แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ที่ดินของโจทก์แบ่งแยกออกมาจากที่ดินจำเลย ที่ดินโจทก์มีที่ดินบุคคลอื่นล้อมอยู่ทุกด้าน แม้จะมีทางเดินออกสู่ทางสาธารณะได้ก็ตาม แต่โจทก์ต้องผ่านที่ดินบุคคลอื่นอีกทั้งมีระยะทางไกลและรถยนต์ผ่านไม่ได้ ถือว่าที่ดินโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ทั้งสภาพบ้านเมืองปัจจุบันใช้รถยนต์เป็นพาหนะจำนวนมากทางที่ใช้เข้าออกสู่ที่ดินไม่ใช่เป็นทางเดินสถานเดียวแต่ต้องให้รถยนต์ผ่านด้วย โจทก์ซื้อที่ดินจากจำเลยประสงค์ใช้เป็นที่ปลูกบ้านและใช้ปลูกพืชผักต้องใช้รถยนต์กระบะผ่านเข้าออกสู่ที่ดิน ทางพิพาทเป็นทางที่ใกล้และสะดวกแก่การเดินทางออกสู่ทางสาธารณะพอแก่ความจำเป็น และเมื่อที่ดินโจทก์แบ่งแยกมาจากที่ดินจำเลย โจทก์มีสิทธิใช้ทางจำเป็นในที่ดินจำเลยได้โดยไม่ต้องใช้ค่าทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)จำเลยแบ่งขายที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ นายมี ทองเอม และนางมณฑา สงกระสินธุ์ ทำให้ที่ดินโจทก์ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ดังกล่าวอยู่ระหว่างที่ดินนายมีกับที่ดินจำเลย โดยมีที่ดินนางมณฑาอยู่ทางด้านทิศตะวันออกและเป็นเหตุให้ที่ดินโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ การซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลย จำเลยตกลงให้โจทก์ใช้ทางพิพาทในที่ดินจำเลยเป็นทางเดินออกสู่ทางสาธารณะ ต่อมาจำเลยได้นำเสาไม้มาปิดกั้นทางพิพาท ทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ทางพิพาทเดินออกสู่ทางสาธารณะได้ ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนเสาไม้ที่ปักกั้นไว้ในที่ดินของจำเลยและยอมให้โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นเดินออกสู่ทางสาธารณะ หากจำเลยไม่รื้อถอนเสาไม้ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนโดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า จำเลยแบ่งขายที่ดินให้แก่โจทก์โดยมิได้มีข้อตกลงให้โจทก์ออกทางด้านทิศตะวันออกได้ โจทก์ใช้ทางเดินดังกล่าวมาตลอดจนถึงปัจจุบัน โจทก์ไม่เคยใช้ทางพิพาทเข้าออกสู่ทางสาธารณะ จำเลยเคยอนุญาตให้โจทก์ใช้ทางพิพาทนำรถยนต์บรรทุกดินเข้าไปถมที่ดินของโจทก์เป็นการชั่วคราวเท่านั้น เหตุที่โจทก์ฟ้องจำเลยเนื่องจากโจทก์ต้องการที่ดินของจำเลยเป็นทางเข้าออกโดยไม่ยอมเสียค่าทดแทน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเปิดทางพิพาทตามรูปแผนที่เอกสารหมาย จ.4 (ที่ถูกควรเป็นหมาย จ.3) กว้าง 3 เมตร ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินจำเลย หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ดังกล่าว หรือต่อมาเป็นที่ดินมีโฉนดที่ดินเป็นทางจำเป็นโดยให้รื้อรั้วไม้ที่ปิดกั้นทางพิพาทออกเสีย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งฟังได้ว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1093 