แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความหมายของข้อความที่ว่า ศิษย์ ซึ่งอยู่ในความดูแลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 285 นั้น มิได้หมายถึงเฉพาะผู้ที่มีความสัมพันธ์ในฐานะครูหรืออาจารย์ซึ่งมีหน้าที่สอนหรือเคยสอนศิษย์ เท่านั้น แต่ครูหรืออาจารย์นั้นต้องมีหน้าที่ควบคุมดูแลปกป้องรักษาตัวศิษย์ และกระทำความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติต่อศิษย์ ในระหว่างมีหน้าที่ดังกล่าวด้วย เมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่มีหน้าที่ดังกล่าวในขณะเกิดเหตุ เพราะเหตุเกิดที่บ้านพ.และอยู่นอกเวลาควบคุมดูแลของจำเลย การกระทำของจำเลยก็มิใช่กระทำต่อศิษย์ ซึ่งอยู่ในความดูแล ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า ผู้เสียหายเป็นผู้อยู่ในความควบคุมของจำเลยตามหน้าที่ราชการ เมื่อเป็นข้อที่มิได้กล่าวในฟ้องจึงเป็นเรื่องนอกฟ้อง ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นมาว่ากันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2537 วันใดไม่ปรากฏเวลากลางวัน จำเลยกระทำอนาจารนางสาวทองคำ โอดรัมย์ อายุ 15 ปีเศษผู้เสียหายผู้เป็นศิษย์ ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลย โดยใช้กำลังประทุษร้ายกอดรัดจนผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แล้วจูบตามใบหน้าและลำตัวหลายครั้งโดยผู้เสียหายไม่ยินยอม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278, 285
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278, 285 จำคุก 4 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุผู้เสียหายอายุ 15 ปีเศษ และเป็นนักเรียนอยู่ในโรงเรียนบ้านจะหลวย อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์จำเลยรับราชการเป็นครูอยู่ในโรงเรียนดังกล่าว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ผู้เสียหายเป็นศิษย์ ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าจำเลยเคยสอนผู้เสียหายขณะเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5เป็นเวลา 1 ปี จำเลยมีหน้าที่รับผิดชอบด้านกิจการและวินัยของนักเรียน และอาจารย์ใหญ่ได้มอบหมายให้จำเลยสอนทุกกลุ่มวิชาในชั้นเรียน ผู้เสียหายจึงเป็นศิษย์ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความหมายของข้อความที่ว่าศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 285 นั้น มิได้หมายถึงเฉพาะผู้ที่มีความสัมพันธ์ในฐานะครูหรืออาจารย์ซึ่งมีหน้าที่สอนหรือเคยสอนศิษย์เท่านั้นแต่ครูหรืออาจารย์นั้นต้องมีหน้าที่ควบคุมดูแลปกป้องรักษาตัวศิษย์และกระทำความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติต่อศิษย์ในระหว่างมีหน้าที่ดังกล่าวด้วยคดีนี้ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า จำเลยไม่มีหน้าที่ดังกล่าวในขณะเกิดเหตุเพราะเหตุเกิดที่บ้านนายไพศาลและนอกเวลาควบคุมดูแลของจำเลยดังนั้น แม้จำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายตามฟ้อง การกระทำของจำเลยก็มิใช่กระทำต่อศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลส่วนที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า ผู้เสียหายเป็นผู้อยู่ในความควบคุมของจำเลยตามหน้าที่ราชการ เป็นข้ออ้างที่มิได้กล่าวในฟ้องเป็นเรื่องนอกฟ้องซึ่งถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ เมื่อการกระทำของจำเลยไม่ต้องด้วยกรณีที่ต้องรับโทษหนักขึ้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 285 หากเป็นเพียงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278และมิได้กระทำต่อหน้าธารกำนัล ไม่เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสหรือถุงแก่ความตายจึงเป็นความผิดอันยอมความได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 281ซึ่งผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน คดีนี้เกิดเหตุเดือนธันวาคม 2537 ผู้เสียหายร้องทุกข์เมื่อวันที่7 เมษายน 2538 เกินเวลา 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(6) โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องโดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่
พิพากษายืน