คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 800/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามบทบัญญัติใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271ซึ่งเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินวิธีการบังคับคดีตามขั้นตอนให้ครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี นั้น ประการแรกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ประการที่สอง เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องแถลงหรือแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีแล้ว ประการที่สาม เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าเจ้าหนี้มีความประสงค์ขอให้ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาและถ้ามีลูกหนี้หลายคนให้ระบุว่าต้องการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้คนใด เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนครบถ้วนภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ก็ถือว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอให้บังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แล้ว กำหนดเวลา 10 ปีนี้ย่อมต้องนับตั้งแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดเป็นต้นไปมิใช่นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่จำเลยคัดค้านการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยตามที่โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยไว้และเมื่อหนี้ตามคำพิพากษาเป็นกรณีที่จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความผ่อนชำระเป็นงวดตามจำนวนเงินที่ระบุและภายในเวลาที่กำหนดเป็นคราว ๆ โดยเริ่มชำระงวดแรกในวันที่30 เมษายน 2524 หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้เลย กำหนดเวลา 10 ปีนี้ จึงต้องนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2524 อันเป็นวันแรกที่โจทก์อาจขอให้บังคับแก่จำเลยได้เป็นต้นไป การที่โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ตามการบังคับคดีตามคำพิพากษาครบถ้วนประสงค์จะบังคับคดีต่อไปอีก โจทก์ชอบจะแถลงภายในกำหนดเวลา 10 ปีนับแต่วันดังกล่าวขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลย การที่โจทก์ยื่นคำแถลงดังกล่าวเมื่อพ้นระยะเวลา 10 ปีแล้ว โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับคดีแก่จำเลย ไม่อาจนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์จำเลยได้อีก

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์และจำเลยทั้งสี่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลชั้นต้นว่า จำเลยทั้งสี่ยอมร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 30 เมษายน 2524และจะชำระหนี้ทั้งสิ้นภายในวันที่ 30 กันยายน 2525 หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดหรือข้อหนึ่งข้อใด ยอมให้โจทก์บังคับคดีไปทันทีศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2524 คดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม 2524 โจทก์ยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ โดยอ้างว่าจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์เลยและแนบบัญชีทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มาท้ายคำขอนั้นต่อมาวันที่ 15 กันยายน 2524 ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยทั้งสี่ตามบัญชีทรัพย์ท้ายคำขอของโจทก์ ผู้แทนโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ในวันเดียวกันนั้น ในการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวในวันที่ 28 ตุลาคม 2526 ปรากฏว่าโจทก์ประมูลได้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 คัดค้านว่าขายได้ราคาต่ำกว่าราคาจริงศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขายได้ จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4อุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกาศาลฎีกาพิพากษายืน ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2529 ต่อมาวันที่ 11 กันยายน 2534 โจทก์ยื่นคำแถลงว่า จำเลยทั้งสี่ยังค้างชำระหนี้โจทก์อยู่ ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยทั้งสี่ตามบัญชีทรัพย์ที่แนบมาพร้อมกับคำแถลงของโจทก์ โดยแนบบัญชีทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3มาด้วย ต่อมาวันที่ 14 กันยายน 2534 ผู้แทนโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 โดยยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ตามที่ระบุไว้ในบัญชีทรัพย์แนบท้ายคำแถลงดังกล่าวและยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งไม่ได้ระบุไว้ในบัญชีทรัพย์นั้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องว่า โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 พ้นกำหนด 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 จึงหมดสิทธิบังคับคดีแล้ว ขอให้ถอนการยึด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์นำยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ขึ้นใหม่หลังจาก 10 ปีแล้ว และมิได้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 2เพิ่งนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา โจทก์หมดสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมถอนการยึด
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 3 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษา(ที่ถูกคือคำสั่ง) ของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการบังคับคดีให้ครบถ้วนภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งการที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2534 เป็นการนำยึดทรัพย์ใหม่เมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดแล้ว โดยไม่ปรากฏว่ามีรายการทรัพย์ที่โจทก์นำยึดใหม่รวมอยู่ในบัญชีทรัพย์ฉบับลงวันที่ 27 สิงหาคม 2524 โจทก์นำยึดทรัพย์ดังกล่าวภายหลัง 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาตามยอม โจทก์ย่อมหมดสิทธิจะบังคับคดีต่อไปนั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 บัญญัติว่า “ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา)ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น” ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าว เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินวิธีการบังคับคดีตามขั้นตอนให้ครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี กล่าวคือ ประการแรกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีประการที่สอง เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องแถลงหรือแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีแล้ว ประการที่สาม เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ว่าเจ้าหนี้มีความประสงค์ขอให้ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา และถ้ามีลูกหนี้หลายคนให้ระบุว่าต้องการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้คนใด เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนครบถ้วนภายใน 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งก็ถือว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอให้บังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แล้วบทบัญญัตินี้ไม่ได้หมายความว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพียงแต่ขอหมายบังคับคดีภายใน 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะดำเนินวิธีบังคับคดีอย่างไรต่อไปเมื่อพ้นกำหนดเวลา10 ปีไปแล้วก็ได้ เพราะหากกรณีเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นผลให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องถูกบังคับคดีโดยไม่มีกำหนดเวลา กำหนดเวลา 10 ปีที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องร้องขอให้บังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ปกติย่อมต้องนับตั้งแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดเป็นต้นไปมิใช่นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 คัดค้านการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยทั้งสามที่โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยทั้งสามในวันที่ 15 กันยายน 2524 ตามที่โจทก์แก้ฎีกาแต่โดยที่คดีนี้หนี้ตามคำพิพากษาที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาและคำบังคับให้จำเลยทั้งสี่ปฏิบัติ ซึ่งโจทก์ร้องขอให้บังคับคดีนั้นจำเลยทั้งสี่ทำยอมผ่อนชำระเป็นงวดตามจำนวนเงินที่ระบุและภายในระยะเวลาที่กำหนดเป็นคราว ๆ โดยกำหนดเริ่มชำระงวดแรกในวันที่30 เมษายน 2524 หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที ฉะนั้นเมื่อจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมเลย กำหนดเวลา 10 ปีที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้จะต้องร้องขอให้บังคับคดีแก่จำเลยทั้งสี่ จึงต้องนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2524 อันเป็นวันแรกที่โจทก์อาจขอให้บังคับคดีแก่จำเลยทั้งสี่ได้เป็นต้นไป ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 2700/2524ระหว่างธนาคารไทยพัฒนา จำกัด โจทก์บริษัทสยามคอมเมอร์เชียลจำกัด กับพวกจำเลย ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ยื่นคำขอเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2524 ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้โจทก์ โดยได้แนบบัญชีทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่ 3และที่ 4 มาท้ายคำขอนั้นและต่อมาโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ดังกล่าวมาขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้โจทก์แล้ว แม้โจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาครบถ้วนและประสงค์จะบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 3เพื่อให้ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนต่อไปอีก โจทก์ก็ชอบที่จะยื่นคำแถลงภายในกำหนดเวลา 10 ปีนับแต่วันดังกล่าว ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เช่นนั้นแต่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ที่ยังคงค้างชำระให้แก่โจทก์ต่อไปเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2534ซึ่งล่วงเลยเวลาที่โจทก์จะบังคับคดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แล้ว โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 เช่นนั้น และไม่อาจนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ใหม่ในวันที่ 14 กันยายน 2534 ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์หมดสิทธิที่จะบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1และที่ 3 ให้ถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 และให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมถอนการยึด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share