แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามป.อ.มาตรา360ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปีเมื่อจำเลยรับสารภาพศาลก็ย่อมพิพากษาลงโทษไปได้เลยตามป.วิ.อ.มาตรา176โดยไม่จำต้องสอบถามจำเลยเรื่องการมีทนายความก่อนเพราะศาลไม่อาจพิพากษาเกินคำขอได้ตามมาตรา192วรรคแรกไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าความผิดตามป.อ.มาตรา360ย่อมหมายความรวมถึงมาตรา360ทวิด้วยหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันถมดินลงในลำกระโดงจนเต็มแล้วฝังท่อระบายน้ำคู่ขนานลงในลำกระโดง ย่อมเป็นข้อความที่เข้าใจได้ว่าลำกระโดงส่วนที่ไม่ได้วางท่อระบายน้ำถูกดินถมจนเต็มและท่อระบายน้ำเล็กกว่าลำกระโดงเป็นเหตุให้การระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้น้อยกว่าระบายน้ำทางลำกระโดง ทั้งนี้โดยไม่จำต้องบรรยายว่าเดิมลำกระโดงมีขนาดความกว้างยาวลึกเท่าใดและแสดงให้เห็นว่าลำกระโดงถูกทำให้เสียหายถูกทำลายหรือเสื่อมค่าแล้วส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องต่อไปว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันเข้าปลูกสร้างบ้านพักคนงานคร่อมลำกระโดงและปลูกสร้างรั้วสังกะสีล้อมอาคารบ้านพักแม้จะมิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเข้ายึดถือครอบครองเพื่อตนหรือเพื่อผู้อื่นและบ้านที่ปลูกสร้างรวมทั้งรั้วเป็นของจำเลยหรือไม่ก็ถือว่าเป็นการบรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองลำกระโดงอันเป็นที่ดินของรัฐเข้าลักษณะเป็นความผิดตามป.ที่ดินพ.ศ.2497มาตรา9แล้วฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกัน่เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินลำกระโดงอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360, 368, 83, 91พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526มาตรา 4 ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 9, 108 ทวิประกาศของคณะปฏิวัติฉบัยที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ข้อ 11และให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากลำกระโดงสาธารณะที่จำเลยยึดถือครอบครอง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360, 368, 83, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 9, 108 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 969 ข้อ 11 ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงดทษตรมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 320ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 10,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปีกระทงหนึ่ง และลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 อีกกระทงหนึ่งให้ปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 500 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 5,250 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี6 เดือน และปรับ 250 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน ตามมาตรา 30และให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากลำกระโดงสาธารณะที่จำเลยยึดถือครอบครองด้วย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกาโดยผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ย่อมหมายความรวมถึงมาตรา 360 ทวิ ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงถึง 10ปีด้วย ศาลชั้นต้นต้องสอบถามจำเลยที่ 2 เสียก่อน แต่ศาลชั้นต้นไม่ปฏิบัติดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 นั้น เห็นว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปีกฎหมายไมด่ได้บังคับให้ปฏิบัตตามมาตรา 173 เมื่อจำเลยที่ 2รับสารภาพศาลพิพากษาไปได้เลยตามมาตรา 176 เพราะศาลจะพิพากษาเกินคำขอไม่ได้ตามมาตรา 192 วรรคแรก ไม่จำเป็นต้องพิจารณาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ย่อมหมายความรวมถึงมาตรา360 ทวิ ด้วยหรือไม่ฯ ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาชอบแล้ว”
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาฟ้องโจทก์เคลือบคลุมนั้น เห็นว่า “โจทก์บรรยายฟ้องให้ทราบแล้วว่าที่ดินลำกระโดงตามฟ้องเป็นลำกระโดงสาธารณะ เป็นที่ดินของรัฐซึ่งใช้เป็นทางระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นที่สาธารณะสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และบรรยายฟ้องต่อไปว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันปลูกสร้างอาคารไม้บ้านพักคนงานคร่อมลงบนลำกระโดงสาธารณะดังกล่าวแล้วปลูกสร้างรั้วสังกะสีล้อมอาคารบ้านพักปิดกั้นลำกระโดงสาธารณะนั้นแล้วยังร่วมกันถมดินลงในลำกระโดงสาธารณะนั้นด้วย โดยฝังท่อระบาย้ำเป็นท่อคู่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลายท่อประมาณ 30 เซนติเมตร ขนาดไปกับลำกระโดงสาธารณะ รวมเป็นเนื้อที่ที่จำเลยทั้งสองยึดถือครอบครองมีขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 150 เมตร รวมเป็นเนื้อที่ 750 ตารางเมตรอันเป็นการบรรยายถึงข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำต่อลำกระโดงตามฟ้อง และโจทก์ได้บรรยายฟ้องต่อไปว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิครอบครองและไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งผลการกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้ลำกระโดงนั้นตื้นเขินไม่สามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ตามปกติ อันเป็นการทำให้ลำกระโดงสาธารณะเสียหายทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์อันเป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำผิด การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันถมดินลงในลำกระโดงจนเต็มแล้วฝังท่อระบายน้ำคู่ขนานลงในลำกระโดงนั้นเป็นข้อความที่เข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้งว่าลำกระโดงส่วนที่ไม่ได้วางท่อระบายน้ำถูกดินถมจนเต็ม และท่อระบายน้ำนั้นย่อมจะต้องเล็กกว่าลำกระโดงเป็นเหตุให้ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้น้อยกว่าระบายน้ำจากลำกระโดงอันเป็นการอธิบายให้เห็นว่าน้อยกว่าปกติอย่างไร โดยไม่จำเป็นต้องบรรยายว่าเดิมนั้นลำกระโดงกว้าง ยาว ลึกเท่าไร และเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเสียหาย การถูกทำลายหรือเสื่อมค่าของลำกระโดงอันเป็นทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์อย่างไร ไม่ใช่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องถึงความข้อนี้ไว้ดังฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อหาการกระทำของจำเลยดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 และการที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันเข้าปลูกสร้างบ้านพักคนงานคร่อมลำกระโดงและปลูกสร้างรั้วสังกะสีล้อมอาคารบ้านพักปิดกั้นลำกระโดงกว้าง 5 เมตร ยาว 150เมตร อันเป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่จำเลยทั้งสองเข้ายึดถือครอบครองลำกระโดงอันเป็นที่ดินรัฐ เข้าลักษณะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 9 ไม่จำต้องบรรยายว่าจำเลยที่ 2 เข้ายึดถือครอบครองเพื่อตนเองหรือเพื่อผู้อื่น และบ้านที่ปลูกสร้าวรวมทั้งรั้วเป็นของจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่าฟ้องของโจทก์ทั้งข้อหาทำให้เสียทรัพย์และความผิดต่อประมวลกฎหมายที่ดินดังกล่าวได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว เป็นพ้องที่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) ฯลฯ
พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 360 บทหนึ่ง และประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 9, 108ทวิ วรรคสอง ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29กุมภาพันธ์ 2514 ข้อ 11 อีกบทหนึ่งอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามมาตรา 90 ลงโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 10,000 บาท จำเลยที่ 2ให้การรัยสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษตามมาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงเหลือจำคุก 1 ปี ปรับ 5,000 บาท ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เมื่อคำนึงถึงอาชีพและสภาพแห่งความผิดแล้วเห็นสมควรเปิดโอกาสให้จำเลยที่ 2 กลับตัวเพื่อเป็นพลเมืองดีสักครั้งหนึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมยิ่งกว่าลงโทษจำคุกไปทีเดียวจึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี ตามมาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามมาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.