ตำบลหนองหญ้าปล้อง อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 78 ตารางวา โดยซื้อมาจากจำเลยเมื่อปี 2536 ซึ่งที่ดินดังกล่าวแบ่งแยกออกมาจากที่ดินจำเลยตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1091 ตำบลหนองหญ้าปล้อง อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า ที่ดินโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความเป็นพยานว่า ซื้อที่ดินจากจำเลยเพื่อใช้เป็นที่ปลูกบ้านอยู่อาศัย ปลูกพืชไร่และผักสวนครัว จำเลยตกลงให้ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์ใช้รถยนต์กระบะบรรทุกพืชผลเกษตรออกจากที่ดิน ทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินโจทก์มีทางเดินตามคันนาผ่านที่ดินบุคคลอื่นหลายเจ้าของกว่าจะถึงทางสาธารณะ เป็นทางแคบ ๆ พอรถจักรยานยนต์ผ่านได้เท่านั้น รถยนต์ผ่านไม่ได้ และมีนายเผื่อน สมิงนรา นายสังวาลย์ แดงผา เจ้าของที่ดินทางด้านทิศเหนือที่ดินโจทก์เบิกความสนับสนุน ส่วนจำเลยเบิกความเป็นพยานว่า แบ่งขายที่ดินให้โจทก์ไม่มีข้อตกลงให้โจทก์ใช้ทางพิพาท ทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินโจทก์ติดทางสาธารณะ กว้างประมาณ 2 เมตร เป็นทางในเขตที่ดินนางเที่ยง น่วมวัตร นายสังวาลย์ แดงผา และนายสวัสดิ์ มณีศรี โดยมีนางเที่ยงและนายวิชัย พวงผกา เบิกความสนับสนุน เห็นว่า นายเผื่อนและนายสังวาลย์ ซึ่งมีที่ดินอยู่ทางด้านทิศเหนือที่ดินโจทก์ตามรูปแผนที่เอกสารหมาย ล.1 ที่จำเลยอ้างปรากฏตำแหน่งที่ตั้งที่ดินของนายเผื่อนและนายสังวาล พยานทั้งสองปากไม่มีเหตุบาดหมางกับจำเลยหรือเกี่ยวพันเป็นญาติกับโจทก์ที่จะทำให้เห็นว่าเบิกความโดยมีอคติกับจำเลย นายเผื่อนเบิกความว่า ทางที่ผ่านที่ดินโจทก์ทางด้านทิศตะวันตกซึ่งผ่านที่ดินนายเผื่อนมีสภาพเป็นทางเดินเล็ก ๆ เลาะไปตามคันนาแคบ ๆ เมื่อ 2 ถึง 3 ปี มานี้มีการถมทางให้กว้างขึ้นเป็นแนวยาวประมาณ 30 เมตร แต่ถัดออกไปก็ยังเป็นทางเดินเล็ก ๆ เหมือนเดิม ดินลูกรังที่ถมทางให้กว้างขึ้นไม่ถึงที่ดินโจทก์และต้องเดินอีก 100 กว่าเมตร จึงจะถึงที่ดินโจทก์ นายสังวาลย์ซึ่งมีที่ดินอยู่ทางด้านทิศเหนือที่ดินนายเผื่อนเบิกความว่า ทางดังกล่าวซึ่งผ่านที่ดินนายสังวาลย์ด้วย เป็นทางตามคันนาซึ่งล้วนสอดคล้องกับรูปแผนที่เอกสารหมาย ล.1 ทั้งตามรายงานกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นออกไปเผชิญสืบ ก็ปรากฏว่าสภาพทางเป็นทางเดินตามคันนากว้าง 1 เมตรเศษ บริเวณก่อนออกสู่ถนนสาธารณะเป็นทางกว้าง 2 เมตร สอดคล้องกับคำเบิกความของนายเผื่อนและนายสังวาลย์อีกด้วย แม้จำเลยจะมีนางเที่ยงซึ่งมีที่ดินอยู่ทางด้านทิศตะวันตกที่ดินโจทก์มาเบิกความว่า ทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินโจทก์มีทางเดินกว้าง 4 ศอก แต่นางเที่ยงก็เบิกความว่าทางดังกล่าวต้องผ่านที่ดินนางเที่ยงและที่ดินบุคคลอื่นด้วยจึงจะออกสู่ทางสาธารณะได้ หากโจทก์จะขอขยายทางให้กว้างขึ้นเพื่อให้รถยนต์ผ่าน นางเที่ยงไม่ยอม ส่วนนายวิชัยพยานจำเลยอีกปากหนึ่งเบิกความว่า ทางเดินทางด้านทิศตะวันตกที่ดินโจทก์ตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.3 และรูปแผนที่เอกสารหมาย ล.1 เป็นทางที่ใช้มานานแล้ว มีความกว้าง 2 เมตรเศษ และรูปแผนที่เอกสารหมาย ล.1 เป็นทางที่ใช้มานานแล้ว มีความกว้าง 2 เมตรเศษ และมีเสาไฟฟ้าปักอยู่ แม้นายวิชัยเป็นกำนันตำบลหนองหญ้าปล้องที่ที่ดินโจทก์จำเลยตั้งอยู่ รู้เห็นสภาพความเป็นจริงของที่ดินนั้นก็ตาม แต่นายวิชัยไม่ได้เบิกความระบุว่าทางเดินด้านทิศตะวันตกดังกล่าวเป็นทางบริเวณช่วงระยะใด ทั้งนายวิชัยก็เบิกความรับว่าไม่ได้ใช้ทางดังกล่าวมาเป็นเวลานาน 10 ปีแล้ว คำเบิกความจึงขาดความชัดเจน ส่วนเสาไฟฟ้าตามแนวทางดังกล่าวอาจปักโดยความยินยอมของเจ้าของที่ดินตามแนวคันนาที่เดินกันโดยวิสาสะเนื่องจากประโยชน์ร่วมกันในการใช้แสงสว่าง พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินโจทก์มีที่ดินบุคคลอื่นล้อมอยู่ทุกด้าน แม้จะมีทางเดินทางด้านทิศตะวันตกออกสู่ทางสาธารณะได้ก็ตาม แต่โจทก์ต้องผ่านที่ดินของบุคคลอื่นอีก ทั้งมีระยะทางไกลและรถยนต์ผ่านไม่ได้ จึงถือได้ว่าที่ดินโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ทั้งสภาพบ้านเมืองปัจจุบันใช้รถยนต์เป็นพาหนะจำนวนมาก ทางที่ใช้เข้าออกสู่ที่ดินไม่ใช่เป็นทางเดินสถานเดียว แต่ต้องให้รถยนต์ผ่านด้วย โจทก์ซื้อที่ดินจากจำเลยประสงค์ใช้เป็นที่ปลูกบ้านและปัจจุบันใช้ปลูกพืชผักต่าง ๆ ต้องใช้รถยนต์กระบะผ่านเข้าออกสู่ที่ดิน เมื่อเปรียบเทียบทางด้านตะวันตกที่ดินโจทก์ซึ่งเป็นทางกว้าง 1 เมตรเศษ เป็นแนวยาวถึง 100 เมตร โดยสภาพทางแคบรถยนต์กระบะผ่านไม่ได้ กับทางพิพาทที่ติดกับที่ดินโจทก์ทางด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นทางตรงและมีระยะทางสั้นกว่ามาก ทั้งรถยนต์ผ่านเข้าออกได้ ทางพิพาทจึงเป็นทางที่ใกล้และสะดวกแก่การเดินทางของโจทก์ออกสู่ทางสาธารณะพอแก่ความจำเป็น และเมื่อที่ดินโจทก์แบ่งแยกมาจากที่ดินจำเลย โจทก์มีสิทธิใช้ทางจำเป็นในที่ดินจำเลยได้โดยไม่ต้องใช้ค่าตอบแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350
ที่จำเลยฎีกาอีกประการหนึ่งว่า โจทก์ไม่ได้เสียค่าอ้างเอกสาร จึงรับฟังแผนที่เอกสารหมาย จ.4 เป็นพยานไม่ได้นั้น เห็นว่า รูปแผนที่ตามเอกสารหมาย ล.1 ที่จำเลยจัดทำและแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.3 ที่ศาลชั้นต้นสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจัดทำ มีรูปที่ดินและตำแหน่งที่ตั้งสอดคล้องกับแผนที่เอกสารหมาย จ.4 ฉะนั้น จะรับฟังแผนที่เอกสารหมาย จ.4 หรือไม่ ก็ไม่ทำให้คำวินิจฉัยของศาลฎีกาเปลี่ยนแปลง ส่วนฎีกาจำเลยข้อที่โจทก์เคยเจรจาซื้อทางพิพาทนั้น ไม่เป็นสาระแก่การวินิจฉัย ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน