คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 781/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ซื้ออุปกรณ์เครนยกสินค้าจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ซึ่งมีทะเบียนการค้าและเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรแตกต่างจากโรงงาน ส. ซึ่งโจทก์จ่ายค่าแรงติดตั้งเครนยกสินค้าให้ ดังนั้น โรงงาน ส. จึงเป็นบุคคลอีกบุคคลหนึ่งต่างหากจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. แม้จะมีภูมิลำเนาอยู่แห่งเดียวกัน แต่ก็มีเงินได้พึงประเมินเป็นของตนเองและมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีแยกจากกัน จึงไม่อาจถือว่าเงินที่โจทก์จ่ายชำระราคาอุปกรณ์เครนยกสินค้าดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างทำของที่โจทก์จ้างโรงงาน ส. ติดตั้งเครนยกสินค้า โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 3 เตรส
การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ที่ต้องเสียภาษีการค้าหรือภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น แม้ผู้ประกอบกิจการจะไม่ได้คิดดอกเบี้ยหรือค่าตอบแทน แต่เมื่อการไม่คิดดอกเบี้ยหรือค่าตอบแทนนั้นไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจกำหนดดอกเบี้ยที่ผู้ประกอบการควรได้รับจากการประกอบกิจการเพื่อใช้เป็นฐานภาษีในการคำนวณภาษีการค้าหรือภาษีธุรกิจเฉพาะได้ตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 91/2 (5) และมาตรา 91/16 (6) ดังนั้น เมื่อโจทก์ให้บริษัท พ. กู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ย โดยไม่มีเหตุอันสมควร การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าและภาษีธุรกิจเฉพาะโดยคำนวณจากดอกเบี้ยรับที่โจทก์ควรจะได้รับในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หากเห็นว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรตามที่จำเลยประเมินขอให้พิจารณางดหรือลดเบี้ยปรับและภาษีบำรุงเทศบาล
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย เลขที่ สต.3012042/2/100149 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2542 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ สภ.3 (อธ.3)/843/2544 ลงวันที่ 22 มกราคม 2544 เป็นให้โจทก์รับผิดชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2534 เป็นเงินภาษีจำนวน 31,236 บาท เงินเพิ่มจำนวน 31,236 บาท รวมจำนวน 62,472 บาท กับให้แก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย เลขที่ สต.3012042/2/100150 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2542 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ สภ.3 (อธ.3)/844/2544 ลงวันที่ 22 มกราคม 2544 เป็นให้โจทก์รับผิดชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 เป็นเงินภาษีจำนวน 96,398.04 บาท เงินเพิ่มจำนวน 96,398.04 บาท รวมจำนวน 192,796.08 บาท ฟ้องโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 และ 2535 โจทก์รับจ้างบริษัทกระจกไทยอาซาฮี จำกัด ก่อสร้างคลังเก็บสินค้าโจทก์มิได้ทำการก่อสร้างเอง แต่ได้จ้างบริษัทรับเหมาก่อสร้างหลายรายทำการก่อสร้าง โจทก์หักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลในส่วนที่โจทก์แยกไว้เป็นค่าแรง และในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 ถึง 2537 โจทก์ให้บริษัทพิมแอสโซซิเอทส์ จำกัด กู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ย เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2542 เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ภาษีการค้าและภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 จำนวน 784,626.48 บาท เงินเพิ่มจำนวน 784,626.48 บาท ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 4 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 จำนวน 772,522.17 บาท เงินเพิ่มจำนวน 772,522.17 บาท ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 7 ภาษีการค้าประจำเดือนภาษีธันวาคม 2534 จำนวน 76,465.45 บาท เบี้ยปรับจำนวน 76,465.45 บาท เงินเพิ่มจำนวน 76,465.45 บาท ภาษีบำรุงเทศบาลจำนวน 22,939.63 บาท ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 2 ภาษีธุรกิจเฉพาะประจำเดือนภาษีธันวาคม 2535 จำนวน 76,343.45 บาท เบี้ยปรับจำนวน 152,686.90 บาท เงินเพิ่มจำนวน 76,343.45 บาท ภาษีบำรุงเทศบาลจำนวน 30,537.38 บาท ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 8 ประจำเดือนภาษีธันวาคม 2536 จำนวน 73,003.79 บาท เบี้ยปรับจำนวน 195,807.58 บาท เงินเพิ่มจำนวน 73,003.79 บาท ภาษีบำรุงเทศบาลจำนวน 34,181.52 บาท ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 76 ประจำเดือนภาษีธันวาคม 2537 จำนวน 71,195.12 บาท เบี้ยปรับจำนวน 198,790.25 บาท เงินเพิ่มจำนวน 59,803.90 บาท ภาษีบำรุงเทศบาลจำนวน 32,978.93 บาท ตามเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 78 โจทก์อุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบด้วยกฎหมาย แต่มีเหตุอันควรผ่อนผันจึงลดเบี้ยปรับที่เรียกเก็บลงเหลือเรียกเก็บร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายตามเอกสารหมาย ล.5 แผ่นที่ 31 ถึง 36
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอทุธรณ์ของโจทก์ข้อแรกมีว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายสำหรับค่าวัสดุที่โจทก์จ่ายให้แก่ห้างหุ้นสวนจำกัดสหบริบูรณ์ (1987) ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 จำนวน 1,040,200 บาท และรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 จำนวน 986,168 บาท หรือไม่ เห็นว่า ตามเอกสารหมาย ล.4 แผ่นที่ 57, 60 และ 173 ระบุว่าโจทก์ซื้ออุปกรณ์เครนยกสินค้าจากห้างหุ้นส่วนจำกัดสหบริบูรณ์ (1987) ซึ่งมีทะเบียนการค้าเลขที่ 116006747 เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร 3102411354 และตามเอกสารหมาย ล. 4 แผ่นที่ 63 และ 170 ระบุว่าโจทก์จ่ายค่าแรงติดตั้งเครนยกสินค้าให้แก่โรงงานสหบริบูรณ์ซึ่งมีทะเบียนการค้าเลขที่ 11603032 เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร 1005237880 ดังนั้น โรงงานสหบริบูรณ์จึงเป็นบุคคลอีกบุคคลหนึ่งต่างหากจากห้างหุ้นส่วนจำกัดสหบริบูรณ์ (1987) แม้จะมีภูมิลำเนาอยู่แห่งเดียวกันก็มีเงินได้พึงประเมินเป็นของตนเองและมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีแยกจากกัน จึงไม่อาจถือว่าเงินที่โจทก์จ่ายชำระราคาอุปกรณ์เครนยกสินค้าดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างทำของที่โจทก์จ้างโรงงานสหบริบูรณ์ติดตั้งเครนยกสินค้า โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อไปมีว่า โจทก์ต้องเสียภาษีการค้าและภาษีธุรกิจเฉพาะจากดอกเบี้ยรับของเงินที่โจทก์ให้บริษัทพิมแอสโซซิเอทส์ จำกัด กู้ยืมหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ปัญหาข้อนี้ประการแรกว่า การเสียภาษีการค้าและภาษีธุรกิจเฉพาะ โจทก์ใช้เกณฑ์เงินสดเมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับดอกเบี้ยจากบริษัทพิมแอสโซซิเอทส์ จำกัด โจทก์จึงยังไม่ต้องเสียภาษีการค้าและภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 87 ทวิ (6) (เดิม) ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับภาษีการค้าบัญญัติให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกำหนดค่าบริการตามราคาตลอดเมื่อผู้ประกอบการค้าให้บริการโดยไม่มีค่าตอบแทน หรือมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ต่อมาเมื่อมีการยกเลิกการเก็บภาษีการค้าจากการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ และเปลี่ยนเป็นจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการประกอบกิจการดังกล่าวแทนตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานประเมินก็มีอำนาจกำหนดดอกเบี้ยตามราคาตลาดในเวลากู้ยืมเงิน