คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 724/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้หากจะฟังว่าโจทก์เป็นตัวแทน แต่ไม่ได้รับมอบอำนาจให้ยื่นฟ้องคดี ตามปรกติจะถือว่ามีอำนาจยื่นฟ้องคดีโดยอ้างว่าเนื่องจากเหตุฉุกเฉินนั้น หาได้ไม่ เพราะไม่ปรากฏวาถ้าไม่ฟ้องคดีตามวันที่ยื่นฟ้องนั้น จะเป็นการเสียหายแก่ตัวการอย่างใด เช่นคดีจะขาดอายุความเป็นต้น และทั้งจะถือว่า การยื่นฟ้องเช่นว่านั้น เป็นการปฏิบัติการอย่างเช่นวิญญูชนจะพึงกระทำก็ไม่ได้ เพราะปรากฏชัดอยู่แล้วตามใบมอบอำนาจว่า โจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนไม่มีอำนาจยื่นฟ้องคดี
ป.พ.พ. มาตรา 802 เป็นบทบัญญัติให้ข้อสันนิษฐานไว้ว่า ตัวแทนมีอำนาจกระทำการแทนตัวการได้ในเหตุฉุกเฉิน ข้อสำคัญก็ต้องเป็นตัวแทนเสียก่อนแล้วกระทำการซึ่งเป็นการจำเป็นต่อไปและต้องเป็นตัวแทนในประเทศไทยด้วย ถ้าเป็นตัวแทนของโจทก์แต่เฉพาะในอาณานิคมฮ่องกง มิได้เป็นตัวแทนของโจทก์ในประเทศไทยด้วยแล้ว ก็ไม่มีกรณีที่จะอ้าง มาตรา 802 นี้ได้เลย
ในขณะยื่นฟ้อง ผู้รับมอบอำนาจไม่มีอำนาจดำเนินคดีในศาลไทย การที่ศาลรับฟ้องไว้จึงเป็นการขัดต่อวิธีพิจารณา ไม่มีทางใดที่ศาลจะรับฟ้องไว้พิจารณามาแต่ต้น แม้จะได้มีการรับรองหรือให้สัตยาบันในภายหลังต่อมาก็ดี ก็หาทำให้ฟ้องที่เสียใช้ไม่ได้มาก่อนแล้วนั้น กลับคืนดีเป็นฟ้องอันชอบด้วยวิธีพิจารณาขึ้นมาในภายหลังได้ไม่
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 4/2502)

