แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยมีหน้าที่ออกตรวจพื้นที่มีอำนาจที่จะเสนอความเห็นต่อผู้บังคับบัญชา ให้ออกหรือไม่ให้ออกใบอนุญาตก็ได้ ถือได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการพิจารณาว่าจะออกใบอนุญาตให้แก่บุคคลใดในการประกอบกิจการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครการที่จำเลยเรียกร้องเงินจากผู้เสียหายเป็นการตอบแทนในการดำเนินการออกใบอนุญาตดังกล่าว จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานคร ระดับ 2ตำแหน่งเจ้าหน้าที่อนามัย สังกัดงานอนามัย สำนักงานเขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีหน้าที่ควบคุมงานด้านสุขาภิบาลโรงงาน ควบคุมทางด้านวิชาการของสถานที่ประกอบการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพ เร่งรัดให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพ พ.ศ. 2519 ตรวจนำข้อเท็จจริงที่พบเห็นมารายงานต่อผู้บังคับบัญชา เร่งรัดผู้ประกอบการค้าเช่นว่านั้นให้มีใบอนุญาตตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร จำเลยได้ตรวจโรงงานสถานประกอบการค้าประเภททำผลิตภัณฑ์โลหะของห้างหุ้นส่วนจำกัดอมรศุภกิจเอ็นจิเนียริ่งมีนายสุวรรณชัยอมรศุภกิจ ผู้เสียหายเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ อันเป็นสถานที่ประกอบการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพ ซึ่งต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพจำเลยได้ตรวจสถานการค้าของผู้เสียหายแล้วได้แจ้งว่า สถานที่ประกอบการค้าของผู้เสียหายมีชั้นลอยขัดต่อระเบียบและข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครไม่สามารถออกใบอนุญาตประกอบการค้าได้ แต่ถ้าผู้เสียหายจ่ายเงินให้จำเลยจำนวน 3,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการออกใบอนุญาต จำเลยก็สามารถดำเนินการออกใบอนุญาตให้ได้เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ห้างหุ้นส่วนจำกัดอมรศุภกิจเอ็นจิเนียริ่งและกรุงเทพมหานคร ต่อมาจำเลยได้เรียกเงินจำนวน 2,000 บาท จากผู้เสียหายไปเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการออกใบอนุญาตอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เรียกและริบทรัพย์สิน ประโยชน์สำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการในตำแหน่ง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, 157 คืนของกลางแก่เจ้าของ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ลงโทษจำคุก 5 ปี คืนของกลางแก่เจ้าของ จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งคงฟังได้ตามที่ศาลล่างวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครระดับ 2 ตำแหน่งเจ้าหน้าที่อนามัย สังกัดงานอนามัย สำนักงานเขตพระโขนง ระหว่างเกิดเหตุจำเลยมีหน้าที่ตรวจโรงงานรับผิดชอบในเขตพื้นที่แขวงพระโขนง แขวงคลองตัน ผู้เสียหายเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดอมรศุภกิจเอ็นจิเนียริ่ง ซึ่งเป็นโรงงานรับจ้างกลึงโลหะต่าง ๆ อันเป็นการประกอบกิจการซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครตั้งอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของจำเลย โดยยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการดังกล่าวจากเขตพระโขนง ผู้มีอำนาจในการออกใบอนุญาตคือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่ในทางปฏิบัติผู้ว่ากรุงเทพมหานครได้มอบอำนาจให้แก่ผู้อำนวยการเขต ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตปฏิบัติราชการแทน เมื่อประมาณกลางเดือนมกราคม 2530จำเลยไปตรวจโรงงานของผู้เสียหายพบว่ามีข้อบกพร่องในการขอออกใบอนุญาตต่อมาวันที่ 26 มกราคม 2530 จำเลยรับเงินจากผู้เสียหาย 2,000 บาทเป็นค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาต 1,000 บาท ส่วนที่เกินเป็นเงินที่จำเลยเรียกร้องเอาเป็นค่าตอบแทนในการทำเรื่องเพื่อออกใบอนุญาต มีปัญหาในชั้นฎีกาว่า จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่
พิเคราะห์แล้ว จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่โดยตรงในการพิจารณาว่าจะออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ใดในการประกอบการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เป็นการฟังข้อเท็จจริงผิดไปจากสำนวน เพราะนายกระจ่าง ธัญญพืช ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตพระโขนง พยานโจทก์ หาได้เบิกความว่าจำเลยมีหน้าที่ในการเสนอต่อผู้บังคับบัญชาว่าจะออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอใบอนุญาตดังที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยแต่อย่างใดไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า คำเบิกความของนายกระจ่างที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยนั้น ปรากฏอยู่ในสำนวนศาลอุทธรณ์หาได้ฟังข้อเท็จจริงผิดไปจากสำนวนดังที่จำเลยฎีกาไม่ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตในการประกอบการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพ แม้จำเลยจะเรียกร้องเงินจากผู้เสียหายเป็นการตอบแทนในการทำเรื่องออกใบอนุญาต การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้น ได้ความจากนายกระจ่างว่า โดยหน้าที่แล้วจำเลยมีหน้าที่ในการเสนอต่อผู้บังคับบัญชาว่าจะออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอใบอนุญาตหรือไม่เพราะจำเลยเป็นผู้ไปตรวจ ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของว่าที่ร้อยตรีบุญชอบ สุคนธ์สิงห์ หัวหน้างานอนามัยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยว่า เจ้าพนักงานที่ออกตรวจพื้นที่มีอำนาจที่จะเสนอความเห็นว่าให้ออกหรือไม่ให้ออกใบอนุญาตก็ได้ จึงถือได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการพิจารณาว่าจะออกใบอนุญาตให้แก่บุคคลใดในการประกอบกิจการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร การที่จำเลยเรียกร้องเงินจากผู้เสียหายเป็นการตอบแทนในการดำเนินการออกใบอนุญาตดังกล่าว จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 3 ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.