คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8003/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยโอนลิขสิทธิ์ดนตรีกรรมเพลงพิพาท ทั้งคำร้องทำนองซึ่งขับร้องโดยนักร้องชื่อ ก. ในส่วนของคาราโอเกะทุกรูปแบบให้แก่โจทก์ที่ 2 เมื่อตามข้อสัญญาลิขสิทธิ์เพลงข้อ 1 ระบุข้อห้ามไว้ด้วยว่า “การโอนลิขสิทธิ์นี้เป็นการโอนตลอดอายุสัญญาแห่งลิขสิทธิ์ซึ่งผู้โอนลิขสิทธิ์ไม่มีสิทธิที่จะนำไปขายหรือจัดทำเอง รวมทั้งอนุญาตให้ผู้อื่นไปจัดทำ” ฉะนั้น การที่จำเลยร่วมกับพวกอนุญาตให้นาย ช. ใช้มาสเตอร์เทปเพลงพิพาทพร้อมลิขสิทธิ์ คือ ทั้งตามคำร้อง ทำนองเพลงพิพาทที่ขับร้องโดยนักร้องชื่อ ก. ไปทำการบันทึกเสียงและภาพทำเป็นคาราโอเกะได้ด้วยดังกล่าว จึงเป็นการกระทำผิดสัญญาลิขสิทธิ์ต่อโจทก์ที่ 2
การกระทำของจำเลยที่จงใจมอบหมายภริยาจำเลยให้นำมาสเตอร์เทปเพลง 2 เพลง เช่นเดียวกับที่ได้โอนลิขสิทธิ์โดยเด็ดขาดให้โจทก์ที่ 2 ไปแล้ว คือ เพลง น. และเพลง ส. ซึ่งขับร้องโดยนักร้องชื่อ ก. ไปให้บุคคลภายนอก ซึ่งจำเลยสามารถคาดหมายได้ว่าบุคคลภายนอกต้องนำมาสเตอร์เทปดังกล่าวไปผลิตเป็นวิดีโอซีดีคาราโอเกะออกจำหน่ายในท้องตลาดแข่งขันกับโจทก์ที่ 2 เพราะกำลังเป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่ประชาชน จากนั้นบุคคลภายนอกก็ผลิตวิดีโอซีดีคาราโอเกะออกจำหน่ายแข่งขันกับโจทก์ที่ 2 ดังที่จำเลยคาดหมาย ถือว่าจำเลยกับพวกร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์คาราโอเกะของโจทก์ที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟัองขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 3,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสองชำระค่าฤชาธรรมเนียม โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 มีว่า จำเลยกระทำผิดสัญญาลิขสิทธิ์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงพิพาท ส่วนนางจันทรเป็นภริยาของจำเลย การที่นางจันทรอนุญาตให้นายชาติชายใช้สิทธิเพลงพิพาทเป็นการจัดการทรัพย์สินของสามีภริยา เชื่อได้ว่าจำเลยรู้เห็นเป็นใจอนุญาตให้นายชาติชายใช้สิทธิเพลงพิพาท ถือได้ว่าจำเลยร่วมกระทำการดังกล่าวด้วย ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยไม่เคยอนุญาตให้ผู้ใดใช้ลิขสิทธิ์เพลงตามฟ้องอีกนั้นฟังไม่ขึ้น และเมื่อตามสัญญาลิขสิทธิ์เพลงระบุไว้ชัดว่า จำเลยตกลงโอนลิขสิทธิ์ในดนตรีกรรมคือเพลงพิพาททั้งคำร้องทำนองที่จำเลยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ซึ่งขับร้องโดยนักร้องชื่อ “กุ้ง” สุทธิราช วงศ์เทวัญ” ในส่วนของคาราโอเกะทุกรูปแบบของคาราโอเกะให้แก่โจทก์ที่ 2 นอกจากนี้ยังรวมทั้งภาพที่จำเลยถ่ายทำเสร็จแล้วด้วย มิใช่จำเลยตกลงโอนลิขสิทธิ์เฉพาะมิวสิกวิดีโอที่จำเลยถ่ายทำไว้เท่านั้น และหากโจทก์ที่ 2 และจำเลยตกลงซื้อขายกันเฉพาะมิวสิกวิดีโอที่จำเลยถ่ายทำไว้ดังกล่าวเพื่อให้โจทก์ที่ 2 นำไปจัดทำเป็นคาราโอเกะ เท่ากับว่าโจทก์ที่ 2 ซื้อเฉพาะมิวสิกวิดีโอเพลงดังกล่าวมาจัดทำเป็นคาราโอเกะได้เพียงรูปแบบเดียว คือ รูปแบบตามที่จำเลยถ่ายทำไว้เท่านั้น มิใช่ทุกรูปแบบตามที่กำหนดไว้ในสัญญา ทั้งผลประโยชน์ตอบแทนที่โจทก์ที่ 2 ชำระให้จำเลยคิดเป็นเงินถึง 800,000 บาท ก็มิใช่จำนวนเพียงเล็กน้อย ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยโอนลิขสิทธิ์เพลงดังกล่าวแต่บางส่วนคือ เฉพาะให้นำไปจัดทำเป็นคาราโอเกะเท่านั้น จำเลยยังเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในส่วนอื่นๆ ของเพลงดังกล่าวอยู่ฟังไม่ขึ้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยโอนลิขสิทธิ์ดนตรีกรรมคือเพลงพิพาท ทั้งคำร้องทำนองซึ่งขับร้องโดยนักร้องชื่อ “กุ้ง สุทธิราช วงศ์เทวัญ” ในส่วนของคาราโอเกะทุกรูปแบบให้แก่โจทก์ที่ 2 เมื่อตอบข้อสัญญาลิขสิทธิ์เพลงข้อ 1 ระบุข้อห้ามไว้ด้วยว่า “การโอนลิขสิทธิ์นี้เป็นการโอนตลอดอายุสัญญาแห่งลิขสิทธิ์ซึ่งผู้โอนลิขสิทธิ์ไม่มีสิทธิที่จะนำไปขายหรือจัดทำเอง รวมทั้งอนุญาตให้ผู้อื่นไปจัดทำ” ฉะนั้น การที่จำเลยร่วมกับพวกอนุญาตให้นายชาติชายใช้มาสเตอร์เทปเพลงพิพาทพร้อมลิขสิทธิ์ คือ ทั้งตามคำร้อง ทำนองเพลงพิพาทที่ขับร้องโดยนักร้องชื่อ “กุ้ง สุทธิราช วงศ์เทวัญ” ไปทำการบันทึกเสียงและภาพทำเป็นคาราโอเกะได้ด้วยดังกล่าว จึงเป็นการกระทำผิดสัญญาต่อโจทก์ที่ 2 ตามฟ้อง อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ที่ 2 ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ต่อไปมีว่า จำเลยกระทำละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยตกลงโอนลิขสิทธิ์คาราโอเกะทุกรูปแบบที่จำเลยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งจำเลยได้ถ่ายทำเป็นมิวสิกวิดีโอแล้วทั้ง 12 เพลง รวมทั้งเพลงนกขมิ้นและเพลงสาวไฮเทคโดยเด็ดขาดให้แก่โจทก์ที่ 2 ต่อมาภายในระยะเวลาอายุลิขสิทธิ์ภริยาจำเลยทำสัญญาอนุญาตให้นายชาติชายใช้มาสเตอร์เทปเพลง 2 เพลง คือเพลงนกขมิ้นและเพลงสาวไฮเทค พร้อมลิขสิทธิ์ซึ่งขับร้องโดยสุทธิราช โดยอนุญาตให้นำไปบันทึกเสียงร้องและภาพทำเป็นวิซีดีคาราโอเกะออกจำหน่ายได้ด้วย จากนั้นนายชาติชายและนิติบุคคล 2 แห่ง ก็ได้ผลิตวิซีดีคาราโอเกะ 2 เพลง ออกจำหน่าย เห็นว่า หลังจากจำเลยได้ถ่ายทำมิวสิกวิดีโอแล้วก็นำไปโอนลิขสิทธิ์เด็ดขาดให้แก่โจทก์ที่ 2 ในปี 2541 ต่อมาเมื่อโจทก์ที่ 2 ผลิตวิดีโอซีดีคาราโอเกะออกจำหน่ายแก่ประชาชนจนเป็นที่แพร่หลายแล้ว ในปี 2544 จำเลยจึงได้มอบหมายให้นางจันทรภริยาของจำเลยทำสัญญาอนุญาตให้นายชาติชายใช้มาสเตอร์เทปเพลงพร้อมลิขสิทธิ์เพลงนกขมิ้นและเพลงสาวไฮเทค ขับร้องโดย “สุทธิราช วงศ์เทวัญ” ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมแพร่หลายต่อประชาชน นำไปผลิตเป็นวิดีโอซีดีคาราโอเกะ ออกจำหน่ายแข่งกับโจทก์ที่ 2 จากนั้นนายชาติและบริษัท 2 แห่งก็ได้ผลิตวิดีโอซีดีคาราโอเกะเหมือนกับของโจทก์ที่ 2 ทั้งเนื้อร้อง ทำนองดนตรี จังหวะดนตรี เช่นเดียวกับที่โจทก์ที่ 2 ได้รับโอนลิขสิทธิ์โดยเด็ดขาดมาจากจำเลย และบริษัททั้งสองที่ผลิตวิดีโอซีดีดังกล่าวก็ได้นำวิดีโอซีดีคาราโอเกะดังกล่าวออกจำหน่ายในท้องตลาดทั่วประเทศโดยลดราคามาเพื่อแข่งขันกับของโจทก์ที่ 2 การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ถ่ายทำมิวสิกวิดีโอแล้วนำไปโอนลิขสิทธิ์โดยเด็ดขาดให้โจทก์ที่ 2 จากนั้นเมื่อโจทก์ที่ 2 ผลิตวิดีโอซีดีคาราโอเกะออกจำหน่ายจนเป็นที่นิยมแพร่หลายแล้ว จำเลยก็จงใจมอบหมายภริยาจำเลยให้นำมาสเตอร์เทปเพลง 2 เพลง เช่นเดียวกับที่ได้โอนลิขสิทธิ์โดยเด็ดขาดให้โจทก์ที่ 2 ไปให้บุคคลภายนอกซึ่งจำเลยสามารถคาดหมายได้ว่าบุคคลภายนอกต้องนำมาสเตอร์เทปดังกล่าวไปผลิตเป็นวิดีโอซีดีคาราโอเกะออกจำหน่ายในท้องตลาดแข่งขันกับโจทก์ที่ 2 เพราะกำลังเป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่ประชาชน จากนั้นบุคคลภายนอกก็ผลิตวิดีโอซีดีคาราโอเกะออกจำหน่ายแข่งขันกับโจทก์ที่ 2 ดังที่จำเลยคาดหมาย ถือว่าจำเลยกับพวกร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์คาราโอเกะของโจทก์ที่ 2 อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ที่ 2 ฟังขึ้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 2 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นฟ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.

Share