ย่อยาว

คดี ๒ สำนวนนี้ พิจารณาพิพากษารวมกัน
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยทำผิดสัญญา ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอเปลี่ยนชื่อจำเลย ศาลสั่งอนุญาต
จำเลยให้การแก้ฟ้องว่า
(๑) นายซูเยนเชน ผู้รับมอบอำนาจ จากโจทก์ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้อง ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ และไม่มีอำนาจแต่งตั้งให้นาย เอ.เอช.ดุ๊ก เป็นทนายฟ้องคดี
(๒) คำร้องของโจทก์ถือเป็นการฟ้องเดิมไม่ได้ เพราะเป็นการเปลี่ยนตัวจำเลย
นอกจากนั้น ยังให้การแก้คดีในข้ออื่น ๆ อีกมากมาย
หลังจากจำเลยทั้งสองยื่นคำให้การแล้วประมาณ ๓ เดือน โจทก์ทั้งสองคดีจึงยื่นคำแถลงว่า โจทก์ได้รับเอกสารเพิ่มเติมบางอย่างเกี่ยวกับคดี และขอส่งเอกสารประกอบ กล่าว โดยเฉพาะคือสำเนาหนังสือมอบอำนาจและสัตยาบันของนายชูเยนเชน (ผู้จัดการธนาคารแห่งประเทศจีนที่ฮ่องกง) และสำเนาหนังสือมอบอำนาจของนายซูเยนเชนมอบอำนาจเพิ่มเติมให้นาย เอ.เอช.ดุ๊ก ดำเนินกิจการเกี่ยวกับคดีทั้งสองนี้ในศาลแห่งประเทศไทย
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยเบื้องค้นว่า หนังสือมอบฉันทะที่โจทก์ให้ไว้แก่นายซูเยนเซนนั้น นายซูเยนเซนมีอำนาจที่จะฟ้องคดีนี้หรือแต่งตั้งทนายคนใดให้ฟ้องคดีในประเทศไทย แทนโจทก์ได้หรือไม่ ศาลสั่งว่าจะชี้ขาดเมื่อทำคำพิพากษา
ศาลแพ่งเห็นว่า แม้ในชั้นแรกที่โจทก์ยื่นฟ้อง อำนาจฟ้องของตัวแทนยังมิได้รับมอบจากตัวการโดยสมบูรณ์ แต่ต่อมาโจทก์ก็ได้จัดการแก้ไขให้อำนาจ แก่ตัวแทนเรียบร้อยแล้ว และยังได้ให้สัตยาบันรับรองการกระทำของตัวแทนในการกระทำที่แล้วมาด้วยและวินิจฉัยต่อไปว่า เป็นความผิดของบริษัทจำเลย ที่จ่ายสินค้าให้แก่บุคคลที่ไม่มีสิทธิจะรับมอบสินค้า และไม่มีการแสดงตั๋วบรรทุกสินค้าหรือใบตราส่ง จำเลยจะปฏิเสธไม่รับผิดชอบไม่ได้ พิพากษาให้บริษัทบอเนียว จำกัด จำเลยใช้เงิน ๔,๖๐๐ ปอนด์ กับดอกเบี้ยให้โจทก์ และให้บริษัทหวั่งหลี จำกัด จำเลย ใช้เงิน ๙๘,๔๐๐ เหรียญฮ่องกง กับดอกเบี้ยให้โจทก์ ถ้าจำเลยทั้งสองคดีจะชำระเป็นเงินไทย ก็ให้คิดในอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ ในกรุงเทพฯ ทำการขายเงินปอนด์และเงินเหรียญฮ่องกงในวันที่มีค่าพิพากษานี้ ถ้าไม่มีอัตราขายในวันนี้ก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราการขายก่อนวันพิพากษา
โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยใช้เงินเต็มตามจำนวนที่ฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า ให้บริษัทบอเนียว จำกัด ชำระเงิน ๑๔๘,๑๑๐.๔๖ เหรียญดอลล่าฮ่องกง ให้บริษัทหวั่งหลี จำกัด ชำระเงิน ๑๕๗,๖๔๘.๐๑ เหรียญดอลล่าฮ่องกงให้แก่โจทก์แต่ละรายพร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้หาจะฟังว่าโจทก์เป็นตัวแทนที่ไม่ได้รับมอบอำนาจให้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลและได้ฟ้องคดีทั้งสองนี้ จะถือว่าเนื่องจากเหตุฉุกเฉินยังไม่ได้เพราะไม่ปรากฏว่า ถ้าไม่ฟ้องคดีทั้งสองตามวันเวลาที่โจทก์ฟ้องนั้น จะเป็นการเสียหายแก่ธนาคารแห่งประเทศจีน (ตัวการ) อย่างใด เช่นว่า คดีจะขาดอายุความหรืออย่างใดก็ไม่ปรากฏ จึงถือว่าเป็นกรณีฉุกเฉินยังไม่ได้ ทั้งจะถือว่า เป็นการปฏิบัติการทั้ง ๆ ที่ปรากฏอย่างชัด ๆ แล้วว่ ตามใบมอบอำนาจนั้น ตนไม่มีอำนาจที่จะดำเนินคดีทางศาลในประเทศไทยได้ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา ๘๐๑ (๕) ก็ว่า การยื่นฟ้องต่อศาล (ซึ่งหมายความว่า ศาลในประเทศไทย) นั้น ต้องได้รับมอบอำนาจให้ฟ้องได้ด้วย จะดำเนินคดีโดยมิได้มอบอำนาจอำนาจให้ฟ้องหาได้ไม่ ศาลฎีกาจึงเห็นว่า นายซูเยนเซนจะอาศัยเหตุดังกล่าวฟ้องคดีไม่ได้ อย่างไรก็ดี ศาลฎีกาเห็นว่า จะยกเอา ป.พ.พ. มาตรา ๘๐๒ มาใช้แก่กรณีนี้ไม่ได้เลย เพราะมาตรา ๘๐๒ เป็นบทบัญญัติให้ข้อสันนิษฐานไว้ว่า ตัวแทนมีอำนาจกระทำการแทนตัวการได้ในเหตุฉุกเฉิน ข้อสำคัญก็ต้องเป็นตัวแทนเสียก่อน แล้วกระทำการซึ่งเป็นการจำเป็นต่อไป แต่ในกรณีของคดีนี้ นายซูเยนเซนเป็นตัวแทนของโจทก์แต่เฉพาะในอาณานิคมฮ่องกง หาใช่เป็นตัวแทนของโจทก์ในประเทศไทยไม่ เมื่อนายซูเยนเซน ไม่ใช่ตัวแทนของโจทก์ในประเทศไทยแล้ว ก็ไม่มีกรณีที่นายซูเยนเซนจะอ้าง มาตรา ๘๐๒ ได้ เพราะคนมิใช่ตัวแทนของโจทก์เสียแล้ว
ส่วนการที่โจทก์ดำเนินการจัดการเพิ่มเติมขยายใบมอบอำนาจขึ้นภายหลังเนื่องจากโจทก์ได้ทราบข้อตัดฟ้องของจำเลยแล้วนั้น ศาลฎีกาได้พิจารณาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ฟ้องของโจทก์ไม่เป็นฟ้องอันชอบด้วยวิธีพิจารณามาแต่แรก ฟ้องทั้งฉบับเดิมและฉบับหลัง เพราะความปรากฏอย่างกระจ่างแจ้งแล้วว่า ในขณะยื่นฟ้องนายซูเยนเซนผู้รับมอบอำนาจหามีอำนาจดำเนินคดีในศาลในเทศไทยแต่อย่างหนึ่งอย่างใดไม่ การที่ศาลรับประทับฟ้องไว้ ถึงเป็นการขัดต่อวิธีพิจารณาตรง ๆ ไม่มีทางใดที่ศาลจะรับฟ้องไว้พิจารณามาแต่ต้น แม้จะได้มีการรับรองหรือให้สัตยาบันในภายหลังต่อมาก็ดี ก็หากระทำให้ฟ้องที่เสียใช้ไม่ได้มาก่อนแล้วนั้น กลับคืนดีเป็นฟ้องอันชอบด้วยวิธีพิจารณาขึ้นมาในภายหลังได้ไม่ คดีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นข้ออื่น ๆ อีกต่อไป
ศาลฎีกาจึงพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองคดี

Share