คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 362/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยขับรถบรรทุกคนโดยสารโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ตกลงจากรถจักรยานยนต์แล้วถูกรถของจำเลยแล่นทับถึงแก่ความตายทันทีตรงที่เกิดเหตุ หลังเกิดเหตุจำเลยได้แสดงตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจ และมอบใบสั่งของเจ้าพนักงานตำรวจจราจรกับบัตรประจำตัวประชาชนแก่เจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวตรงที่เกิดเหตุ ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจได้ควบคุมตัวจำเลยไว้ ต่อมาจำเลยขออนุญาตเจ้าพนักงานตำรวจไปโทรศัพท์แล้วหลบหนีไป เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยสะบัดมือแล้วหลบหนีไปทันที รูปคดีจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควร และไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นแล้วไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควร และแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 , 78 , 157 , 160 ป.อ. มาตรา 291 , 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางวิภาพรรณ เฮอร์แมน มารดาของนางสาวมโนราห์ เบอร์นาดีน เฮอร์แมนหรือเฮร์แมน ผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (4) , 78 วรรคหนึ่ง , 160 วรรคสอง ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุก 4 ปี และฐานไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือ จำคุก 6 เดือน รวมเป็นลงโทษจำคุก 4 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยกระทำผิดฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นแล้วไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควร และแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีหรือไม่ เห็นว่า หลังจากที่จำเลยขับรถบรรทุกคนโดยสารโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์แล้วถูกรถของจำเลยแล่นทับถึงแก่ความตายทันทีตรงที่เกิดเหตุแล้วจำเลยก็ได้แสดงตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจ และมอบใบสั่งของเจ้าพนักงานตำรวจจราจรกับบัตรประจำตัวประชาชนแก่เจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวตรงที่เกิดเหตุ ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจได้ควบคุมตัวจำเลยไว้ ต่อมาจำเลยขออนุญาตเจ้าพนักงานตำรวจไปโทรศัพท์แล้วหลบหนีไป เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยสะบัดมือแล้วหลบหนีไปทันที รูปคดีจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควรและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (4) , 157 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุก 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์กับให้ยกคำร้องของโจทก์ร่วมที่ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในส่วนของความผิดตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522

Share