คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8045/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658(1) บัญญัติว่าผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของตนแก่กรมการอำเภอต่อหน้าพยานอีกอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน แต่ขณะปลัดอำเภอ ค. สอบถามความประสงค์ของผู้ตายในการทำพินัยกรรมนั้น ผู้ตายนอนป่วยอยู่บนรถพยาบาลไม่สามารถลงจากรถได้ และ พ. ซึ่งเป็นผู้พิมพ์ข้อความในพินัยกรรมและลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม ไม่ได้เห็นตัวผู้ทำพินัยกรรมปลัดอำเภอ ค. กับผู้ร้องเป็นคนบอกให้ พ. พิมพ์พินัยกรรมจากนั้นปลัดอำเภอ ค. กับผู้ร้องได้นำพินัยกรรมไปอ่านให้ผู้ทำพินัยกรรมฟังแล้วนำกลับมาให้ พ. ลงลายมือชื่อเป็นพยานจึงฟังได้ว่าผู้ตายมิได้แจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของตนต่อหน้าพยานสองคนพร้อมกัน ซึ่งการอยู่ต่อหน้าพยานนั้นจะต้องอยู่ต่อหน้าโดยพยานได้เห็นได้ยินผู้ทำพินัยกรรมแจ้งข้อความมิใช่เพียงแต่เห็นมีการทำพินัยกรรมและข้อความในพินัยกรรมเท่านั้น ดังนั้นพินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลบังคับ

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอ ขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมฉบับที่ 4 ที่ผู้ตายได้ทำไว้

ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมฉบับที่ 3

ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งไม่เป็นบุคคลต้องห้ามที่จะเป็นผู้จัดการมรดกได้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม

ระหว่างพิจารณา ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงแก่กรรม นางสมบูรณ์พุ่มแพร ทายาทของผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ร้อยตรีเล็ก พุ่มแพร ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของนายเติม พุ่มแพร ผู้ตาย กับให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย

ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้นายปรีชา (ที่ถูกปรีดา) พุ่มแพรผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของนายเติม พุ่มแพร ผู้ตายให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย

ผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติได้ว่านายเติม พุ่มแพร ผู้ตายมีบุตร 2 คน คือ ผู้คัดค้านที่ 1 และผู้ร้องส่วนผู้คัดค้านที่ 2 เป็นน้องชายผู้ตาย ผู้ตายถึงแก่กรรมเมื่อวันที่26 กุมภาพันธ์ 2539 มีพินัยกรรมที่อ้างว่าผู้ตายทำไว้ 4 ฉบับฉบับที่ 1 ถูกเพิกถอนไปแล้ว คงเหลือพินัยกรรมฉบับที่ 2 ลงวันที่27 พฤศจิกายน 2535 พินัยกรรมฉบับที่ 3 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม2536 ฉบับที่ 1 และพินัยกรรมฉบับที่ 4 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2537พินัยกรรมฉบับที่ 2 เป็นพินัยกรรมสมบูรณ์ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่าพินัยกรรมฉบับที่ 4 สมบูรณ์หรือไม่ เห็นว่าพินัยกรรมฉบับที่ 4 เป็นพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658(1) บัญญัติว่าผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของตนแก่กรมการอำเภอต่อหน้าพยานอีกอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน แต่ได้ความจากคำเบิกความของนายธาดาอังศุโชติ ปลัดอำเภอคลองหลวงพยานผู้ร้องว่า ขณะพยานสอบถามความประสงค์ของผู้ตายในการทำพินัยกรรมนั้น ผู้ตายนอนป่วยอยู่บนรถพยาบาล ไม่สามารถลงจากรถได้ และนางพัชนี กระทู้พัฒนะซึ่งเป็นผู้พิมพ์ข้อความในพินัยกรรมและลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมดังกล่าวเบิกความเป็นพยานผู้ร้องว่า พยานเห็นแต่รถพยาบาลมาจอดอยู่โดยไม่ได้เห็นตัวผู้ทำพินัยกรรม นายธาดากับผู้ร้องเป็นคนบอกให้พยานพิมพ์พินัยกรรม จากนั้นได้นำพินัยกรรมไปอ่านให้ผู้ทำพินัยกรรมฟังแล้วนำกลับมาให้พยานลงลายมือชื่อเป็นพยาน จึงฟังได้ว่าผู้ตายมิได้แจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของตนต่อหน้าพยานสองคนพร้อมกัน ซึ่งการอยู่ต่อหน้าพยานนั้นจะต้องอยู่ต่อหน้าโดยพยานได้เห็นได้ยินผู้ทำพินัยกรรมแจ้งข้อความมิใช่เพียงแต่เห็นมีการทำพินัยกรรมและข้อความในพินัยกรรมเท่านั้น ดังนั้นพินัยกรรมฉบับที่ 4 จึงไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลบังคับ ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 มีว่าพินัยกรรมฉบับที่ 3 ฉบับที่ 1 สมบูรณ์หรือไม่ ผู้คัดค้านที่ 2 นำสืบว่าขณะทำพินัยกรรมฉบับที่ 3 ผู้ตายไม่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ที่จะสามารถทำนิติกรรมได้ ผู้คัดค้านที่ 2 มีผู้คัดค้านที่ 2 นายเจียกพุ่มแพร จ่าสิบเอกลักษณ์ พุ่มแพร นางจริง พุ่มแพร และนางน้อมน้อยราษฎร เป็นพยานเบิกความสอดคล้องต้องกันว่าเมื่อประมาณเดือนเมษายน 2536 ผู้ตายป่วยต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติประมาณ 20 วัน แพทย์ลงความเห็นว่าเส้นโลหิตในสมองตีบ พูดไม่รู้เรื่องรักษาไม่หาย จึงให้กลับบ้าน ผู้คัดค้านที่ 2 นำผู้ตายกลับมาที่บ้านผู้ตาย อาการของผู้ตายไม่ดีขึ้น จำคนไม่ได้ต้องจ้างคนมาดูแล วันที่ 19 พฤษภาคม 2536 ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกมาอุ้มผู้ร้องใส่รถไปที่บ้านผู้ร้อง ต่อมาผู้ร้องได้พาผู้ตายไปรักษาที่โรงพยาบาลพญาไท 2 ผู้ร้องไม่ยอมให้ญาติพี่น้องผู้ตายเข้าไปเยี่ยม ส่วนผู้ร้องเบิกความว่าขณะทำพินัยกรรมฉบับที่ 3 ผู้ร้องได้ติดต่อนายสมนึกทนายความ โดยมีแพทย์และปลัดอำเภอร่วมอยู่ด้วยในขณะทำพินัยกรรมผู้ร้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด 3,000บาท เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ได้นำสืบถึงมูลเหตุที่ผู้ตายทำพินัยกรรมฉบับที่ 2 ยกทรัพย์มรดกให้ญาติพี่น้องโดยให้ขายที่ดินมรดกแล้วนำเงินไปสร้างพระพุทธรูป 3 องค์ ที่หน้าตักพระพุทธรูปทุกองค์ให้สลักชื่อนางทองคำ พุ่มแพร ภริยาผู้ตายซึ่งถึงแก่กรรมไปก่อนแล้วส่วนเงินที่เหลือจากการสร้างพระพุทธรูปให้นำไปสร้างศาลาวางศพที่วัดใดวัดหนึ่ง เนื่องจากที่ดินมรดกเดิมเป็นของนางทองคำ และสาเหตุที่ผู้ตายไม่ยกทรัพย์มรดกตามที่ระบุในพินัยกรรมดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 นั้น ก็เจือสมกับพยานผู้คัดค้านที่ 2 ที่ว่าผู้ร้องโกรธบุตรทั้งสอง และขณะผู้ตายเจ็บป่วยรักษาตัวอยู่ที่บ้านผู้ตายนั้นผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ไม่เคยไปเยี่ยมเลย ทั้งยังได้ความจากคำเบิกความของผู้คัดค้านที่ 1 ตอบทนายผู้คัดค้านที่ 2 ถามค้านว่า ช่วงที่ทำพินัยกรรมฉบับที่ 3 นั้น ผู้ตายป่วยเป็นอัมพาตอยู่ พูดไม่ได้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และได้ความจากคำเบิกความของนางสมบูรณ์ พุ่มแพร ภริยาผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ดูแลผู้ตายตอบทนายผู้คัดค้านที่ 1 ว่าขณะที่พยานดูแลผู้ตายอยู่นั้น ผู้ตายพูดไม่ได้เดินไม่ได้ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เวลาขับถ่ายก็ไม่สามารถบอกได้ จึงเจือสมกับพยานผู้คัดค้านที่ 2 ที่ว่าผู้ตายไม่สามารถพูดได้ ไม่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ในขณะทำพินัยกรรมฉบับที่ 3 ส่วนที่ผู้ร้องเบิกความว่า ผู้ร้องได้ติดต่อนายสมนึกทนายความโดยมีแพทย์และปลัดอำเภอร่วมอยู่ด้วยในขณะทำพินัยกรรมนั้น ผู้ร้องไม่มีบุคคลดังกล่าวมาเบิกความสนับสนุนว่าในขณะทำพินัยกรรมฉบับที่ 3 ผู้ตายพูดได้และมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ทั้งพินัยกรรมฉบับดังกล่าวก็มีการลงลายพิมพ์นิ้วมือแทนการลงลายมือชื่อทั้งที่ผู้ตายเขียนหนังสือได้และก็เคยลงลายมือชื่อในพินัยกรรมฉบับก่อน ๆ จึงเป็นพิรุธ พยานผู้คัดค้านที่ 2 มีน้ำหนักให้รับฟังยิ่งกว่าพยานผู้คัดค้านที่ 1 น่าเชื่อว่าพินัยกรรมฉบับที่ 3 ทำขึ้นในขณะผู้ตายไม่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์พินัยกรรมดังกล่าวทำขึ้นโดยฉ้อฉล จึงไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าพินัยกรรมฉบับที่ 3 สมบูรณ์และตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของผู้ตายนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เมื่อพินัยกรรมฉบับที่ 3 และที่ 4 ไม่สมบูรณ์ คงเหลือพินัยกรรมฉบับที่ 2 เพียงฉบับเดียวที่สมบูรณ์จึงสมควรตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของผู้ตาย ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้นางสมบูรณ์ พุ่มแพร เข้าเป็นคู่ความแทนผู้คัดค้านที่ 1 ยกอุทธรณ์และยกฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ให้ตั้งร้อยตรีเล็ก พุ่มแพร ผู้คัดค้านที่ 2เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของนายเติม พุ่มแพร ผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย

Share