แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 10 วรรคสอง หมายความว่า เมื่อนายจ้างเลิกจ้างหรือลูกจ้างลาออกหรือสัญญาประกันสิ้นอายุ และลูกจ้างไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง นายจ้างจะต้องคืนเงินประกันทั้งหมด แก่ลูกจ้าง ข้อตกลงในสัญญาจ้างในข้อที่โจทก์(ลูกจ้าง) ไม่ขอรับเงินประกันทั้งหมดคืนขัดต่อมาตรา 10 วรรคสอง อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะ เมื่อการผิดสัญญาของโจทก์(ลูกจ้าง) ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ แก่จำเลย(นายจ้าง) จำเลย(นายจ้าง)จะต้องคืนเงินประกันการทำงานทั้งหมดแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินสะสมจำนวน ๔,๐๐๐ บาท เงินประกันการทำงานจำนวน ๒,๐๐๐ บาท และค่าจ้างค้างจำนวน ๒,๖๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินสะสมและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินประกันการทำงานและค่าจ้างค้างนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยยังไม่ต้องคืนเงินสะสมให้แก่โจทก์ เนื่องจากขณะทำงานโจทก์ทำบัตรเครดิตของ นางสาวสุรีย์ ลูกค้าสูญหาย มีผู้นำบัตรเครดิตไปถอนเงินผ่านเครื่องอัตโนมัติ ทำให้ธนาคารตามบัตรฟ้องเรียกเงินจากนางสาวสุรีย์คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาล และนางสาวสุรีย์ได้เรียกร้องให้จำเลยชดใช้เงินดังกล่าวแต่ยังไม่มี การฟ้องร้อง จำเลยจึงต้องยึดเงินสะสมของโจทก์ไว้ก่อน เพราะหากจำเลยต้องชดใช้เงินแก่นางสาวสุรีย์จะได้ หักเงินจำนวนนี้เป็นค่าเสียหาย สำหรับเงินประกันการทำงาน จำเลยมีสิทธิริบไม่ต้องคืนแก่โจทก์ เนื่องจากโจทก์ ลาออกโดยไม่ยื่นใบลาออกล่วงหน้าตามระเบียบตามสัญญาจ้างงานข้อ ๙ ส่วนเงินค่าจ้างจำเลยค้างโจทก์อยู่เพียง ๒,๔๐๐ บาท เนื่องจากในช่วงเวลาตามที่โจทก์ฟ้องโจทก์ลาป่วยไป ๑ วัน จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันที่ลาป่วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินสะสมจำนวน ๔,๐๐๐ บาท เงินประกันการทำงาน จำนวน ๒,๐๐๐ บาท และค่าจ้างค้างจำนวน ๒,๔๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงินสะสมและ อัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี จากต้นเงินประกันการทำงานและค่าจ้างค้างดังกล่าว นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า กรณีที่โจทก์มิได้ยื่นใบลาออกล่วงหน้า ๑๕ วัน ตามระเบียบข้อบังคับ เกี่ยวกับการทำงานและข้อตกลงในสัญญาจ้างงานนั้น เห็นว่า พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๐ วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกัน หรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออกหรือสัญญาประกันสิ้นอายุ ให้นายจ้างคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ยถ้ามีให้แก่ลูกจ้างฯ” ซึ่งหมายความว่า เมื่อนายจ้างเลิกจ้างหรือลูกจ้างลาออก หรือสัญญาประกันสิ้นอายุ และลูกจ้าง ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง นายจ้างจะต้องคืนเงินประกันทั้งหมดแก่ลูกจ้าง สัญญาจ้างงานระหว่างโจทก์และ จำเลยฉบับลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๑ ข้อ ๙ ระบุว่า “เมื่อข้าพเจ้าประสงค์จะขอลาออกจากความเป็นพนักงานของบริษัท ข้าพเจ้าจะแจ้งให้บริษัททราบเป็นการล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน และอยู่ทำงานจนครบกำหนด หากข้าพเจ้าไม่อยู่ปฏิบัติตามระเบียบข้อนี้ ข้าพเจ้ายินยอมให้บริษัทตัดเงินต่าง ๆ ที่มีอยู่เป็นค่าเสียหายและจะไม่ขอ รับเงินค้ำประกันทั้งหมด ในกรณีที่ข้าพเจ้าฝ่าฝืนระเบียบข้อนี้อันเป็นเหตุให้บริษัทเสียหายใด ๆ ข้าพเจ้ายินยอม ให้บริษัทฟ้องเรียกค่าเสียหายได้อีกด้วย” ซึ่งหมายความว่า กรณีที่โจทก์ผิดสัญญาไม่ยื่นใบลาออกล่วงหน้าก่อน ๑๕ วัน โจทก์ยินยอมให้จำเลยตัดเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยหรือนำเงินของโจทก์ที่จำเลยยึดถือไว้ชดใช้ค่าเสียหาย กับยินยอมให้จำเลยฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ และยังไม่ขอรับเงินประกันทั้งหมดคืนอีกด้วย ซึ่งเป็นการยินยอมให้จำเลย มีสิทธิไม่ต้องคืนเงินประกันทั้งหมดแก่โจทก์แม้การผิดสัญญาไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย หรือก่อให้ เกิดความเสียหาย แต่ได้ตัดหรือนำเงินอื่นชดใช้ค่าเสียหายแล้ว ข้อตกลงในสัญญาจ้างเฉพาะข้อที่โจทก์ไม่ขอรับ เงินประกันทั้งหมดคืนจึงขัดต่อมาตรา ๑๐ วรรคสอง อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงข้อนี้ตกเป็นโมฆะไม่มีผลใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติว่าการผิดสัญญาข้อ ๙ ของโจทก์ ไม่ก่อให้เกิด ความเสียหายใด ๆ แก่จำเลย จำเลยจะต้องคืนเงินประกันการทำงานทั้งหมดแก่โจทก์ คำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษายืน.