คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1690/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

องค์ประกอบความผิดในส่วนการกระทำตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) (2) คือ การทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ และองค์ประกอบความผิดในส่วนการกระทำตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) คือ การขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย งานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น และองค์ประกอบทั้งสองมาตราในส่วนของงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นนั้น ต้องเป็นงานสร้างสรรค์ที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครอง โดยได้มาตามเงื่อนไขของกฎหมายและต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ด้วย เพราะลิขสิทธิ์เป็นสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองภายในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น หลังจากพ้นกำหนดอายุการคุ้มครองแล้ว งานลิขสิทธิ์จะตกเป็นงานที่สาธารณชนสามารถใช้ประโยชน์จากงานนั้นได้โดยไม่เป็นความผิด ดังนี้ องค์ประกอบความผิดที่ว่า งานอันมีลิขสิทธิ์ต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายนั้นจึงเป็นสาระสำคัญ การที่จะรู้ว่างานอันมีลิขสิทธิ์ใดยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์หรือไม่ ก็ต้องเป็นไปตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 หากผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดาก็จะมีอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตลอดอายุผู้สร้างสรรค์และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปี หากผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคลก็จะมีอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้น แต่ถ้ามีการโฆษณางานในระยะเวลาดังกล่าว อายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาครั้งแรก เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลได้ลิขสิทธิ์ในการสร้างสรรค์งานดังกล่าวเมื่อใด หรือมีการโฆษณางานหรือไม่ หากมีการโฆษณางาน โจทก์ได้มีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด จึงไม่มีข้อเท็จจริงในส่วนที่แสดงให้เห็นว่าลิขสิทธิ์ดังกล่าวอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์หรือไม่ จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 31, 69, 70, 75, 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 และสั่งจ่ายเงินค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษากึ่งหนึ่งแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดแล้ว ส่วนการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใดเป็นเพียงเรื่องการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 โดยโจทก์เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนตามกฎหมายไทย จึงไม่จำต้องโฆษณางานครั้งแรกในราชอาณาจักรไทยก็ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติดังกล่าว นอกจากนี้ในกรณีนิติบุคคลเป็นผู้สร้างสรรค์ หากไม่มีการโฆษณางานให้นับอายุความคุ้มครองนับแต่วันสร้างสรรค์ขึ้นโดยมิได้นับแต่ได้มีการโฆษณางานครั้งแรกนั้น เห็นว่า องค์ประกอบความผิดในส่วนการกระทำตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) (2) คือการทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ และองค์ประกอบความผิดในส่วนการกระทำตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) คือ การขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย งานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น และองค์ประกอบทั้งสองมาตราในส่วนของงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นนั้น ต้องเป็นงานสร้างสรรค์ที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครอง โดยได้มาตามเงื่อนไขของกฎหมายและต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ด้วย เพราะลิขสิทธิ์เป็นสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองภายในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น หลังจากพ้นกำหนดอายุการคุ้มครองแล้ว งานลิขสิทธิ์จะตกเป็นงานที่สาธารณชนสามารถใช้ประโยชน์จากงานนั้นได้โดยไม่เป็นความผิดดังนี้ องค์ประกอบความผิดที่ว่างานอันมีลิขสิทธิ์ต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายนั้นจึงเป็นสาระสำคัญ การที่จะรู้ว่างานอันมีลิขสิทธิ์ใดยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์หรือไม่ ก็ต้องเป็นไปตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 หากผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดาก็จะมีอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตลอดอายุผู้สร้างสรรค์และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปี หากผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคลก็จะมีอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้น แต่ถ้ามีการโฆษณางานในระยะเวลาดังกล่าว อายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาครั้งแรก เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลได้ลิขสิทธิ์ในการสร้างสรรค์งานดังกล่าวเมื่อใด หรือมีการโฆษณางานหรือไม่ หากมีการโฆษณางานโจทก์ได้มีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด จึงไม่มีข้อเท็จจริงในส่วนที่แสดงให้เห็นว่าลิขสิทธิ์ดังกล่าวอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 หรือไม่ จึงเป็นคำฟ้องที่บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสามกระทำผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) (2) และ 31 (1) ไม่ครบถ้วน ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน

Share