คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8040/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ว่าโจทก์ร่วมที่ 1 จะใช้แขนรัดคอจำเลย แต่ก็ไม่ปรากฏว่า โจทก์ร่วมที่ 1 มีอาวุธใด ๆ ที่จะใช้ทำร้ายจำเลย การที่จำเลยบอกให้โจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งใช้แขนรัดคอปล่อยตัวจำเลยแต่โจทก์ที่ 1 ไม่ยอมปล่อย จำเลยจึงใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมที่ 1 หลายนัด โดยโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่มีอาวุธใด ๆที่จะใช้ทำร้ายจำเลยได้นั้น จำเลยจะอ้างว่าเป็นการยิงเพื่อป้องกันตนโดยชอบด้วยกฎหมายหาได้ไม่ เมื่อจำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมทั้งสองโดยเจตนาฆ่าและจำเลยลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่การกระทำดังกล่าวไม่บรรลุผล เพียงแต่ทำให้โจทก์ร่วมทั้งสองได้รับอันตรายสาหัสและการกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายจำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าโจทก์ร่วมทั้งสอง การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมที่ 1 เพื่อให้โจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งใช้แขนรัดคอปล่อยจำเลย และยิง โจทก์ร่วมที่ 2 โดยอ้างว่าโจทก์ร่วมที่ 2 ถือมีดจะเข้ามาแทง จำเลยเพื่อช่วยเหลือโจทก์ที่ 1 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำต่อบุคคลต่างคนกัน และเป็นคนละขั้นตอน มิใช่เป็นการยิงในคราวเดียวต่อเนื่องกัน จึงเป็นความผิดคนละกรรมต่างกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 90, 288, 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ กับให้ริบอาวุธปืนและปลอกกระสุนปืนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายสมคิด กิ่งสอน และนายสำราญ วัชกุลผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตโดยให้เรียกนายสมคิด กิ่งสอน ว่า โจทก์ร่วมที่ 1นายสำราญ วัชกุล ว่า โจทก์ร่วมที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่า 2 กระทงและฐานยิงปืนโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้าน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80, 288, 376 ซึ่งเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 288 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทง 10 ปีฐานพาอาวุธปืนในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ปรับ 2,000 บาทอีกกระทงหนึ่ง รวมจำคุก 20 ปี และปรับ 2,000 บาท ลดโทษให้กระทงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 10 ปี และปรับ 1,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ริบอาวุธปืนและปลอกกระสุนปืนของกลาง
โจทก์ร่วมทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่าในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้ใช้อาวุธปืนยิงนายสมคิด กิ่งสอน โจทก์ร่วมที่ 1 หลายนัด กระสุนปืนถูกบริเวณหน้าอกได้รับอันตรายสาหัส และขาพิการทุพพลภาพตลอดชีวิตและจำเลยยังได้ใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงนายสำราญ วัชกุลโจทก์ร่วมที่ 2 กระสุนปืนถูกบริเวณโคนขาได้รับอันตรายสาหัสปรากฏตามใบชันสูตรบาดแผลเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 สำหรับความผิดของจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ กับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 และมาตรา 376 นั้น จำเลยมิได้ฎีกา จึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาจำเลยว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เห็นว่า ประจักษ์พยานโจทก์เบิกความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสอดคล้องต้องกันและสมเหตุสมผล น่าเชื่อถือจำเลยก็ยอมรับว่าได้ใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมทั้งสองจริง แต่อ้างว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยจำเลยนำสืบว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมทั้งสองมีอาการเมาสุราเข้ามาระรานหาเรื่องจำเลยก่อน โดยชวนจำเลยดื่มเบียร์ เมื่อจำเลยปฏิเสธก็ถูกโจทก์ร่วมทั้งสองต่อว่า และเกิดการโต้เถียงชกต่อยกัน