่ดินหลายครั้งจำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาให้คืนมัดจำ แต่จำเลยยังคงเพิกเฉยจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาแก่โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีสิทธิปรับจำเลยตามสัญญาอีก 750,000 บาท รวมเป็นเงิน900,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2534 ถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย 22,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 922,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 900,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้ผิดนัดผิดสัญญาเพราะการตกลงเลื่อนกำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างโจทก์จำเลยครั้งล่าสุดยังไม่มีการกำหนดวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินไว้เป็นที่แน่นอน และก่อนฟ้องโจทก์ก็มิได้แจ้งนัดวันโอนที่ดินไปยังจำเลย โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายโจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายและเรียกเงินมัดจำกับเบี้ยปรับจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคแรกบัญญัติว่า “เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม” แสดงว่าคู่สัญญาอาจตกลงเลิกสัญญากันได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการผิดสัญญากันก่อน เมื่อโจทก์จำเลยต่างทำสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 โดยต่างไม่ทราบว่านางสมจิต ฟ้องจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 และเมื่อจำเลยไม่สามารถทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ในวันที่ 25 ตุลาคม 2533 เพราะนางสมจิตอายัดที่ดินพิพาทโจทก์จำเลยได้ตกลงกันใหม่นัดโอนที่ดินในวันที่ 25 มกราคม 2534เมื่อถึงวันนัดโอนไม่ได้อีก ครั้นต่อมาวันที่ 30 มกราคม 2534ซึ่งเป็นวันที่ทั้งสองฝ่ายนัดพบเพื่อเจรจากำหนดวันโอนกันใหม่ก็ไม่ได้ตกลงกำหนดวันโอนแต่อย่างใด ทั้งโจทก์จำเลยต่างไม่ได้ขอให้อีกฝ่ายชำระหนี้ให้ตามสัญญา ต่างฝ่ายต่างเพิกเฉยจนถึงวันที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จะเลย แสดงว่าโจทก์จำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำกันไว้แต่เดิมโดยปริยายแล้ว การบอกเลิกสัญญาของโจทก์ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งสองฝ่ายต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม เห็นว่า ในคำบรรยายฟ้องโจทก์ตั้งประเด็นกล่าวหาว่า จำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายโดยไม่โอน ที่ดินพิพาทและไม่คืนเงินมัดจำให้โจทก์ตามสัญญา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงได้บอกเลิกสัญญาและปรับจำเลยตามสัญญา กับขอให้จำเลยคืนเงินมัดจำ แสดงให้เห็นว่า ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญา และเรียกเงินมัดจำกับเบี้ยปรับจากจำเลย ก็เพราะกล่าวหาว่าจำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่โจทก์ฎีกาดังกล่าวมาข้างต้นในทำนองว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคแรกแม้จะไม่ปรากฏว่าจำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขาย แต่ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยสมัครใจเลิกสัญญาโดยปริยายแล้วโจทก์จึงขอให้จำเลยคืนเงินมัดจำและเบี้ยปรับแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยได้ จึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นแม้ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้มาและโจทก์ฎีกาในข้อนี้อีก ก็ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาโจทก์

Share