ในกรณีที่การให้กู้ยืมเงินนั้นไม่มีดอกเบี้ยหรือมีดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามมาตรา 91/16 (6) แห่งประมวลรัษฎากร บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ที่ต้องเสียภาษีการค้าหรือภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น แม้ผู้ประกอบกิจการจะไม่ได้คิดดอกเบี้ยหรือค่าตอบแทน แต่เมื่อการไม่คิดดอกเบี้ย หรือค่าตอบแทนนั้นไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจกำหนดดอกเบี้ยที่ผู้ประกอบการควรได้รับจากการประกอบกิจการเพื่อใช้เป็นฐานภาษีในการคำนวณภาษีการค้าหรือภาษีธุรกิจเฉพาะได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ให้บริษัทดังกล่าวกู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ย โดยไม่มีเหตุอันสมควร การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าและภาษีธุรกิจเฉพาะโดยคำนวณจากดอกเบี้ยรับที่โจทก์ควรจะได้รับในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีจึงชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มิได้ประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ จึงไม่ต้องเสียภาษีการค้าและภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น เห็นว่า โจทก์มิได้ยกข้อเท็จจริงนี้ขึ้นอ้างในคำฟ้อง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายสำหรับค่าวัสดุที่โจทก์จ่ายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดซีวิลซัพพลายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 และ 2535 กับที่จ่ายให้แก่บริษัทนิวโบเทคคอร์ปอเรชั่น จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัดอินพีคอนส์เทรดดิ้ง บริษัทไทยจิระพัฒน์ จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัดถิระพล ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 หรือไม่ สำหรับกรณีที่โจทก์จ่ายค่าวัสดุให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดซีวิลซัพพลาย บริษัทนิวโบเทคคอร์ปอเรชั่น จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัดอินพีคอนส์เทรดดิ้ง นั้น โจทก์จ่ายค่าแรงให้แก่บริษัทเกียรติธานีคอนสตรัคชั่น (1990) จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด พี.เอส.วอเตอร์ และบริษัทอินฟินิทเอนจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด ตามลำดับ เห็นว่า นิติบุคคลที่โจทก์จ่ายค่าแรงกับนิติบุคคลที่โจทก์ซื้อวัสดุเป็นนิติบุคคลต่างรายกัน แต่ละรายต่างมีรายรับรายจ่ายเป็นของตนเอง จึงไม่อาจถือว่าโจทก์จ้างทำของทั้งจำนวน กล่าวคือ ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาวัสดุได้ แม้ว่าโจทก์กับผู้รับเหมาช่วงไม่ได้ทำสัญญาจ้างทำของกันไว้เป็นหนังสือและนิติบุคคลผู้รับจ้างทำของกับผู้ขายวัสดุแต่ละคู่มีความสัมพันธ์กันโดยมีสถานประกอบการอยู่แห่งเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน หรือมีกรรมการหรือหุ้นส่วนคนเดียวกันก็ตาม เงินค่าวัสดุที่โจทก์จ่ายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดซีวิลซัพพลายกับบริษัทนิวโบเทคคอร์ปอเรชั่น จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัดอินพีคอนส์เทรดดิ้ง จึงมิใช่ส่วนหนึ่งของเงินค่าจ้างทำของโจทก์ไม่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายสำหรับเงินค่าวัสดุดังกล่าวตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร
สำหรับค่าสินค้าที่โจทก์จ่ายให้แก่บริษัทไทยจิระพัฒน์ จำกัด นั้น ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.4 แผ่นที่ 120 ถึง 122 ว่า โจทก์ชำระค่าสินค้าให้แก่บริษัทไทยจิระพัฒน์ จำกัด รวมจำนวน 163,928 บาท และปรากฏตามเอกสารหมาย ล.4 แผ่นที่ 11 และ 12 ว่า โจทก์จ่ายค่าจ้างทำเฟอร์นิเจอร์ให้แก่บริษัทดังกล่าวรวมจำนวน 126,040 บาท โจทก์มีนายวิโรจน์ กัปปิยจรรยา เป็นพยานเบิกความว่า สินค้าตามเอกสารหมาย ล.4 แผ่นที่ 120 ถึง 122 เป็นสินค้าสำเร็จรูปที่โจทก์ซื้อมา มิใช่สินค้าที่โจทก์จ้างให้ทำขึ้น