คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 803/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรมสรรพากรผู้ร้องได้แจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าไปยังผู้จัดการมรดกของจำเลยเมื่อวันที่27มกราคม2535ผู้จัดการมรดกของจำเลยได้รับหนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าวแล้วไม่นำเงินภาษีอากรชำระให้ผู้ร้องผู้ร้องย่อมสามารถใช้อำนาจตามประมวลรัษฎากรมาตรา12ได้ภายในกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันที่จะใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าวเมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ภาษีอากรค้างเมื่อวันที่24พฤศจิกายน2535อันเป็นเวลาภายในกำหนดสิบปีที่ผู้ร้องได้ใช้อำนาจตามมาตรา12แห่งประมวลรัษฎากรวิธีการดังกล่าวเป็นกรณีของการบังคับชำระหนี้ซึ่งผู้ร้องอาจบังคับได้ภายในสิบปีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรมาตรา12วรรคสี่ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา271มิใช่การใช้สิทธิเรียกร้องโดยการฟ้องคดีจึงไม่อาจอ้างอายุความ1ปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1754วรรคสามมาใช้ได้คดีของผู้ร้องจึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้ร่วมกันชำระหนี้ตามหนังสือรับรองหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้และจำเลยที่ 2 กับนางนำหาหรือหลำหา โกยสมบูรณ์เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในฐานะทายาทของนางนำหา โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตกลงชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน2,500,000 บาท หากผิดนัดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้เต็มตามฟ้องเป็นเงิน 4,477,659.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยและให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 และทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 3ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จนครบ ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 3ผิดนัด โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 4289พร้อมบ้านเลขที่ 41/1 ตั้งอยู่ที่ตำบลวิชิต (ระเงง)อำเภอเมืองภูเก็ต และที่ดินโฉนดเลขที่ 1517 ตำบลท้ายเหมืองอำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ของจำเลยที่ 1 ซึ่งขายทอดตลาดไปแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ ต่อมาโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 1903, 4061 ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 6 และ 3ตำบลฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ตามลำดับของจำเลยที่ 1ขณะนี้อยู่ระหว่างการขายทอดตลาด
ระหว่างการบังคับคดีจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย นางสาวรัชนีโกยสมบูรณ์ ผู้จัดการมรดกรับทราบการบังคับคดีและเข้ามาดูแลการขายทอดตลาดตลอดมา
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลสังกัดกระทรวงการคลังมีหน้าที่เก็บภาษีทั่วประเทศ จำเลยที่ 1 โดยนางสาวรัชนีโกยสมบูรณ์ผู้จัดการมรดกกับนายประสิบสิน โกยสมบูรณ์นางสาวอนงค์ โกยสมบูรณ์ นางสาวโสภา โกยสมบูรณ์ และนางสาวรัตนา โกยสมบูรณ์ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2528 ครึ่งปี จากรายได้การค้าอสังหาริมทรัพย์ 73,447,673บาท แก่เจ้าหน้าที่สรรพากรเขต 8 จังหวัดนครศรีธรรมราช และจำเลยที่ 1 กับพวกมีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าเนื่องจากประกอบการค้าโดยไม่ได้จดทะเบียนและไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีการค้าประจำปี 2528 จำนวน 10,749,200 บาท แก่เจ้าหน้าที่สรรพากรเขต 8 จังหวัดนครศรีธรรมราช จำเลยที่ 1 กับพวกต้องชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2535และต้องชำระภาษีการค้าภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน แต่จำเลยที่ 1 กับพวกไม่ชำระค่าภาษีทั้งสองรายการให้ผู้ร้องภายในกำหนด จำเลยที่ 1 กับพวกมีหนี้ภาษีค้างชำระแก่ผู้ร้องเป็นเงินทั้งสิ้น 84,195,316 บาท ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิสามัญเหนือทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เป็นเงิน84,195,316 บาท ซึ่งผู้ร้องชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 1 ก่อนเจ้าหนี้อื่น ขอให้สั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงิน 84,195,316 บาท จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 1ให้แก่ผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้รายอื่น
โจทก์คัดค้านว่า ผู้ร้องมิได้เป็นเจ้าหนี้ภาษีอากรของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มิได้ประกอบกิจการอย่างใดที่จะต้องเสียภาษีและค้างชำระค่าภาษีอากรและผู้ร้องมิได้แจ้งการประเมินภาษีโดยชอบ ค่าภาษี 84,195,316 บาท เป็นเงินที่สูงเกินกว่าความเป็นจริงผู้ร้องมีสิทธิอย่างเจ้าหนี้สามัญ จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายเมื่อปี2528 แต่ผู้ร้องหาได้ใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนด 1 ปี หนี้ภาษีอากรของผู้ร้องจึงขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ได้
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าคดีของผู้ร้องขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าผู้ร้องมิได้ใช้สิทธิเรียกร้องหนี้ภาษีอากรค้างภายในกำหนด 1 ปี นับแต่ได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของจำเลยที่ 1 จึงขาดอายุความ เห็นว่าแม้ผู้ร้องจะมิได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 แต่เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ภาษีอากรค้างแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องโดยอธิบดีย่อมมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1เพื่อให้ได้รับชำระหนี้ภาษีอากรค้างได้ โดยผู้ร้องไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิเรียกร้องด้วยการฟ้องคดีต่อศาลก่อนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 12 วรรคสอง สิทธิของผู้ร้องตามประมวลรัษฎากรดังกล่าวถือได้ว่าเป็นสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินได้ตามกฎหมาย ซึ่งบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 287 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ผู้ร้องมีสิทธิที่จะร้องขอเฉลี่ยทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ตามมาตรา 290 วรรคสามอีกทั้งการยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดของผู้รับผิดต้องเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 วรรคสี่ บัญญัติว่า “วิธีการยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งโดยอนุโลม” และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตราก็บัญญัติว่า “คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดี (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง” เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องได้แจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าไปยังผู้จัดการมรดกและทายาทของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่27 มกราคม 2535 ตามเอกสารหมาย ร.5 และ ร.6 หลังจากผู้จัดการมรดกและทายาทของจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าวแล้วไม่นำเงินภาษีอากรชำระให้ผู้ร้อง ผู้ร้องย่อมสามารถใช้อำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 ได้ภายในกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันที่จะใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าว เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ภาษีอากรค้างเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2535 อันเป็นเวลาภายในกำหนดสิบปีที่ผู้ร้องได้ใช้อำนาจตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร วิธีการดังกล่าวเป็นกรณีของการบังคับชำระหนี้ซึ่งผู้ร้องอาจบังคับได้ภายในสิบปีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 12 วรรคสี่ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 มิใช่การใช้สิทธิเรียกร้องโดยการฟ้องคดี จึงไม่อาจอ้างอายุความ 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม มาใช้ได้คดีของผู้ร้องจึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน

Share