แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนบริษัทโจทก์และหนังสือรับรองว่าค. เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์พนักงานโนตารีปับลิก แห่งประเทศสิงคโปร์จะได้รับรองความถูกต้องและสถานฑูตไทยประจำประเทศสิงคโปร์ได้รับรองลายมือชื่อและตราประทับของพนักงานโนตารีปับลิกแห่งประเทศสิงคโปร์หลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ก็ตามแต่ใบสำคัญจดทะเบียนบริษัทโจทก์ระบุว่าโจทก์จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์และระบุว่าค. เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ตั้งแต่ก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดีนี้อีกทั้งค.ก็ได้ลงชื่อในใบมอบอำนาจให้น.ฟ้องคดีนี้ด้วยจำเลยที่1มิได้นำสืบให้ฟังเป็นอย่างอื่นย่อมฟังได้ว่าในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์และค.เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และได้มอบอำนาจให้น. ฟ้องคดีนี้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา47นั้นเป็นเรื่องอำนาจของศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับใบมอบอำนาจหรือใบสำคัญและเอกสารอื่นๆในกรณีที่ศาลมีความสงสัยเท่านั้นหาใช่ว่าหากเอกสารไม่มีการรับรองจากโนตาลีปัปลิกจะถือว่าเป็นเอกสารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ โทรสารใบสั่งซื้อสินค้าที่จำเลยที่1ส่งถึงโจทก์ต้นฉบับเอกสารจะอยู่ที่จำเลยที่1โจทก์ได้รับโทรสารที่เป็นสำเนาเอกสารส่วนใบกำกับสินค้าซึ่งต้นฉบับเอกสารโจทก์ได้ส่งให้แก่จำเลยที่1โจทก์คงมีแต่ภาพถ่ายใบกำกับสินค้าดังนี้เอกสารเฉพาะที่เป็นโทรสารซึ่งจำเลยที่1ส่งถึงโจทก์และบริษัทในเครือของโจทก์นั้นต้นฉบับเอกสารจึงอยู่ที่จำเลยที่1ส่วนใบกำกับสินค้านั้นโจทก์มอบต้นฉบับให้แก่จำเลยที่1ซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าโจทก์คงมีแต่สำเนาหรือภาพถ่ายเอกสารถือได้ว่าโจทก์ไม่สามารถนำต้นฉบับเอกสารมาได้จึงรับฟังสำเนาหรือภาพถ่ายเอกสารได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา93(2)ส่วนภาพถ่ายเอกสารที่เหลือซึ่งเป็นโทรสารที่โจทก์ส่งไปถึงจำเลยที่1นั้นก็เป็นเพียงการตอบโทรสารที่จำเลยที่1มีไปถึงโจทก์ซึ่งแม้หากจะไม่รับฟังเอกสารนี้ข้อเท็จจริงก็ฟังได้ว่าจำเลยที่1ได้สั่งซื้อสินค้าและรับสินค้าไปจากโจทก์จริงดังนี้ปัญหาว่าเอกสารดังกล่าวจะรับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา93หรือไม่จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ โจทก์มอบอำนาจให้นายนิเวศ พันธ์เจริญวรกุลดำเนินคดีนี้ โจทก์ได้แต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าเครื่องแก้วเจียระไนในประเทศไทย จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้สั่งซื้อเครื่องแก้วเจียระไนจากโจทก์เพื่อนำไปจำหน่ายตามบัญชีรายการสินค้าจำนวน 32 หมายเลขเป็นเงินรวม 76,511.16บาท เหรียญสิงคโปร์ โจทก์ได้ส่งสินค้าทางพัสดุไปรษณีย์ตามบัญชีรายการสินค้าจำนวน 21 หมายเลขให้แก่จำเลยทั้งสองแล้วแต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระราคาให้โจทก์ภายใน 120 วัน ตามที่ตกลงกัน โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉย จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชำระเงินดังกล่าวและต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากค่าสินค้าในแต่ละรายการตามบัญชี รายการสินค้านับแต่วันที่ผิดนัดถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2533 คิดเป็นเงิน 7,152.52 เหรียญสิงคโปร์ รวมเป็นเงิน 83,663.68 เหรียญสิงคโปร์ คิดเป็นเงินไทยเท่ากับ 1,181,331.10 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 1,181,331.10 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,080,337.50 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะหนังสือมอบอำนาจไม่ชอบ ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจไม่ใช่ลายมือชื่อแท้จริงและไม่ใช่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ โจทก์แต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนประกอบการค้าสินค้าเครื่องประดับและอัญมณีต่าง ๆ ของบริษัทโจทก์แต่ผู้เดียวในประเทศไทย จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามบัญชีรายการสินค้าตามฟ้องเพียง 4 รายการ ตามใบกำกับสินค้าหมายเลข 008275,000089, 000271 และ 000455 เป็นเงิน 100,000 บาท สินค้านอกนั้นไม่เคยได้รับ ส่วนจำเลยที่ 2 กระทำการในฐานะกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว การที่โจทก์แต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนขายสินค้าของโจทก์เพียงผู้เดียวในประเทศไทยแต่โจทก์ขายให้แก่บริษัทอื่นโดยจงใจเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 เสียหายขาดรายได้และขาดทุนเดือนละ100,000 บาท ตลอดมา ซึ่งจำเลยที่ 1 โต้แย้งไปยังโจทก์แล้วแต่โจทก์ไม่แก้ไข จำเลยที่ 1 ขาดรายได้เป็นเงิน 2,500,000บาท โจทก์ต้องรับผิดชอบจำเลยที่ 1 ขอหักกลบลบหนี้จากโจทก์จำนวน 100,000 บาท ส่วนที่เหลือขอคิดค่าเสียหายจากโจทก์เพียง 2,000,000 บาท ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชำระเงิน2,000,000 บาท แก่ จำเลยที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การ แต่ไม่รับฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์552,371.15 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่มีข้อโต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้สั่งซื้อสินค้าและได้รับสินค้าจากโจทก์ตามใบกำกับสินค้าหมายเลข 008275, 000089,000271 และ 000455 และยังมิได้ชำระค่าสินค้าดังกล่าวเป็นเงิน 6,952.02 เหรียญสิงคโปร์ ให้แก่โจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่และจำเลยที่ 1 ได้สั่งซื้อสินค้าและได้รับสินค้าจากโจทก์ตามใบกำกับสินค้าหมายเลข 006960, 006999, 007037, 007062007234, 007252, 007350, 007372, 007823, 008120, 008121008230, 0000272, 0000278 และ 0000309 ตามเอกสารหมาย จ.10ชุดที่ 9 ถึง 20, 24, 29 และ 30 หรือไม่
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อแรกว่า พนักงานโนตารีปัปลิก แห่งประเทศสิงคโปร์ และสถานฑูตไทยประจำประเทศสิงคโปร์เพิ่งให้คำรับรองความถูกต้องของใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนบริษัทโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 และหนังสือรับรองการเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ของนายเคล้าส์ ดีทริค เอ็คสไตน์ ตามเอกสารหมายจ.4 หลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้วโจทก์จึงฟ้องคดีโดยไม่มีหลักฐานแสดงว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ และนายเคล้าส์ ดีทริค เอ็คสไตน์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และได้มอบอำนาจให้นายนิเวศ พันธ์เจริญวรกุล ฟ้องคดีแทนโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า แม้ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนบริษัทโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 และหนังสือรับรองว่านายเคล้าส์ ดีทริค เอ็คสไตน์เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.4 พนักงานโนตารีปัปลิกแห่งประเทศสิงคโปร์จะได้รับรองความถูกต้องของเอกสารดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2533 และสถานฑูตไทยประจำประเทศสิงคโปร์ได้รับรองลายมือชื่อและตราประทับของพนักงานโนตารีปัปลิกแห่งประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2533 อันเป็นการรับรองหลังจากวันที่ 7พฤษภาคม 2533 ที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ก็ตาม แต่เอกสารหมาย จ.2ระบุว่าโจทก์จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2527 และเอกสารหมาย จ.4ระบุว่านายเคล้าส์ ดีทริค เอ็คสไตน์ เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2532 ก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดีนี้ทั้งนายเคล้าส์ ดีทริค เอ็คสไตน์ ก็เบิกความเป็นพยานโจทก์ยืนยันว่าเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และได้ลงชื่อในใบมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. 1 ให้นายนิเวศ พันธ์เจริญวรกุล ฟ้องคดีนี้ ซึ่งโจทก์ได้แนบสำเนาใบมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 มาท้ายฟ้องด้วย จำเลยที่ 1 มิได้นำสืบให้ฟังได้เป็นอย่างอื่น ย่อมฟังได้ว่าในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์และนายเค้าส์ ดีทริค เอ็คสไตน์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และได้มอบอำนาจให้นายนิเวศฟ้องคดีนี้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนบริษัทโจทก์เอกสารหมาย จ.2 และเอกสาร จ.2 และเอกสารการแต่งตั้งกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์นั้น จะต้องมีการรับรองจากโนตารีปัปลิกและสถานฑูตไทยในประเทศสิงคโปร์เสียก่อนจึงจะถือว่าเป็นเอกสารที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความความแพ่ง มาตรา 47 นั้น เห็นว่าบทกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจของศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับใบมอบอำนาจหรือใบสำคัญและเอกสารอื่น ๆในกรณีที่ศาลมีความสงสัยเท่านั้นหาใช่ว่าหากเอกสารไม่มีการรับรองดังกล่าวจะถือว่าเป็นเอกสารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่จำเลยที่ 1 อ้าง
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้สั่งซื้อสินค้าและ ไม่ได้รับสินค้าพิพาทจากโจทก์นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้สั่งซื้อสินค้าและได้รับสินค้าจากโจทก์ตามใบกำกับสินค้าหมายเลข 006960, 006999, 007037, 007062,007234, 007252, 007350, 007372, 007823, 008120, 008121,008230, 0000272, 0000278 และ 0000309 ตามเอกสารหมายจ.10 ชุดที่ 9 ถึง 20, 24, 29 และ 30 จำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ข้อที่จำเลยที่ 1ฎีกาว่าเอกสารหมาย จ.8 จ.10 จ.14 จ.15 และ จ.16 เป็นภาพถ่ายมิใช่ต้นฉบับเอกสาร จึงต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 นั้น พิเคราะห์แล้ว เอกสารหมาย จ.8 เป็นภาพถ่ายใบสั่งซื้อสินค้าที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อจากโจทก์ทางโทรสาร เอกสารหมาย จ.16 เป็นภาพถ่ายโทรสารจากจำเลยที่ 1 ถึงโจทก์และบริษัทในเครือของโจทก์และโทรสารจากโจทก์ถึงจำเลยที่ 1 ส่วนเอกสารหมาย จ.10จ.14 และ จ.15 เป็นสำเนาและภาพถ่ายใบกำกับสินค้า เกี่ยวกับเอกสารดังกล่าว นายแอนดรู ชาน กรรมการของบริษัทโจทก์พยานโจทก์เบิกความว่า โทรสารที่จำเลยที่ 1 ส่งถึงโจทก์ต้นฉบับเอกสารจะอยู่ที่จำเลยที่ 1 โจทก์ได้รับโทรสารที่เป็นสำเนาเอกสารส่วนเอกสารหมาย จ.10 จ.14 และ จ.15 เป็นใบกำกับสินค้าซึ่งต้นฉบับเอกสารโจทก์ได้ส่งให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์คงมีแต่ภาพถ่ายใบกำกับสินค้า ดังนี้ เอกสารหมาย จ.8 และ จ.16เฉพาะที่เป็นโทรสาร ซึ่งจำเลยที่ 1 ส่งถึงโจทก์และบริษัทในเครือของโจทก์นั้น ต้นฉบับเอกสารจึงอยู่ที่จำเลยที่ 1 ส่วนเอกสารหมาย จ.10 จ.14 และ จ.15 นั้นโจทก์มอบต้นฉบับให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้า โจทก์คงมีแต่สำเนาหรือภาพถ่ายเอกสาร ถือได้ว่าโจทก์ไม่สามารถนำต้นฉบับเอกสารมาได้จึงรับฟังสำเนาหรือภาพถ่ายเอกสารได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 (2) ส่วนภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.16 ที่เหลือซึ่งเป็นโทรสารที่โจทก์ส่งไปถึงจำเลยที่ 1 นั้น ก็เป็นเพียงการตอบโทรสารที่จำเลยที่ 1 มีไปถึง ซึ่งแม้หากจะไม่รับฟังเอกสารนี้ ข้อเท็จจริงก็ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้สั่งซื้อสินค้าไปจากโจทก์จริง ดังนี้ ปัญหาว่า เอกสารดังกล่าวจะรับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93หรือไม่จึงไม่จำต้องวินิจฉัยศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1ชำระสินค้าให้แก่โจทก์ชอบแล้ว
พิพากษายืน