คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8023/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวกับการขอรับเงินค่าทดแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยมิได้อุทธรณ์ คำสั่งศาลชั้นต้นถึงที่สุด จำเลยจึงยกขึ้นฎีกาไม่ได้ทั้งไม่อาจถือว่าการยื่นฎีกาเป็นการยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลฎีกาเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวอีกด้วย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของจำเลย
สิทธิของบุคคลที่จะได้รับค่าทดแทนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 246 ย่อมต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ เมื่อยังไม่มีการตรากฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกบังคับใช้ สิทธิดังกล่าวจะต้องด้วยเงื่อนไขของกฎหมายหรือไม่ และจะมีวิธีการดำเนินการอย่างไร ย่อมไม่อาจมีผู้ใดกำหนดขึ้นได้จนกว่าจะมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายรองรับ ทั้งกรณีนี้มิใช่คดีแพ่ง จึงไม่อาจนำกฎหมายอื่นมาใช้ในลักษณะของกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(3) จำคุก 3 เดือน เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนจำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 จำคุก 3 เดือน และปรับ 1,000 บาทไม่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขัง ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

จำเลยที่ 2 ยื่นคำแถลงว่า จำเลยที่ 2 ถูกคุมขังระหว่างฎีกาตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2541 ถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2541เมื่อหักจำนวนวันที่ถูกคุมขังออกจากจำนวนเงินค่าปรับแล้วยังคงเหลืออีกหลายวัน ขอให้สั่งจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่จำเลยที่ 2 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 246

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า สิทธิของผู้จะได้รับค่าทดแทนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 246 นั้น ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ เมื่อยังไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้จึงไม่อาจดำเนินการให้ตามที่จำเลยที่ 2 แถลงขอยกคำแถลง

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า จำเลยที่จะมีสิทธิได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายตามสมควร เฉพาะกรณีที่ปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดโดยข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด เมื่อคดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยที่ 2มีความผิด จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทน พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อแรกว่า ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวกับการขอรับเงินค่าทดแทนนั้นเห็นว่า จำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นในทำนองนี้ไว้แล้วตามคำร้องลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2543 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว จำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นถึงที่สุด จำเลยที่ 2 จึงยกขึ้นฎีกาไม่ได้ ทั้งไม่อาจถือว่าการยื่นฎีกาเป็นการยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลฎีกาเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวอีกด้วย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2

ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอีกข้อหนึ่งขอให้จ่ายค่าทดแทนการถูกคุมขังระหว่างฎีกานั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 246 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลใดตกเป็นจำเลยในคดีอาญาและถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี หากปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนี้นั้นว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดบุคคลนั้นย่อมมีสิทธิได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายตามสมควรตลอดจนบรรดาสิทธิที่เสียไปเพราะการนั้นคืน ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ” ดังนั้น สิทธิของบุคคลที่จะได้รับค่าทดแทนย่อมต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ขณะนี้ยังไม่มีการตรากฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกบังคับใช้ สิทธิดังกล่าวของจำเลยที่ 2 จะต้องด้วยเงื่อนไขของกฎหมายหรือไม่ และจะมีวิธีการดำเนินการอย่างไร ย่อมไม่อาจมีผู้ใดกำหนดขึ้นได้จนกว่าจะมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายรองรับทั้งกรณีนี้มิใช่คดีแพ่ง จะนำกฎหมายอื่นมาใช้ในลักษณะของกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งก็กระทำมิได้ ศาลฎีกาคงเห็นพ้องด้วยในผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2

พิพากษายืน

Share