แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์วันที่5มีนาคม2539โจทก์ยื่นคำร้องขอถ่ายคำเบิกความพยานและคำพิพากษาในวันรุ่งขึ้นศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตวันที่15เดือนเดียวกันวันที่4เมษายน2539โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์30วันโดยอ้างเหตุว่ายังไม่ได้รับเอกสารที่ขอถ่ายศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์วันที่23เดือนเดียวกันซึ่งเมื่อนับแต่วันพิพากษาถึงวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ของระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายให้มีเวลาถึงประมาณ50วันโจทก์มีอาชีพเป็นทนายความสามารถทำอุทธรณ์ได้เองและยังแต่งตั้งทนายความอีกคนหากโจทก์หรือทนายโจทก์ตั้งใจจริงย่อมสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดทั้งรูปคดีไม่สลับซับซ้อนการที่โจทก์ปล่อยปละละเลยจนกระทั่งถึงวันครบกำหนดอุทธรณ์ที่ขยายให้แล้วจึงมายื่นขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก10วันโดยอ้างเหตุว่านับแต่ต้นเดือนเมษายน2539มีวันหยุดราชการและวันหยุดตามประเพณีหลายวันพนักงานพิมพ์ดีดและพนักงานอื่นในสำนักงานของโจทก์ขอลาหยุดต่อเนื่องกันหลายวันทำให้คดีที่จะต้องเตรียมและจัดพิมพ์ค้างอยู่หลายคดีเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถทำอุทธรณ์ยื่นต่อศาลได้ภายในระยะเวลาดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างลอยๆแม้ไม่มีพนักงานพิมพ์ดีดพิมพ์อุทธรณ์ให้โจทก์ก็สามารถเขียนด้วยหมึกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา46วรรคสองกรณีของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่ศาลจะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา23ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา15
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่5 มีนาคม 2539 โจทก์ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2539 ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ 30 วัน นับแต่วันครบกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 23 เมษายน 2539 ครั้นวันครบกำหนดของระยะเวลาที่ขยาย โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 10 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาต
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่ากรณีมีเหตุที่จะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามคำร้องฉบับลงวันที่23 เมษายน 2539 ออกไปอีกครั้งหรือไม่ เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 บัญญัติว่าการขยายเวลาให้พึงทำได้เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2539 โจทก์ยื่นคำร้องขอถ่ายคำเบิกความพยานและคำพิพากษาในวันรุ่งขึ้น ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตวันที่ 15 เดือนเดียวกัน ต่อมาวันที่ 4 เมษายน 2539 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ 30 วัน โดยอ้างเหตุว่ายังไม่ได้รับเอกสารที่ขอถ่าย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 23 เดือนเดียวกันมูลเหตุที่โจทก์มาฟ้องเป็นคดีนี้เนื่องจากโจทก์เป็นทนายความให้จำเลย ซึ่งเป็นจำเลยในคดีแพ่งแล้วโจทก์ถอนตัวจากการเป็นทนายความจำเลยเป็นเหตุให้จำเลยไปร้องเรียนต่อสภาทนายความกล่าวหาว่าโจทก์ไม่ยอมคืนเอกสารในสำนวน โจทก์ถือว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ ซึ่งรูปคดีเป็นเรื่องการคืนเอกสารก่อนหรือหลังจำเลยไปร้องเรียน ข้อเท็จจริงไม่สลับซับซ้อน นับแต่วันพิพากษาถึงวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ของระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายให้มีเวลาถึงประมาณ 50 วัน โจทก์มีอาชีพเป็นทนายความมีความสามารถทำอุทธรณ์ได้เอง ทั้งโจทก์ยังแต่งตั้งทนายความอีกคน หากโจทก์หรือทนายโจทก์ตั้งใจจริงย่อมสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดเวลานั้น การที่โจทก์ปล่อยปละละเลยจนกระทั่งถึงวันครบกำหนดอุทธรณ์ที่ขยายให้แล้วจึงมายื่นขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 10 วัน โดยอ้างเหตุว่า นับแต่ต้นเดือนเมษายน 2539 มีวันหยุดราชการและวันหยุดตามประเพณีหลายวันพนักงานพิมพ์ดีดและพนักงานอื่นในสำนักงานของโจทก์ขอลาหยุดต่อเนื่องกันหลายวัน ทำให้คดีที่จะต้องเตรียมและจัดพิมพ์ค้างอยู่จำนวนหลายคดี เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถทำอุทธรณ์ยื่นต่อศาลได้ภายในระยะเวลาดังกล่าว เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ แม้ไม่มีพนักงานพิมพ์ดีดพิมพ์อุทธรณ์ให้ โจทก์ก็สามารถเขียนด้วยหมึกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 46 วรรคสอง กรณีของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่ศาลจะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์นั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน