คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8000/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคสอง กำหนดให้ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกันหรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออกหรือสัญญาประกันสิ้นอายุให้นายจ้างคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ยถ้ามี ให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออกหรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุแล้วแต่กรณี และตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงาน หรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง ข้อ 7 กำหนดให้นายจ้างนำเงินประกันฝากธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินตามบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคน เพื่อคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ยแก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันโดยนายจ้างจะเก็บรักษาเงินประกันวิธีอื่นหรือนำไปจัดหาผลประโยชน์อื่นใดนอกจากนี้มิได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้แยกบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคนไว้และนำดอกเบี้ยของลูกจ้างแต่ละคนโอนมารวมกันไว้ที่กองทุนสวัสดิการของพนักงานโดยจ่ายปันผลคืนแก่ลูกจ้างในรูปแบบสินค้ามิใช่ดอกเบี้ย จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 10 วรรคสอง และประกาศกระทรวงดังกล่าว
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เคยมีหนังสือภาคทัณฑ์ลูกจ้างเพราะบันทึกสต๊อกสินค้าบกพร่องมิได้กล่าวถึงเรื่องบันทึกสต๊อกสินค้ามีมูลค่าสูงเกินจริงแต่อย่างใด ที่โจทก์อุทธรณ์เพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่าลูกจ้างกระทำการยักยอกทรัพย์ทำให้โจทก์เสียหาย จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง และอุทธรณ์โจทก์ที่กล่าวอ้างว่าศาลแรงงานกลางไม่ให้สืบพยานโจทก์ในระหว่างพิจารณาก่อนมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งดังกล่าวในสำนวน อุทธรณ์โจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย ที่ 2/2547 ลงวันที่ 19 มกราคม 2547
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เก็บเงินประกันการทำงานจากลูกจ้างผู้ร้องจำนวน 4,000 บาท และนำฝากที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด บัญชีเลขที่ 077-1-28595-6 แต่ไม่ได้แยกบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคนไว้ เพียงแต่ทำบัญชีแยกรายชื่อไว้เท่านั้น ส่วนดอกเบี้ยจะโอนมารวมกันที่กองทุนสวัสดิการของพนักงานและจ่ายปันผลแก่ลูกจ้างทุกสิ้นปี ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคสอง กำหนดให้ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกัน หรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออก หรือสัญญาประกันสิ้นอายุให้นายจ้างคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ย ถ้ามี ให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออก หรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุแล้วแต่กรณี และเพื่อให้สามารถดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงได้มีประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงาน หรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 กำหนดจำนวนเงินและวิธีการเก็บรักษา โดยข้อ 7 กำหนดให้นายจ้างนำเงินประกันฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นโดยจัดให้มีบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคน และให้แจ้งชื่อธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น ชื่อบัญชี และเลขที่บัญชี ให้ลูกจ้างทราบเป็นหนังสือภายในเจ็ดวันนั้นแต่วันที่รับเงินประกัน ดังนั้น เพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินประกันคืนภายในเจ็ดวันพร้อมดอกเบี้ย นายจ้างจึงต้องนำเงินประกันฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นโดยจัดให้มีบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคน และคืนเงินประกันในบัญชีเงินฝากนั้นพร้อมดอกเบี้ย ถ้ามี แก่ลูกจ้างต่อไปโดยนายจ้างจะเก็บรักษาเงินประกันวิธีอื่นหรือนำไปจัดหาผลประโยชน์อื่นใดนอกจากนี้มิได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้แยกบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคนไว้และนำดอกเบี้ยของลูกจ้างแต่ละคนโอนมารวมกันไว้ที่กองทุนสวัสดิการของพนักงาน ทั้งการจ่ายปันผลแก่ลูกจ้างทุกสิ้นปีก็เป็นการปันผลคืนแก่ลูกจ้างในรูปแบบของสินค้ามิใช่ดอกเบี้ย จึงเป็นการปฏิบัติไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคสอง และวิธีการตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงาน หรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง ข้อ 7
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ประการต่อไปว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ลูกจ้างผู้ร้องบันทึกสต็อกของสินค้าผิดพลาด มีมูลค่าสูงเกินจริงซึ่งโจทก์ถือว่ายังไม่ได้รับการวินิจฉัยจากศาลแรงงานกลางเพราะเหตุว่าตามคำฟ้องและคำเบิกความของพยานโจทก์ที่นำเสนอต่อศาลแรงงานกลางยืนยันชัดเจนว่าลูกจ้างผู้ร้องจงใจจัดทำรายการสถิติการขายเป็นเท็จแจ้งแก่โจทก์เพื่อเบียดบังยักยอกทรัพย์ไปโดยทุจริต อีกทั้งในคำพิพากษาซึ่งระบุว่าเพิ่งตรวจสอบหลังจากลูกจ้างผู้ร้องลาออกไปแล้วและเป็นการตรวจสอบโดยโจทก์ฝ่ายเดียวเป็นการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนจากวิธีการตรวจสอบของโจทก์นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ในเรื่องความเสียหายที่อ้างว่าลูกจ้างผู้ร้องบันทึกสต็อกสินค้าผิดพลาด มีมูลค่าสูงเกินจริงนั้น เหตุเกิดมาตั้งแต่ปี 2544 แต่เพิ่งตรวจสอบหลังจากลูกจ้างผู้ร้องลาออกไปแล้วและเป็นการตรวจสอบโดยโจทก์ฝ่ายเดียว โดยโจทก์ไม่เคยทักท้วงหรือแจ้งให้ลูกจ้างผู้ร้องทราบมาก่อน ทั้งที่โจทก์เคยมีหนังสือภาคทัณฑ์ลูกจ้างผู้ร้องเพราะบันทึกสต็อกสินค้าบกพร่องเรื่องรายงานสินค้าสลับสีสลับขนาดเท่านั้น มิได้กล่าวถึงเรื่องบันทึกสต็อกสินค้ามีมูลค่าสูงเกินจริงแต่อย่างใด และเพิ่งแจ้งให้ลูกจ้างผู้ร้องทราบพร้อมกันแจ้งเรื่องสินค้าเปื้อนหลังจากลูกจ้างผู้ร้องออกจากงานไปแล้ว ทั้งรอยเปื้อนที่เสื้อเป็นเพียงจุดเล็กๆ และสีจางๆ ไม่แจ้งชัดว่าเปื้อนตั้งแต่เมื่อใด โดยโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าสินค้าเปื้อนขณะอยู่ในความรับผิดชอบของลูกจ้างผู้ร้อง จึงรับฟังไม่ได้ว่าลูกจ้างผู้ร้องได้ก่อความเสียหายแก่โจทก์ ที่โจทก์อุทธรณ์ข้างต้นก็เพื่อให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่าลูกจ้างผู้ร้องกระทำการยักยอกทรัพย์ทำให้โจทก์เสียหาย จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
โจทก์อุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า ศาลแรงงานกลางระบุอย่างชัดเจนในระหว่างการพิจารณาว่า ประเด็นที่จำเลยกับพวกกระทำละเมิดสิทธิของโจทก์โดยการข่มขู่และขัดขวางการปฏิบัติงานของพนักงานโจทก์นั้น มิใช่เหตุในการเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเป็นเหตุให้โจทก์มิได้นำสืบเพื่อต่อสู้ในประเด็นนี้ตลอดกระบวนการพิจารณา แต่ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ว่า จำเลยมิได้ข่มขู่หรือกระทำการใดอันเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์จึงเป็นคำพิพากษาที่มิได้ให้โอกาสโจทก์สืบพยานตามคำฟ้องนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการกล่าวอ้างว่าศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่ให้สืบพยานโจทก์ในประเด็นดังกล่าว ระหว่างพิจารณาก่อนที่ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งดังกล่าวในสำนวน อุทธรณ์ของโจทก์ประการนี้จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
พิพากษายืน

Share