คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8041/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ให้เช่าไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่ให้เช่า เพียงมีสิทธินำทรัพย์สินดังกล่าวออกให้เช่าก็สามารถเป็นผู้ให้เช่าได้ ดังนี้ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาคารสำนักงานที่เช่าและในทางนำสืบของโจทก์กลับปรากฏว่า โจทก์เป็นเพียงผู้เช่าจากพ. ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงและโจทก์มีสิทธินำอาคารสำนักงานดังกล่าวออกให้เช่าช่วงได้ แต่เมื่อจำเลยยอมทำสัญญาเช่ากับโจทก์แล้ว จำเลยต้องผูกพันตามข้อสัญญาที่ทำไว้ การที่จำเลยไม่ยอมวางเงินประกันและชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาเช่า โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารให้ออกไปจากอาคารสำนักงานที่เช่า กับให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างชำระและค่าเสียหายเป็นรายวันตามสัญญาเช่าได้ กรณีถือได้ว่าโจทก์นำสืบได้สมฟ้องและตรงตามประเด็นแล้ว โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาเช่ากับโจทก์ตามสำเนาสัญญาเช่าท้ายฟ้องแล้วผิดสัญญา ขอให้ขับไล่จำเลยและให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างชำระแก่โจทก์ จำเลยให้การยอมรับว่าจำเลยทำสัญญาเช่าดังกล่าวกับโจทก์จริง เพียงแต่อ้างว่าสัญญาเช่าดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาให้อาศัยโดยไม่ต้อง เสียค่าเช่าซึ่งเป็นนิติกรรมที่แท้จริงเท่านั้น กรณีเช่นนี้จึงไม่จำต้องใช้สัญญาเช่าดังกล่าวเป็นพยานหลักฐาน แม้สัญญาเช่นฉบับดังกล่าวจะไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังสัญญาเช่านั้นได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาคารสำนักงานเลขที่ 530 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2537 จำเลยเช่าพื้นที่อาคารสำนักงานชั้นที่ 3 และชั้นที่ 4 ของโจทก์ มีกำหนดเวลา 2 ปีตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2537 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2539 อัตราค่าเช่าเดือนละ 80,000 บาท ชำระค่าเช่าภายในวันที่ 1 ของทุกเดือนจำเลยจะต้องวางเงินประกันแก่โจทก์ในวันทำสัญญาเช่าเป็นเงิน160,000 บาท หลังจากทำสัญญาเช่าและเข้าครอบครองพื้นที่แล้วจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระเงินประกัน 160,000 บาท และไม่ชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์เลยโจทก์จึงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2538 ให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากสถานที่เช่า แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่อาคารสำนักงานที่เช่า และชำระค่าเช่าที่ค้างเป็นเวลา 10 เดือน เดือนละ 80,000 บาท รวมเป็นเงิน 800,000 บาทกับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายวันละ 3,000 บาท นับแต่วันเลิกสัญญาไปจนกว่าจะส่งมอบพื้นที่อาคารที่เช่าแก่โจทก์ ค่าเสียหายคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 93,000 บาท
จำเลยให้การต่อสู้และฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและให้เพิกถอนสัญญาเช่าฉบับลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2537 เพราะเป็นนิติกรรมอำพราง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเช่าในอัตราเดือนละ80,000 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2537 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2538 แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2537 จำเลยทำสัญญาเช่าพื้นที่อาคารสำนักงานเลขที่ 530 จากโจทก์โดยสัญญาเช่าดังกล่าวมีข้อความระบุว่า กำหนดเวลาเช่า 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2537 ถึงวันที่30 เมษายน 2539 อัตราค่าเช่าเดือนละ 80,000 บาท ชำระค่าเช่าภายในวันที่ 1 ของทุกเดือน จำเลยจะต้องวางเงินประกันให้แก่โจทก์ในวันทำสัญญาเป็นเงิน 160,000 บาท หลังจากทำสัญญาเช่าดังกล่าวแล้วจำเลยไม่ยอมวางเงินประกันและชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2538 จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากพื้นที่อาคารสำนักงานที่เช่า
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาคารสำนักงานที่เช่าเพียงอย่างเดียวโจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความจริงว่าทรัพย์สินที่เช่าดังกล่าวเป็นของโจทก์ เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ตามฟ้องแต่กลับรับฟังได้ในทางพิจารณาว่าอาคารสำนักงานที่เช่าเป็นของนายพันเลิศ ธัญญสิริซึ่งเป็นข้อนำสืบที่ไม่ตรงกับข้อกล่าวอ้างในคำฟ้อง เป็นการนำสืบไม่สมคำฟ้องและนอกฟ้องนอกประเด็น จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาคารสำนักงานที่เช่า แต่ในทางนำสืบของโจทก์กลับปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นเพียงผู้เช่าจากนายพันเลิศ ธัญญสิริ ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงและโจทก์มีสิทธินำอาคารสำนักงานดังกล่าวออกให้เช่าช่วงได้ตามหนังสือให้ความยินยอมเอกสารหมาย จ.2 และสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.3 ก็ตาม เมื่อจำเลยยอมทำสัญญาเช่ากับโจทก์แล้วจำเลยต้องผูกพันตามข้อสัญญาที่ทำไว้เพราะผู้ให้เช่าไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่ให้เช่า เพียงมีสิทธินำทรัพย์สินดังกล่าวออกให้เช่าก็สามารถเป็นผู้ให้เช่าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีนี้เป็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาในสัญญาเช่า โดยโจทก์อ้างว่าจำเลยไม่ยอมวางเงินประกันและชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาเช่าโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารให้ออกไปจากอาคารสำนักงานที่เช่ากับให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างชำระและค่าเสียหายเป็นรายวันตามสัญญาเช่าได้ โจทก์นำสืบได้สมฟ้องและตรงตามประเด็นแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายมีว่าสัญญาเช่าไม่ได้ปิดอากรแสตมป์สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้หรือไม่และหากมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้หรือไม่ เห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวแม้จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์หรือชั้นฎีกาได้ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาเช่ากับโจทก์ตามสำเนาสัญญาเช่าท้ายฟ้องแล้วผิดสัญญา ขอให้ขับไล่จำเลยและให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างชำระแก่โจทก์ จำเลยให้การยอมรับว่า จำเลยทำสัญญาเช่าดังกล่าวกับโจทก์จริงเพียงแต่อ้างว่าสัญญาเช่าดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาให้อาศัยโดยไม่ต้องเสียค่าเช่าซึ่งเป็นนิติกรรมที่แท้จริงเท่านั้น กรณีเช่นนี้จึงไม่จำต้องใช้สัญญาเช่าดังกล่าวเป็นพยานหลักฐาน แม้สัญญาเช่าฉบับดังกล่าวจะไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118
พิพากษายืน

Share