ส่วนค่าจ้างตามเอกสารหมาย ล.4 แผ่นที่ 11 และ 12 เป็นค่าจ้างทำเฟอร์นิเจอร์ที่ประกอบติดตั้งกับตัวอาคาร จำเลยนำสืบทำนองว่าค่าจ้างตามเอกสารหมาย ล.4 แผ่นที่ 11 และ 12 เป็นค่าจ้างทำเฟอร์นิเจอร์ตามเอกสารหมาย ล.4 แผ่นที่ 120 ถึง 122 เห็นว่า เฟอร์นิเจอร์ตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย ล.4 แผ่นที่ 120 ถึง 122 คือ โซฟา โต๊ะ เก้าอี้ ตู้ กุญแจ และมู่ลี่ เป็นสินค้าที่มีจำหน่ายทั่วไป ซึ่งโจทก์ย่อมจัดซื้อมาได้ ทั้งค่าจ้างตามเอกสารหมาย ล.4 แผ่นที่ 11 และ 12 มีราคาใกล้เคียงกับราคาสินค้าตามเอกสารหมาย ล.4 แผ่นที่ 120 ถึง 122 ไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะจ้างทำเฟอร์นิเจอร์ในราคาสูงเช่นนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สินค้าตามเอกสารหมาย ล.4 แผ่นที่ 120 ถึง 122 เป็นสินค้าสำเร็จรูปที่โจทก์ซื้อมา มิใช่สินค้าที่โจทก์จ้างให้บริษัทไทยจิระพัฒน์ จำกัด จัดทำขึ้น โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย สำหรับเงินราคาสินค้าดังกล่าวตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร
สำหรับค่าสินค้าที่โจทก์จ่ายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดถิระพล นั้น ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.4 แผ่นที่ 13 ว่า โจทก์จ่ายเงินค่าสินค้าจำพวกโต๊ะ เก้าอี้ และตู้เหล็กชนิดต่าง ๆ ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดถิระพล รวมจำนวน 113,500 บาท นายวิโรจน์พยานโจทก์เบิกความว่า สินค้าตามที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวเป็นเฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปที่วางจำหน่ายทั่วไปและโจทก์จัดซื้อมาโดยมิได้ว่าจ้างให้ทำขึ้น ซึ่งเมื่อพิจารณาลักษณะของสินค้าดังกล่าวก็เป็นดังที่โจทก์นำสืบจริง จำเลยมิได้นำสืบหักล้างข้อเท็จจริงนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์ซื้อสินค้าตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย ล.4 แผ่นที่ 13 โดยมิได้ว่าจ้างให้ทำขึ้น โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายสำหรับราคาสินค้าดังกล่าวตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
เมื่อโจทก์ไม่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายสำหรับเงินที่โจทก์จ่ายชำระราคาอุปกรณ์เครนยกสินค้าแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดสหบริบูรณ์ (1987) ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 และ 2535 โจทก์จึงยังคงต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินค่าสินค้าที่โจทก์จ่ายเฉพาะในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 ให้แก่บริษัทนิวโบเทค คอร์ปอเรชั่น จำกัด จำนวน 1,920,000 บาท และบริษัทพี.เอส.เอนวิเทค จำกัด จำนวน 307,100 บาท รวมจำนวน 2,227,100 บาท ตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ซึ่งโจทก์มิได้อุทธรณ์คำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย อัตราร้อยละ 3 เป็นเงินภาษีจำนวน 66,813 บาท กับเงินเพิ่มจำนวน 66,813 บาท”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย เลขที่ สต.3012042/2/100149 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2542 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ สภ.3 (อธ.3)/843/2544 ลงวันที่ 22 มกราคม 2544 และให้แก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย เลขที่ สต.3012042/2/100150 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2542 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ สภ.3 (อธ.3)/844/2544 ลงวันที่ 22 มกราคม 2544 เป็นให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคลหัก ณ ที่จ่ายสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 จำนวน 66,813 บาท กับเงินเพิ่มจำนวน 66,813 บาท รวมจำนวน 133,626 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามศาลภาษีอากรกลาง

Share