จำเลยถูกโจทก์ร่วมทั้งสองชกต่อยก่อนจนปากแตกเลือดไหล และโจทก์ร่วมที่ 1 ใช้แขนรัดคอจำเลยแล้วพวกของโจทก์ร่วมทั้งสองถือมีดเข้ามาจะแทงจำเลย จำเลยจึงต้องยิงปืนขู่ขึ้นฟ้า 1 นัด โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ยอมปล่อยคงใช้แขนรัดคอจำเลยและลากตัวถอยหลังไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งไปสะดุดก้อนซีเมนต์สำหรับปักร่มเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมที่ 1 และจำเลยล้มลงโจทก์ร่วมที่ 2 ถือมีดปลายแหลมจะเข้ามาแทงจำเลยจำเลยจึงจำเป็นต้องใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมที่ 2 ขณะเดียวกันนายสุทินและนายสำเริงพวกของโจทก์ร่วมทั้งสองถือมีดจะเข้ามาทำร้ายจำเลย จำเลยบอกให้โจทก์ที่ 1 ปล่อยจำเลย แต่ไม่ยอมปล่อยจำเลยจึงใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมที่ 1 อีกหลายนัด จำเลยกระทำไปเพื่อป้องกันตนให้พ้นจากภยันตราย โดยจำเลยมีนายก๊กมิ้น แซ่ลี้และนายสุขสันต์ ฉันทวรารักษ์ เบิกความสนับสนุน แต่นายก๊กมิ้นและนายสุขสันต์ก็มิได้เห็นเหตุการณ์โดยตลอด ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยเบิกความว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ชกจำเลยที่ปาก และใช้แขนรัดคอลากถอยหลังไปสะดุดก้อนซีเมนต์สำหรับปักร่มล้มลง โจทก์ร่วมที่ 2วิ่งถือมีดจะเข้ามาแทงจำเลย จำเลยจึงใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมที่ 2จำนวน 1 นัด พวกของโจทก์ร่วมทั้งสองอีก 2 คน ถือมีดจะเข้ามาช่วยจำเลยบอกให้โจทก์ร่วมที่ 1 ปล่อยจำเลย โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ปล่อยจำเลยจึงใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ที่ 1 อีกหลายนัด ดังนี้ แม้ว่าโจทก์ร่วมที่ 1 จะใช้แขนรัดคอจำเลย ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมที่ 1มีอาวุธใด ๆ ที่จะใช้ทำร้ายจำเลย แต่จำเลยนั้นมีอาวุธปืนอยู่ในมือส่วนที่ว่าโจทก์ร่วมที่ 2 ถือมีดปลายแหลมเข้ามาจะแทงจำเลยก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมที่ 2 ได้เข้ามาใกล้และพร้อมที่จะแทงจำเลยอันจะทำให้เห็นว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ทั้งจำเลยก็ถืออาวุธปืนอยู่ในลักษณะจ้องไปข้างหน้า ไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ร่วมที่ 2 จะกล้าเข้าไปแทงจำเลย จึงฟังไม่ได้ว่าที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมที่ 2 นั้น เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย และที่ว่าหลังจากจำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมที่ 2 แล้ว พวกของโจทก์ร่วมที่ 1 อีก 2 คน ถือมีดจะเข้ามาช่วย ก็ไม่ปรากฏเช่นกันว่าเข้ามาใกล้ไกลเพียงใด และจำเลยก็ไม่ได้ใช้อาวุธปืนยิงพวกของโจทก์ร่วมที่ 1 ดังกล่าว การที่จำเลยบอกให้โจทก์ร่วมที่ 1ปล่อยตัวจำเลย โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ยอมปล่อย จำเลยจึงใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมที่ 1 หลายนัด โดยโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่มีอาวุธใด ๆที่จะใช้ทำร้ายจำเลยได้นั้น จำเลยจะอ้างว่าเป็นการยิงเพื่อป้องกันตนโดยชอบด้วยกฎหมายหาได้ไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมทั้งสองโดยเจตนาฆ่า จำเลยลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่การกระทำดังกล่าวไม่บรรลุผล เพียงแต่ทำให้โจทก์ร่วมทั้งสองได้รับอันตรายสาหัส และการกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าโจทก์ร่วมทั้งสอง และเป็นการกระทำต่างกรรมวาระกัน
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมทั้งสองเป็นการกระทำเพียงกรรมเดียวนั้น เห็นว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมที่ 1 เพื่อให้โจทก์ร่วมที่ 1 ปล่อยตัวจำเลยและจำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมที่ 2 โดยอ้างว่าโจทก์ร่วมที่ 2ถือมีดจะเข้ามาแทงจำเลยเพื่อช่วยเหลือโจทก์ร่วมที่ 1 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำต่อบุคคลต่างคนกัน และเป็นคนละขั้นตอนมิใช่เป็นการยิงในคราวเดียวต่อเนื่องกัน จึงเป็นความผิดคนละกรรมต่างกัน
พิพากษายืน

Share